บล.เอเซีย พลัส:

DCC แนะนํา ซื้อ

ราคาปัจจุบัน (บาท) 2.72, ราคาเป้าหมาย (บาท) 3.00, Upside (%) 10.12, Dividend yield (%) 4.28

ลดปันผล สร้างโอกาสการเติบโตในอนาคต

งวด 4Q65 กำไรสุทธิ 342 ล้านบาท ลดลง 12%YoY กดดันหลักจากปริมาณการขายที่ลดลงตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ DCC ต้องเพิ่มโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย บวกกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตรากำไรลดลง ไตรมาสนี้ DCC จ่ายปันผล 0.011 บาท/หุ้น คิดเป็น Payout Ratio 29% รวมทั้งปีจ่ายปันผล 0.126 บาท/หุ้น หรือ Payout Ratio 70.5% พร้อมประกาศเปลี่ยนนโยบายเงินปันผลใหม่ จากเดิมจ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 เป็น จ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไร

แม้การลด Payout Ratio จะกระทบนักลงทุนบางกลุ่มที่คาดหวัง Yield เป็นหลัก  แต่มีความจำเป็นต้องทำเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในระยะยาว กลยุทธ์ปีนี้ คือ การเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มี margin สูงขึ้น พร้อมปรับภาพลักษณ์สาขาให้ทันสมัย และรุกตลาดกลาง-ล่างมากขึ้นเพื่อดึงส่วนแบ่งการตลาดคืนกลับมา ด้านต้นทุนจะเร่ง เดินหน้าติดตั้ง Solar Roof เพิ่มเป็น 5 MW และเพิ่ม Fleet รถขนส่งของตัวเอง ประเมิน Fair Value ด้วยวิธี DDM ให้ราคาเหมาะสม 3.00 บาท แนะนำ ซื้อ

งวด 4Q65 กำไรสุทธิ 342.4 ล้านบาท ลดลง 12%YOY

งวด 4Q65 รายงานกำไรสุทธิ 342.4 ล้านบาท (+6%QoQ, -12%YoY) กำไรเติบโต QoQ ตามปัจจัยด้านฤดูกาล แต่กำไรลดลงจากปีก่อนเกิดจากยอดขายที่ลดลงตามปริมาณการขายกระเบื้องที่หดตัวลง 11%YoY เหลือเพียง 11.4 ล้าน ตรม. ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ DCC ต้องเพิ่มโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย  ขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งค่าก๊าซธรรมชาติและค่าไฟฟ้า ซึ่งการปรับเพิ่มราคาสินค้าตามต้นทุนยังทำได้ ค่อนข้างลำบาก ในสภาวะที่กำลังซื้อของตลาดอ่อนแอ ส่งผลให้ DCC มีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงเหลือเพียง 39.84% เทียบกับงวด 4Q64 ที่ทำได้ 42.96% ในส่วนของรายได้พื้นที่เช่าปรับตัวลดลง 33%YoY เหลือเพียง 9.7 ล้านบาท เนื่องจากมีลูกค้ารายใหญ่ยกเลิกสัญญาเช่า และ DCC ยังไม่สามารถหาลูกค้ารายใหม่มาทดแทนได้ โดยรวมปี 2565 DCC มีกำไรสุทธิ 1,631 ล้านบาท ลดลง 4%YoY และประกาศจ่ายเงินปันผลงวด 4Q65 อัตราหุ้นละ 0.011 บาท/หุ้น ( ขึ้น XD 4 เม.ย. 66) คิดเป็น Dividend Payout Ratio ต่ำเพียง 29.3% แต่หากนับรวมเงินปันผลทั้งปี 2565 จะได้เงินปันผลรวม 0.126 บาท/หุ้น คิดเป็น Dividend Payout Ratio 70.5% ตามนโยบายเงินปันผลที่กำหนดไว้ว่าจะจ่ายไม่ต่ำกว่า 70% ของกำไรสุทธิ

