บล.ฟิลลิป:

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป – MAJOR ธุรกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ชื้อ (คงคำแนะนำ) / ราคาปิด (บาท) 17.00 / ราคาพื้นฐาน (บาท) 23.10 (+41.65%)

Key Point

ธุรกิจจะฟื้นตัวมากขึ้นในปีนี้ หลังจากกลับมาธุรกิจได้เป็นปกติ ทั้งจำนวนหนังที่เข้าฉายใกล้เคียงก่อนโควิดแล้ว, หนังใหญ่มากกว่าที่ปี 2565 และกลับมาเพิ่มโรงภาพยนตร์ 45-50 โรง จากที่ชะลอในช่วงโควิด ซึ่งจะส่งผลดีไปยังธุรกิจอาหาร/เครื่องดื่มและโฆษณา และป๊อปคอร์นจะขยายการขายนอก โรงภาพยนตร์มากขึ้นและเปิดตัวใหม่ในการขายเข้าร้านสะดวกซื้อ จะเห็นการเติบโตดีในธุรกิจนี้ ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาพื้นฐาน 23.10 บาท

ปี 2566 ธุรกิจโรงภาพยนตร์กลับเข้าภาวะปกติ

ธุรกิจโรงภาพยนตร์กลับเข้าภาวะปกติหลังการระบาดโควิด 3 ปี โดยหนังใหญ่ปี 2566 จาก 5 ค่าย ใหญ่ฮอลลีวูด (Warner Bros, Walt Disney, Paramount Pictures, Sony Pictures, Universal) จะเข้าฉาย 74 เรื่อง ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนโควิดที่ 76 เรื่อง และมากกว่าปีก่อนที่ 59 เรื่อง ซึ่งหลายเรื่องที่ฉายสามารถทำเงินในปี 2565 ได้ใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด โดยหนังใหญ่ๆ จะทยอยเข้าตั้งแต่ มี.ค. เป็นต้นไป และมากสุดในช่วง 2Q-3Q66 มีถึง 12 เรื่อง นอกจากนี้จะมีหนัง Segment ใหม่ๆ เช่น แอนิเมชัน/การ์ตูน ที่มีกลุ่มคนดูเฉพาะ ซึ่งในปี 2565 การ์ตูนเรื่อง One Piece มีรายได้ถึง 121 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้จะมีหนังแอนิเมชันจากญี่ปุ่นไม่น้อยกว่า 20 เรื่อง และหนังไทยที่มีปีละ 30-40 เรื่อง ซึ่งในปี 2565 บุพเพสันนิวาส 2 ทำรายได้ถึง 393 ล้านบาท สร้างความมั่นใจกับผู้ผลิตหนังไทยมากขึ้น ซึ่งในปีนี้มีขุนพันธ์ 3 ที่เข้าฉาย 1 มี.ค. แสงกระสือ 2 และ 4 King 2 ที่น่าจะทำรายได้ดีเหมือนภาคก่อนหน้า กลุ่มทีวีดิจิทัลก็หันมาร่วมทุนทำหนังมากขึ้น ทั้ง BEC, WORK, ช่อง 7 เพื่อฉายในโรงภาพยนตร์ และขายสิทธิ์ไปยังผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง อีกทั้งผู้ให้บริการสตรีมมิ่งก็จะมีการผลิตหนังเข้าฉายในโรงหนัง ก่อนเอามาลงสตรีมมิ่ง เพราะทำรายได้ดีกว่าหนังที่ไม่ผ่านโรง ซึ่งจากหนังใหญ่ที่เข้าฉายมากในปีนี้ จะส่งผลดีไปถึงรายได้จากอาหาร/เครื่องดื่ม และธุรกิจโฆษณา อีเวนต์ ที่ปรับกลยุทธ์ในการขาย โดยเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าผ่านการทำแคมเปญอีเวนต์ต่างๆ และจะมีรายได้จาก Naming Sponsor มากขึ้น ส่วนแผนการเปิดโรงภาพยนตร์ใหม่ในปีนี้อยู่ที่ 45-50 โรง ใช้เงินลงทุน 600 ล้านบาท โดยมีสาขาใหญ่ เช่น Charn at The Avenue แจ้งวัฒนะ, เซ็นทรัล เวสต์วิลล์, โรบินสัน ฉลอง, บิ๊กซี บางบอน

