บล.ทรีนีตี้:

IPO: บริษัท พีอาร์ทีอาร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (PRTR)

ชื้อ: ราคาเป้าหมายปี 2566 11.80 บาท, ปริมาณหุ้น (พาร์ 0.50 บาท) 600 ล้านหุ้น

PRTR: พลังที่พร้อมขับเคลื่อนทุกธุรกิจ

  • PRTR ประกอบธุรกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคลครบวงจร (Total HR Solutions) คือบริหารจัดจ้างพนักงาน, บริการสรรหาบุคลากร, บริการแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ และฝึกอบรมแบบออนไลน์ และออฟไลน์
  • ผลกำไร 2566-2567 เติบโตด้วย CAGR กว่าร้อยละ 21 ด้วยความต้องการในตลาดแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ประเทศจีนมีการเปิดประเทศ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการ มีความต้องการพนักงานเพิ่มขึ้น
  • JMART Strategic Partner ที่สำคัญ เนื่องด้วย JMART มีธุรกิจในกลุ่มที่หลากหลาย และต้องการพนักงานจํานวนมาก
  • ประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 2566 ที่ 11.80 บาท ด้วยวิธี PER ที่ 30 เท่า

ข้อมูลสรุปการเสนอขายหุ้น IPO

บริษัทจะมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ โดยหุ้นสามัญที่เสนอขายในครั้งนี้มีจำนวน 150 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

บริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อ 1) เพื่อสำหรับจ่ายคืนหนี้สินเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับที่ปรึกษาทางการเงิน และ/หรือ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย 2) เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และ 3) ลงทุนในโครงการในอนาคต ซึ่ง PRTR จะเปิดเผยใน Filing ต่อไป

ความน่าสนใจในการลงทุน PRTR

1. ผลกำไร 2566-2567 เติบโตด้วย CAGR กว่าร้อยละ 21

2. ธุรกิจสามารถรักษาระดับของกำไรขั้นต้นได้ในระดับร้อยละ 9-10 ในช่วงที่เกิด COVID-19

3. การเติบโตของธุรกิจจัดจ้างพนักงาน และบริการสรรหาบุคลากร สอดคล้องกับการเติบโตในประเทศไทย ที่เน้นภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการที่มีความต้องการคนจำนวนมาก

4. JMART Strategic Partner ที่สำคัญที่จะเข้ามาถือหุ้นร้อยละ 15 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว จะช่วยสร้างการเติบโตที่สำคัญให้กับบริษัท เนื่องด้วย JMART มีธุรกิจในกลุ่มที่หลากหลายและต้องพนักงานจำนวนมาก เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจร้านขาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ และธุรกิจบริหารหนี้ เป็นต้น

ผลกำไร 2566-2567 เติบโตด้วย CAGR กว่าร้อยละ 21

ประเมินแนวโน้มผลประกอบการในปี 2566-2567 กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 236 ล้านบาท และ 278 ล้านบาท ตามลำดับ และคิดเป็นอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิร้อยละ 24.9 และ 17.4 ตามลำดับ ซึ่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2566 มาจากรายได้ Recruitment ที่เติบโตร้อยละ 30 ด้วยความต้องการในตลาดแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ประเทศจีนมีการเปิดประเทศ ส่งผลให้อุสาหกรรมบริการและส่งออกมีความต้องการพนักงานเพิ่มขึ้น และในปี 2567 ประเมินว่ารายได้ Recruitment ที่เติบโตร้อยละ 20 ในขณะที่รายได้ด้าน Outsource คาดว่าจะเติบโตได้คงที่ในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ในปี 2566-2567

การประเมินมูลค่าหุ้น

เราใช้วิธีประเมินมูลค่าหุ้น บริษัท พีอาร์ทีอาร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ราคาเหมาะสมปี 2566 ที่ 11.80 บาท ด้วยวิธี PER ที่ 30 เท่า ซึ่งเทียบเคียงกับหุ้นในตลาดที่ประกอบกิจการใกล้เคียงกับ บริษัท คือ บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) (“SO”) ให้บริการจ้างเหมาบริการ (Outsourcing Services) เช่น พนักงานขับรถยนต์ พนักงานธุรการ พนักงานรับโทรศัพท์ ช่างไฟฟ้า ช่างซ่อมบำรุง และ บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) (“HUMAN”) ประกอบธุรกิจเป็น ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่ายและให้บริการติดตั้งซอฟต์แวร์ระบบบริหารงานทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรองค์กร รวมทั้งให้บริการจัดทำเงินเดือน โดย SO ปัจจุบันซื้อขาย PER ที่ระดับ 29 เท่า และ HUMAN มีค่าเฉลี่ย 5-year Avg For wad PER ที่ 29 เท่า

