บล.กรุงศรีฯ:
INVESTMENT STRATEGY – Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 25 หรือ 50 bps ในเดือนมีนาคม?
- What’s new?
สำนักสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistic) ของสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 311,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ ถึงแม้ว่าตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นจลดลงจาก 504,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคม แต่ก็ยังแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาดเอาไว้ที่ 224,000 ตำแหน่งอย่างมาก โดยตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากกลุ่มการพักผ่อนหย่อนใจ และการบริการ (leisure and hospitality) แต่ยังต่ำกว่าแนวโน้มในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดอยู่ประมาณ 2.4% ในขณะเดียวกันตำแหน่งงานลดลงในอุตสาหกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร (information and telecommunication) เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการจัดเก็บสินค้า และการขนส่ง (warehousing and transportation) ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% จาก 3.4% เพราะ labor participation rate เพิ่มขึ้นเป็น 62.5% แต่ในทางกลับกัน รายได้เฉลี่ยรายชั่วโมง (0.2% mom, 4.6% yoy) กลับต่ำกว่าที่ตลาดคาดเอาไว้ และต่ำกว่าตัวเลขในเดือนก่อนหน้าที่ 0.3% mom
- Analysis
เรามองว่าตัวเลขการจ้างงานบ่งบอกกว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงร้อนแรงเกินไป ซึ่งการจ้างงานใหม่ที่ระดับเกิน 100,000 ตำแหน่งต่อเดือนจะทำให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับที่ตึงมาก เมื่อพิจารณาจากอัตรา participation rate ที่ทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 62.5% หมายความว่าเงินเฟ้ออาจจะไม่ลดลงเร็วเท่าที่ Fed อยากเห็น อย่างไรก็ตาม การที่รายได้เฉลี่ยรายชั่วโมงต่ำกว่าที่คาดทำให้เราคิดว่า Fed น่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 25 หรือ 50bp ในการประชุมปลายเดือนนี้ โดยการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับตัวเลข CPI ที่จะประกาศออกมาในวันอังคาร (14 มีนาคม) ที่น่าสังเกตคือ ตลาดคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไป (headline CPI) จะลดลงมาอยู่ที่ 0.4% mom (6.4% yoy) ในขณะที่คาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐาน (core CPI) จะอยู่ที่ 0.4% ในขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อแบบ real time ที่คำนวณโดย Cleveland อยู่ที่ 6.21% yoy เราคิดว่าบทสรุปก็คือ Fed น่าจะต้องต่อสู้กับเงินเฟ้อต่อไปอย่างยืดเยื้อ และมีโอกาสมากขึ้นที่ Fed อาจจะต้องกลับมาขึ้นดอกเบี้ยเกิน 25bp ในการประชุมนัดหน้า ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับธนาคาร SVB จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ Fed ต้องนำมาร่วมพิจารณาในการประชุมเดือนนี้ด้วย ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปอย่างไรในช่วงสัปดาห์ต่อ ๆ ไป เพราะการขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไปจะทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากขึ้นกับธนาคารที่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเอาไว้เป็นจำนวนมาก และอาจทำให้เกิดกระแสความกลัวว่าปัญหาจะลุกลามไปที่ธนาคารอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะธนาคารที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ SIFI (Systematically Important Financial Institutions) ทั้งนี้ ในส่วนของ SVB มีการถือพันบัตรรัฐบาลสหรัฐ และพันธบัตรของหน่วยงานรัฐบาลเอาไว้ถึง 57% ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น