ธุรกิจอื่นๆ ดีขึ้น และรายได้ป๊อปคอร์นจะเร่งตัวขึ้น

ธุรกิจอื่นๆ มีแนวโน้มดีเช่นกัน ธุรกิจโบลิ่ง คาราโอเกะ/ไอซ์สเกต ซึ่ง 4Q65 รายได้กลับเท่ากับก่อนโควิดแล้ว ทั้งปี 2566 คาดรายได้น่าจะดีกว่าปี 2562, ธุรกิจเช่าพื้นที่รายได้อาจยังทรงตัว แต่ต้นทุนจะดีขึ้น เนื่องจากหมดสัญญาเช่าพื้นที่กับบิ๊กซี ราชดำริและคืนพื้นที่ไปเมื่อสิ้นปี 2565 ทำให้ค่าเช่าปีนี้ลดลง และกลับมามีกำไรได้จากปีก่อนขาดทุน และธุรกิจอาหาร/เครื่องดื่มจะเป็นธุรกิจที่โตดีสุดและมีรายได้มากกว่าก่อนโควิด นอกจากยอดขายในโรงภาพยนตร์ที่จะดีตามหนังที่เข้าฉายจะมีการเพิ่มชนิดสินค้าปรับราคาขาย การทำโปรโมชั่น และเพิ่มตัวคาแรคเตอร์ ส่วนการขายนอกโรงภาพยนตร์ (out cinema) ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมาจากที่เริ่มทำในปี 2563 ที่มีรายได้เพียง 22 ล้านบาท เป็น 511 ล้านบาทในปี 2565 ในปี 2566 มีแผนจะเพิ่มคีออส (Kiosk) จาก 20 แห่ง เป็นอย่างน้อย 50 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่บริการและรองรับการจัดส่ง delivery ซึ่งรายได้จากคีออสและ Delivery คิดเป็นสัดส่วนรายได้ที่ 75% ของยอดขายนอกโรงภาพยนตร์ รวมถึงเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้จะมีการเปิดตัว Popcorn อีกครั้งในเดือน พ.ค. ซึ่งจับมือกับ TKN เพื่อขายในร้านสะดวกซื้อในราคาขาย ต้นทุนใหม่ที่แข่งขันกับขนมขบเคี้ยวอื่นๆ และการเพิ่มรสชาติ รายได้จะดีขึ้น และ TKN จะเป็นผู้กระจายสินค้าให้ ซึ่งมองโอกาสในตลาดต่างประเทศด้วย ส่วนการขาย MPIC ทาง MAJOR ไม่ได้ในรายละเอียดมากนัก เพราะอยู่ในขั้นตอนการเสนอขาย บริษัทได้มีการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนใน MPIC ไปบ้างแล้ว อาจไม่มีผลต่อกำไร/ขาดทุน แต่จะได้เงินสดจาก การขายกลับมา 650 ล้านบาท

ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาพื้นฐาน 23.10 บาท

ทางฝ่ายยังคาดรายได้ในปี 2566 ที่ 8,381 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 1,033 ล้านบาท อิง P/E ที่ 20 เท่า ราคาพื้นฐานปี 2566 อยู่ที่ 23.10 บาท ยังแนะนำ “ซื้อ”

ความเสี่ยง

  1. พึ่งพาพาภาพยนตร์ที่เข้าฉาย ทำให้รายได้ผันผวนตามความนิยมของผู้เข้าชม
  2. การลงทุนขยายสาขาใหม่ๆ ที่อาจไม่เป็นไปตามคาด
  3. เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น โรคระบาด อัคคีภัย น้ำท่วม เป็นต้น
- Advertisement -