แรงกดดันด้านต้นทุนเริ่มผ่อนคลาย แต่จะรุกลูกค้าตลาดกลาง-ล่าง คืน

แรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตเริ่มผ่อนคลายลงบ้าง หลังราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 30% ของต้นทุนการผลิต มีทิศทางปรับตัวลงต่อเนื่อง โดยราคาก๊าซธรรมชาติเดือน ม.ค 66 ลดลงมาอยู่ที่ 300 บาท/MMBTU เทียบกับค่าเฉลี่ยงวด 4Q65 ที่ 307.8 บาท/MMBTU อย่างไรก็ตาม ผลบวกดังกล่าวจะถูกหักล้างบางส่วนจากค่าไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-15% ของต้นทุนการผลิต ที่ปรับขึ้น 13% ตามค่า Ft ในช่วงระหว่าง เดือน ม.ค-เม.ย 66 โดยการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ของปี ซึ่งเป็นหน้าฤดูการขายจะทำให้เกิดความประหยัดต่อขนาด ฝ่ายวิจัยจึงเชื่อว่าจะเห็นอัตรากำไรขั้นต้นของ DCC จะกลับมายืนที่ระดับ 40% ได้อีกครั้งในงวด 1Q66 ในขณะที่ภาพรวม Gross margin ปี 2566 คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนที่ทำได้ 42.38% มาอยู่ในช่วง 38-40% เนื่องจาก DCC ต้องการจะแย่งส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มตลาดกลาง-ล่าง คืนกลับมา หลังเสียส่วนแบ่งการตลาดกลุ่มนี้ให้กับคู่แข่งในปีที่ผ่านมา โดย gross margin อาจทำได้ดีกว่านี้ หากราคาก๊าซธรรมชาติยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อค่าไฟฟ้าในเดือน พ.ค 66 เป็นต้นไป ที่มีแนวโน้มที่ภาครัฐจะปรับลดค่า Ft ลงมา

กลยุทธ์หลักในการเพิ่มรายได้ของ DCC ในปี 2566 คือการปรับ Product Mixed เพิ่มยอดขายกระเบื้องในกลุ่ม High-end โดยจะมีสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดในงวด 1Q66 คือ กระเบื้องพอร์ซเลนขนาด 60×120 ซม. หลังปี 2565 ได้มีการนำกระเบื้องพอร์ซเลนขนาด 60×60 ซม. ออกวางตลาดเพื่อจับกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีความอ่อนไหวต่อราคาน้อยกว่า ลูกค้าระดับกลาง-ล่าง ในระยะถัดไปจะนำกระเบื้องพอร์ซเลนที่มีสีและลายอยู่ในเนื้ เดียวกันทั้งแผ่น (Homogeneous) ซึ่งมีราคาสูงกว่ากระเบื้องพอร์ซเลนทั่วไปเกือบเท่าตัวออกสู่ตลาด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเริ่มต้นผลิตเพื่อสร้างสต็อกสินค้าให้มีเพียงพอ ทำให้ DCC มีความจำเป็นต้องปรับภาพลักษณ์สาขาใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้นให้เหมาะสมกับลูกค้าที่ต้องการเจาะลูกค้าระดับกลาง-บน นอกจากนี้การจ่ายค่าเช่าพื้นที่สาขาที่มีแนวโน้มสินค้าที่ต้องปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 4% ทำให้ DCC มีแผนที่จะซื้อที่ดินเป็นของตัวเองเพื่อสร้างสาขาใหม่และทดแทนสาขาเดิมที่เป็นการเช่าพื้นที่ ซึ่งจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก เกือบปีละ 1,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายการจ่ายเงินปันผลจากเดิม จ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 เป็นจ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรของงบรวม เริ่มตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป โดยที่ DCC ยังคงจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเป็นรายไตรมาสเช่นเดิม

นอกเหนือจากกลยุทธ์การเพิ่มรายได้ DCC ยังมีแผนที่จะลดต้นทุนการผลิต ด้วยการติดตั้ง Solar Roof จากปัจจุบันมี 1 MW ที่โรงงาน Tile Top โดยจะทยอยติดตั้งเพิ่มเติมที่โรงงาน RCI และ DCC อีก 4 MW ภายในปี 2566 เมื่อครบ 5 MW จะช่วยลดค่าไฟได้ 35 ล้านบาท/ปี ในส่วนของต้นทุนด้านการขนส่ง ตั้งเป้าจะลดต้นทุนค่าขนส่งลงให้ได้ 5% หรือประมาณ 30 ล้านบาท ภายในปี 2566 จากการขยาย Fleet รถขนส่งกระเบื้องเป็นของตนเอง เริ่มจากรถขนส่งขนาดเล็กที่สุด คือ รถกระบะ ปัจจุบันมีรถกระบะ 40 คัน โดยมีเป้าหมายระยะยาวที่จะมี Fleet รถเป็นของตนเองให้ได้ 25-30% ของความต้องการ ทังหมด ซึ่งการใช้ Fleet รถขนส่งของตัวเองจะประหยัดต้นทุนกว่าการจ้างบริษัทขนส่งภายนอก 25-30%