นอกจากนี้ ถ้าไปเทียบ PER ที่ 30 เท่า กับ PER ของ S&P Global 1200 Human Resource and Employment Services Index จาก Bloomberg จะอยู่ที่ระดับ 7-year Avg + 1SD ซึ่งเราให้ที่ระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย ด้วยประเทศไทยนั้นเป็นตลาดที่เน้นอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งจะต้องพึ่งพาพนักงานจำนวนมาก ในขณะที่สหรัฐฯ จะเป็นตลาดเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่

ลักษณะการประกอบธุรกิจ

บริษัท พีอาร์ทีอาร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (“บริษัท” หรือ “PRTR) บริการด้านทรัพยากรบุคคลครบวงจร (Total HR Solutions) เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน โดยแบ่งลักษณะการให้บริการได้เป็นดังนี้

1. ธุรกิจบริหารจัดจางพนักงาน (Outsourcing Services)

2. ธุรกิจบริการสรรหาบุคลากร (Recruitment Services)

3. ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ (Job Platform)

4. ธุรกิจให้บริการฝึกอบรมแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มและออฟไลน์ (Integrated Learning Services)

1.ธุรกิจบริหารจัดจ้างพนักงาน (Outsourcing Services) การให้บริการบริหารจัดจ้างพนักงานที่มีคุณสมบัติและจำนวนสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า รวมถึงให้บริการงานด้านการบริหารบุคลากร (HR Outsourcing) เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ประเภทบริษัทหรือองค์กรที่มีความต้องการพนักงานจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น หรือมีความต้องการจ้างพนักงานระยะสั้น หรือไม่มีความพร้อมด้านการบริหารบุคลากร โดยกลุ่มพนักงานสำคัญที่บริษัทฯ ให้บริการบริหารจัดจ้าง ได้แก่ พนักงานขายในห้างสรรพสินค้า (Product Consultant) พนักงานบริการลูกค้า (Customer Service) วิศวกร/ช่างเทคนิค (Engineer/Technician) พนักงานประจำสำนักงาน (Office Staff) และพนักงานดูแลสายการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยบริษัทฯ จะทำสัญญาว่าจ้างพนักงานให้มี ระยะเวลาเท่ากับสัญญาให้บริการแก่ลูกค้า (Back-to-back) เมื่อถึงวันและเวลาที่ตกลงตามสัญญา พนักงานจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในขอบเขตงานและภายในสถานที่ของลูกค้า

Source: Company

2. ธุรกิจบริการสรรหาบุคลากร (Recruitment Services) ให้บริการสรรหาบุคลากรตั้งแต่ระดับทั่วไป (Staff Level) ระดับกลาง (Middle Level) จนถึงระดับผู้บริหาร (Executive Level) ที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า โดยบริษัทมีเจ้าหน้าที่สรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลลูกค้าในหลากหลาย อุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology หรือ IT), ธุรกิจขนส่ง (Logistics), ธุรกิจยา (Pharmaceutical), ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Property), ธุรกิจสินค้า อุปโภคบริโภค (Fast-moving consumer goods หรือ FMCG) เป็นต้น

3. ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ (Job Platform) การให้บริการแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ดำเนินงานภายใต้ บริษัท จัดหางาน เน็กซ์มูฟ แพลตฟอร์ม จำกัด โดยจะเริ่มดำเนินธุรกิจจัดหางานในไตรมาส 4 ปี 2565 NEXMOVE ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ช่วยให้ผู้ที่สนใจสมัครงาน และบริษัทที่ต้องการหาพนักงานมาเจอกัน NEXMOVE ถูกออกแบบให้บริษัท/องค์กรสามารถจัดการกระบวนการสรรหาพนักงานด้วยตัวเอง โดยบริษัท/องค์กรสามารถสร้างประกาศงาน (Job Posting) ค้นหาและคัดกรองผู้สมัครงาน (Talent Search) จัดการข้อมูลผู้สมัคร ตลอดจนสรุปและรายงานผลข้อมูลผู้สมัคร (Report & Dashboard) นอกจากนี้ยังสามารถบริหารความสัมพันธ์กับผู้สมัครงานตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มสมัครตลอดจนการเริ่มงาน (Candidate Management)

4. ธุรกิจให้บริการฝึกอบรมแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มและออฟไลน์ (Integrated Learning Services) การให้บริการฝึกอบรม ดำเนินการภายใต้ บริษัท เดอะแบล็คสมิธ จำกัด BLACKSMITH ให้บริการในด้านการอบรม ทั้งในรูปแบบคอร์สอบรมออฟไลน์ (Offline) และออนไลน์ (Online) สำหรับธุรกิจนี้ในปัจจุบันให้บริการคอร์สเรียนออฟไลน์เป็นหลัก

