“กรมอนามัย” จับมือ “รพ.แพทย์รังสิต” จัดกิจกรรม “Training workshop Hysteroscopy” เพิ่มทางเลือกผ่าตัด “ช่วยรักษาสตรีมีบุตรยาก”
กรมอนามัย ร่วมกับ โรงพยาบาลแพทย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี จัดกิจกรรม “Training workshop Hysteroscopy” สาธิตการผ่าตัดส่องกล้องด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อแนะนำแนวทางการตรวจวินิจฉัย รักษาภาวะมีบุตรยากในกลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งได้รับความสนใจจากโรงพยาบาลทั่วประเทศเป็นอย่างมาก
สำหรับกิจกรรม “Training workshop Hysteroscopy” ได้รับเกียรติจากวิทยากรเข้าร่วมบรรยาย 2 หัวข้อ ได้แก่ การบรรยายหัวข้อ “Basic Hysteroscopy” หรือเรียกว่า “การผ่าตัดผ่านกล้อง” โดย นายแพทย์ศรุฒก์ กิจอันเจริญ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และการบรรยายหัวข้อ “Reproductive surgery” หรือเรียกว่า “ผ่าตัดอย่างไรให้ท้อง” โดย นายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์ หัวหน้ากลุ่มอนามัยแม่และเด็ก สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้รับความสนใจจากโรงพยาบาลทั่วประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งการบรรยาย การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการรักษาในด้านสูตินรีเวช และการสาธิตการผ่าตัดส่องกล้องด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ทันสมัย
นายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์ หัวหน้ากลุ่มอนามัยแม่และเด็ก สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้บรรยายเกี่ยวกับผ่าตัดอย่างไรให้ท้อง หรือในหัวข้อ “Reproductive surgery” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการการผ่าตัดผ่านกล้อง หรือ “Laparoscopy” ว่า การผ่าตัดส่องกล้องผ่านช่องท้อง เพื่อวินิจฉัยและทำการผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องจะมีแผลเล็ก ๆ ขนาด 0.5- 1.0 ซม. จำนวน 3-5 แผล การผ่าตัดประเภทนี้ สามารถทำได้ในช่องท้องทั้งบุรุษและสตรี หลากหลายช่วงวัยแตกต่างกันตามอาการของแต่ละรายบุคคล
ด้าน นายแพทย์ศรุฒก์ กิจอันเจริญ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ความสำคัญของเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้อง ด้วยเครื่อง “Hysteroscopy” ว่า การส่องกล้องผ่านทางโพรงมดลูก เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติภายในมดลูก และเพื่อการรักษาด้วยวิธิทำการผ่าตัดได้โดยไม่ต้องมีแผลหน้าท้อง เช่น การตัดติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้อในโพรงมดลูก การสุ่มตรวจชิ้นเนื้อ หรือเกี่ยวกับพังผืดภายในโพรงมดลูก ที่อาจจะเกิดจากการติดเชื้อ หรือแผลเป็นมาก่อน การทำหมันสตรี ช่วยในการนำห่วงคุมกำเนิดออก กรณี นำออกยาก เป็นต้น
“การผ่าตัดผ่านช่องท้อง (Laparoscopy) และการผ่าตัดผ่านโพรงมดลูก (Hysteroscopy) ปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้นในโรงพยาบาลประเทศไทยที่เปิดให้บริการการผ่าตัดโดยใช้เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องทั้งสองประเภทนี้ ถือเป็นการเพิ่มความแม่นยำให้แพทย์ได้เห็นรายละเอียดเชิงลึกอย่างชัดเจน สามารถกะระยะได้ตรงจุด เสมือนเข้าไปผ่าตัดอยู่ในท้องของคนไข้ ซึ่งช่วยให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยและรวดเร็ว โดยจะทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ลดการบาดเจ็บ สามารถพักฟื้นตัวได้เร็ว และหมดปัญหาแผลที่หน้าท้องยาวไม่สวยงาม หากเป็นในโพรงมดลูกก็ช่วยให้แผลสมานเร็ว โอกาสในการติดเชื้อและเสียเลือดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผล และการผ่าตัดผ่านกล้องเป็นการรักษาได้แทบทุกโรคแต่ต้องขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้และข้อจำกัดของการผ่าตัดแต่ละวิธี จึงจำเป็นต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจประเมินเป็นรายไป จำเป็นอย่างยิ่งในการให้แพทย์แนะนำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการรักษาในแต่ละวิธีให้ผู้ป่วยได้รับทราบและมีความเข้าใจถึงข้อมูลก่อนตัดสินใจผ่าตัด” นายแพทย์ศรุฒก์ กล่าว