หวังผลระยะยาว คงคําแนะนํา ชื้อ

แม้การปรับลดนโยบาย Dividend Payout Ratio ลง จะกระทบนักลงทุนบางกลุ่มที่คาดหวังเงินปันผลเป็นหลัก แต่มีความจำเป็นต้องทำเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในระยะยาว ด้วยผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดกลาง-ล่าง ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักในปัจจุบันที่มีสัดส่วนสูงถึง 74% ของปริมาณการขายทั้งหมด บวกกับ กลยุทธ์ปีนี้ที่ DCC ต้องการแย่งส่วนแบ่งการตลาดบางส่วนคืนจากคู่แข่งในตลาดกลาง-ล่าง โดยจะใช้สินค้า Fighting Brand ราคาถูกเป็นตัวนำ ทำให้แนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้ มีโอกาสทำได้ต่ำกว่าที่ฝ่ายวิจัยเคยประเมินไว้ จึงปรับลดประมาณการกำไรปี 2566-67 ลง 8% และ 9% ตามลำดับ คาดกำไรปี 2566 จะหดตัวลง 7%YoY อยู่ที่ 1,516 ล้านบาท ก่อนจะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2567 ที่ 1,622 ล้านบาท หลังสิ่งที่ DCC ทำมาเริ่มออกดอกออกผล ทั้งการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มี margin สูงขึ้น พร้อมปรับภาพลักษณ์สาขาให้ทันสมัย และเร่งเดินหน้าโครงการลดต้นทุนทั้งการติดตั้ง Solar Roof และเพิ่ม Fleet รถขนส่งของตัวเอง ประเมิน Fair Value ด้วยวิธี DDM ให้ราคาเหมาะสม 3.00 บาท มี Upside 10.12% บวกกับ Dividend Yield อีก 4.28% ถือเป็นผลตอบแทนโดยรวมที่ยังน่าสนใจ คงคำแนะนำ ซื้อ

การดำเนินการด้าน ESG ของ DCC

DCC เป็นผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ กระเบื้องเซรามิก ปูพื้น บุผนัง ที่มีสาขาเป็นช่องทางการจำหน่ายกว่า 200 สาขาทั่วประเทศ ได้มีการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจในทางตรงและทางอ้อม ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การประชุม และช่องทางอื่นๆ เพื่อให้ทราบถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียและมีแผนการปฏิบัติในแต่ละด้านเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม : DCC มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยมลภาวะสู่ภายนอก อาทิ

1. ติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ภายในปี 2565 ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจ ได้กว่า 1,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tonCO2eq) ต่อปี

2. ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานไฟฟ้าทุกกระบวนการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานไฟฟ้า แล้วนำมาวิเคราะห์ในรูปแบบดัชนีการใช้ก๊าซต่อหน่วยผลผลิต และดัชนีการใช้พลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยผลผลิต

3. ออกแบบระบบการผลิตเป็นแบบระบบการใช้น้ำแบบหมุนเวียนภายใน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีการปล่อยน้ำเสียทิ้งออกนอกโรงงาน

มิติด้านสังคม : ให้ความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพสังคมและชุมชน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ไม่จำกัดความแตกต่างทางเพศ หรือความแตกต่างในศาสนา การผลิตอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า จัดสวัสดิการอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงานตามหลักกฎหมาย เน้นการทำงานที่ปลอดภัย และมีสุขอนามัย ในสถานที่ทำงาน ทั้งโรงงาน และสาขา อย่างเหมาะสม สนับสนุนการจ้างงานผู้พิการในองค์กร และได้นำส่งเงินสมทบตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ DCC ให้การสนับสนุนกระเบื้องปูพื้นบุผนังให้กับชมรมค่ายอาสาของนิสิต นักศีกษา ตามสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 ภายใต้โครงการชื่อ “ไดนาสตี้ ร่วมจิตอาสา พัฒนาชนบท”

มิติด้านธรรมาภิบาล : มีนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับคณะกรรมการ 8 ข้อหลัก ตามแนวทาง CG Code 2017 อาทิ การแต่งตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์หลากหลาย เพียงพอที่จะช่วยให้การทําหน้าที่โดยรวมของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพการมนีโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย ครอบคลุมการดูแลผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นโดยเท่าเทียวกัน การส่งเสริมการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้น การป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย การชดเชยกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิ การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน มาตรการดําเนินการกับผู้ที่กระทําไม่เป็นไปตามนโยบายและแนวปฎิบัติ

ประเด็นความเสี่ยง

1. การเปลี่ยนแปลงของราคาพืชผลการเกษตรโดยเฉพาะข้าว ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในต่างจังหวัดซึ่งถือเป็นฐานลูกค้า สำคัญของ DCC

2. ภาวะอุตสาหกรรมกระเบื้องปูพื้น-บุผนัง ในประเทศที่ยังมีการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากประเทศจีนและอินเดีย

3. การเปลี่ยนแปลงของราคาก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 41% ของต้นทุนการผลิตผันแปร (Operating Variable Cost)

ที่มา: สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส

- Advertisement -