ปัจจุบัน BLACKSMITH มีคอร์สอบรมออฟไลน์มากกว่า 30 หลักสูตร และคอร์สอบรมออนไลน์ (Online) มีมากกว่า 200 หลักสูตร ซึ่งมีทั้งคอร์สที่อบรมทักษะเฉพาะทางที่เป็นสำหรับวิชาชีพ (Hard Skills) และคอร์สที่อบรมทักษะทางสังคมที่ใช้เพื่อปฏิสัมพันธ์กับบุคคลในองค์กรและคนทั่วไป (Soft Skills) โดยปัจจุบันมีการให้บริการคอร์สอบรมออฟไลน์แก่ลูกค้าองค์กรเป็นส่วนใหญ่ การเรียนจะไม่ใช่ในรูปแบบอบรม (Training) ทั่วไป แต่จะเป็นในเชิงบูรณาการ (Integrated Learning Services) ทั้งนี้ การซื้อคอร์สอบรมออฟไลน์จะคิดค่าเรียนเป็นครั้ง สำหรับคอร์สอบรมออนไลน์ (Online) มีมากกว่า 200 คอร์สเรียน โดยเน้นให้บริการกลุ่มลูกค้า ทั้งรายบุคคลและองค์กร และเช่นเดียวกับคอร์สอบรมออฟไลน์ โดยคอร์สอบรมออนไลน์ 2 รูปแบบ ได้แก่

  • Single Purchasing ผู้อบรมชำระค่าคอร์สที่ตนเองสนใจ โดยสามารถกลับมาเรียนคอร์สที่ซื้อภายในระยะเวลาที่กำหนด
  • Subscription Purchasing ผู้อบรมชำระค่าอบรม โดยสามารถเรียนแบบไม่จำกัดจำนวนคอร์สภายในระยะเวลาที่กำหนด

ภาวะอุตสาหกรรมและการแข่งขัน

ภาพรวมตลาดแรงงานในประเทศไทย

สถานการณ์แรงงานปี 2565 ปรับตัวดีขึ้น มีจำนวนการจ้างงานทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน เติบโตจากปี 2564 ที่ 3% ทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม โดยอุตสาหกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการจ้างงาน ได้แก่ ภาคการขนส่งและเก็บสินค้าภาคค้าส่งและค้าปลีก และภาคการผลิต ตามลำดับ ในขณะที่อุตสาหกรรมก่อสร้างร้านอาหาร และโรงแรม ยังคงหดตัวเล็กน้อยตามภาวะอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ (ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) การว่างงานมีการปรับตัวลดลงในปี 2565 เป็น 6.1 แสนคน จาก 7.6 แสนคน ในปี 2564 ทั้งนี้การขยายตัวของภาคแรงงานปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของแต่ละอุตสาหกรรม สำหรับต้นปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวล รวมของประเทศ (GDP: Gross Domestic Product) มีอัตราการขยายตัวที่ 2.2 % ในขณะที่ปี 2564 หดตัวลง 2.4% (ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคบริการมากขึ้น และการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี  ส่งผลให้ตลาดมีความต้องการบุคลากรที่เปลี่ยนแปลงไป จากข้อมูลของ Job DB ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 พบว่ากลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด 5 อันดับแรก ของตลาดงาน ได้แก่ สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 15.3% สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) คิดเป็น 14.8% สายงานวิศวกรรมคิดเป็น 10.0% สายงานการตลาด หรือประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 8.6% และสายงานบัญชีคิดเป็น 6.7%

การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคบริการมากขึ้นและการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี  ส่งผลให้ตลาดมีความต้องการบุคลากรที่เปลี่ยนแปลงไป จากข้อมูลของ Job DB ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 พบว่ากลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด 5 อันดับแรก ของตลาดงาน ได้แก่ สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 15.3% สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) คิดเป็น 14.8% สายงานวิศวกรรมคิดเป็น 10.0% สายงานการตลาด หรือประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 8.6% และสายงานบัญชีคิดเป็น 6.7%

