บล.บัวหลวง:

Agro & Food – เฝ้าจับตาเอลนีโญ่ที่จะแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2566 (NEUTRAL)

เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญ่าในไตรมาส 1/66 ที่จะเปลี่ยนไปสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่จะแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เราจึงมองว่าหุ้นกลุ่มน้ำตาลถือว่าเป็นหนึ่งในการลงทุนสำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์ในปี 2566 ในขณะที่เอลนีโญ่ที่จะกลับมาแรงขึ้นในครึ่งหลังปี 2566 จะส่งผลลบต่อราคาถั่วเหลืองโลก เรายังคงคําแนะนํา “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น KSL และยังคงแนะนำ “ถือ” หุ้น TVO

การเปลี่ยนไปสู่ภาวะอากาศที่เป็นกลางในไตรมาส 2/66 และเอลนีโญ่ในช่วงครึ่งหลังปี 2566

อ้างอิงจากรายงานการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่/ลานีญ่า (ENSO) เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์พยากรณ์อากาศของประเทศสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ว่า โอกาสของการปรากฏการณ์ลานีญ่าได้ผ่านจุดสูงสุดที่ 95% ในไตรมาส 4/65 ไปแล้ว ก่อนที่จะลดลงเหลือ 60% ในไตรมาส 1/66 และลดลงเหลือเพียงแค่ 10% ในช่วงไตรมาส 2-3/66 ในทางตรงกันข้าม โอกาสของการเกิดปรากฏการณ์ภาวะอากาศที่เป็นกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก 5% ในไตรมาส 4/65 ไปเป็น 40% ในไตรมาส 1/66 และแตะระดับสูงสุดที่ 74% ในไตรมาส 2/66 ก่อนที่จะปรับลดลงเหลือ 44% ในไตรมาส 3/66 และโอกาสของการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 0% ในช่วงไตรมาส 4/65-1/66 ไปเป็น 16% ในไตรมาส 2/66 และ 46% ในไตรมาส 3/66 และ ในช่วงเดือนส.ค.-ต.ค. 2566 สภาพอากาศโดยรวมจะถูกครอบงำ โดยโอกาสของการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่ 51% ตามด้วยปรากฏการณ์ภาวะอากาศที่เป็นกลาง (โอกาสของการเกิด 38%) และปรากฏการณ์ลานีญ่า (โอกาสของการเกิด 11%) หรืออีกนัยหนึ่ง ปรากฏการณ์เอลนีโญ่จะเริ่มกลับมาแรงมากขึ้น ตั้งแต่เดือนก.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยจะเข้ามาแทนที่ปรากฏการณ์ลานีญ่า และปรากฏการณ์ภาวะอากาศที่เป็นกลางในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

โอกาสของการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2566

เราเชื่อว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสําคัญ จากสภาพอากาศของปรากฏการณ์ลานีญ่าที่ติดต่อกัน 3 ปี (เริ่มตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2563 ไปจนถึงไตรมาส 1/66) ไปสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ (ซึ่งจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เป็นต้นไป) โดยทั่วไปแล้ว สภาพอากาศโดยรวมมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงจากช่วง 3 ปีก่อนหน้าที่มีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย ไปสู่สภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้นและแห้งมากขึ้น ซึ่งเพิ่มโอกาสของการเกิดคลื่นความร้อน และภาวะภัยแล้งแห้งที่มากขึ้น ถึงแม้ว่าโอกาสการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ จะอยู่เพียงแค่ 46-51% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 แต่เราจะทําการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด และคาดว่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า โดยรวมแล้ว เราคาดว่าพื้นที่ในแถบทวีปอเมริกาใต้และทวีปอเมริกาเหนือ (ยกเว้นทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐฯ) จะมีฝนตกมากขึ้น ในขณะที่ประเทศอินเดีย เอเชียใต้ และประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก (ตั้งแต่เปรูไปจนถึงอินโดนีเซียและออสเตรเลีย) จะมีอากาศแห้งมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์บางราย คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในครั้งนี้ นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องภาวะโลกร้อน ณ ปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล จะผลักดันให้อุณหภูมิโลกโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเกินสถิติเดิมในอีก 2-3 ปี ข้างหน้า และอาจส่งผลให้อุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นใกล้เคียงหรือสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสถ้าเทียบกับอุณหภูมิในยุคก่อนอุตสาหกรรม

ปรากฏการณ์เอลนีโญ่-ส่งผลบวกต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ยกเว้นถั่วเหลือง

ปรากฏการณ์เอลนีโญ่จะส่งผลให้เกิดสภาพอากาศที่แห้งมากขึ้น คลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้น ปริมาณนํ้าฝนที่ต่ำกว่าภาวะปกติ และสินค้าเกษตรที่ขาดแคลนในประเทศอินเดีย เอเชียใต้ และประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก (รวมถึงประเทศไทยด้วย) อุปทานสินค้าเกษตรที่ปลูกในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ อ้อย ข้าว ยางพารา น้ำมันปาล์ม และมันสำปะหลัง มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบ และเนื่องจากการปลูกอ้อยมีทั้งในประเทศอินเดียและไทย นอกเหนือจากประเทศบราซิล ปรากฏการณ์ซุปเปอร์เอลนีโญ่ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2558 ถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2559 (โดยดัชนี ONI ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 2.6) ได้กระตุ้นให้ราคาน้ำตาลโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 129% ภายในระยะเวลาหนึ่งปี (จาก 10.39 เซนต์/ปอนด์ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2558 ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 23.81 เซนต์/ปอนด์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2559) ในทางตรงกันข้าม ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ จะเป็นปัจจัยลบต่อราคาถั่วเหลืองโลก เนื่องจากการคาดการณ์ฝนที่จะตกมากขึ้นในแถบมิดเวสต์ของสหรัฐฯ บราซิล และอาร์เจนติน่า ซึ่งจะหนุนให้ผลผลิตถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ต่อเนื่องไปยังช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ดังนั้นเราจึงชอบน้ำตาลมากกว่าถั่วเหลืองถ้าปรากฏการณ์เอลนีโญ่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และต่อเนื่องไปยังปี 2567

- Advertisement -