ภาวะการแข่งขัน

ธุรกิจบริหารจัดจ้างพนักงาน (Outsourcing Services) มีผู้ประกอบการจำนวนมากทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ และจับกลุ่มลูกค้าหลากหลายธุรกิจและลักษณะงานต่างกันไป เช่น การบริหารจัดจ้างกลุ่มพนักงานขับรถยนต์ พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด หรือกลุ่มพนักงานที่บริษัทฯ มุ่งเน้นบริหารจัดจ้าง เช่น พนักงานขายประจำห้างสรรพสินค้า วิศวกรสนาม พนักงานสำนักงาน และพนักงานสายงานการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น ถึงแม้ว่าธุรกิจ Outsourcing Services จะมีผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่ถ้าหากพิจารณาจากขนาดของรายได้ (ที่มา: บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL) บริษัทฯ ถือได้ว่าเป็น 1 ใน 3 บริษัทกลุ่มผู้นำตลาดด้าน Outsourcing Services ในประเทศไทย ที่หลัก ๆ ประกอบด้วยเครือบริษัทต่างชาติ ได้แก่ Adecco และ Manpower นอกจากนี้บริษัทฯ มีคู่แข่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) และบริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และคู่แข่งที่เป็นเครือบริษัท ต่างชาติอื่น เช่น กลุ่ม ISS SUPPORT

สำหรับธุรกิจสรรหาบุคลากร (Recruitment Services) ผู้ที่ประกอบกิจการในประเทศไทย จะต้องได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจจากกรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่กํากับดูแลธุรกิจดังกล่าวโดยตรง ณ วันที่ 22 มิ.ย. 2565 มีบริษัทหรือสำนักงานที่ได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 304 บริษัท (ที่มา: กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน) ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นคู่แข่งทางตรงของบริษัทฯ ทั้งนี้ หากพิจารณาในด้านขนาดรายได้ (ที่มา: บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL) บริษัทฯ ถือว่าเป็น 1 ใน 4 บริษัทผู้นำตลาดด้าน Recruitment Services ในประเทศไทย ที่ประกอบด้วย Robert Walter, Michael Page และ JAC และมีคู่แข่งที่สำคัญอื่น เช่น กลุ่ม RGF และ Argyll Scott เป็นต้น

ข้อมูลสรุปการเสนอขายหุ้น IPO และโครงสร้างผู้ถือหุ้น

บริษัทจะมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ โดยหุ้นสามัญที่เสนอขายในครั้งนี้มีจำนวน 150 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

บริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อ 1) เพื่อสำหรับจ่ายคืนหนี้สินเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับที่ปรึกษาทางการเงิน และ/หรือผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย 2) เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และ 3) ลงทุนในโครงการในอนาคต ซึ่ง PRTR จะเปิดเผยใน Filing ต่อไป

วิเคราะห์ผลการดำเนินงาน

ภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2563 – 9M2565

ในปี 2563 PRTR มีรายได้จากการให้บริการรวม 4,866 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้น 340.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 การเพิ่มขึ้นมาจากรายได้จากการให้บริการของธุรกิจ Outsource เนื่องจากรายได้ธุรกิจ Recruitment ลดลงอันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ทั้งนี้สาเหตุที่รายได้ธุรกิจ Outsource ยังคงเติบโต เพราะการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ใช้พนักงาน Customer Service ให้บริการทางโทรศัพท์ หรือ Online เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความต้องการพนักงาน IT เพื่อสนับสนุนการปรับระบบการทำงานให้เอื้อต่อการทำงานนอกสถานที่เพิ่มสูงขึ้น (Work From Home Work From Anywhere)

ในปี 2564 PRTR มีรายได้จากการให้บริการรวม 5,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 690.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 เนื่องจากการเติบโตของรายได้จากการให้บริการของธุรกิจ Outsource และ Recruitment โดยลูกค้ากลุ่ม Recruitment เริ่มปรับตัวได้และกลับมาสรรหาพนักงาน

ในงวด 9M2565 PRTR มีรายได้จากการให้บริการรวม 4,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 471.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 เนื่องจากการเติบโตของรายได้จากการให้บริการของธุรกิจ Outsource และ Recruitment โดยลูกค้ากลุ่ม Recruitment เริ่มปรับตัวได้และกลับมาสรรหาพนักงาน

กำไรสุทธิสำหรับปี 2562-2564 และงวด 9M2565 เท่ากับ 122.0 ล้านบาท 120.7 ล้านบาท 183.2 ล้านบาท และ 147.1 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 2.7 2.5, ร้อยละ 3.3 และร้อยละ 3.3 ตามลำดับ การลดลงของอัตรากำไรสุทธิปี 2563 โดยหลักมาจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงในช่วงสถานการณ์ COVID-19 การเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรสุทธิปี 2564 โดยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้น และการลดลงของดอกเบี้ยจ่าย สำหรับอัตรากำไรสุทธิของงวด 9M2565 เพิ่มขึ้นจากงวด 9M2565 จากการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้นเป็นหลัก

*** บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PRTR ในครั้งนี้ โดยการจัดทำเอกสารฉบับนี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำเสนอข้อมูลและบทความการวิเคราะห์เท่านั้น การตัดสินใจลงทุนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนักลงทุน ***

 

- Advertisement -