ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ไว้ ณ วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าด้วยนายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ.2562 และบัดนี้ได้ปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีที่ 4 อันเป็นปีสุดท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นการคืนอานาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยเร็วเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 103 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้
ดังต่อไปนี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 103 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป
มาตรา 4 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
มาตรา 5 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
“วิษณุ” คาดเคาะ 14 พ.ค. วันเลือกตั้ง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการหารือกับนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ภายในวันศุกร์นี้ กกต.จะสามารถประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.66 และไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 พ.ค. หรือ 14 พ.ค. จะไม่มีความแตกต่างและนัยทางการเมือง
ขณะที่ เลขาธิการกกต. ระบุว่า จะออกประกาศภายใน 5 วัน นับตั้งแต่วันยุบสภาฯ โดยจะมีรายละเอียด คือ วันเลือกตั้ง สถานที่รับสมัคร ทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ โดยไม่ต้องออกพระราชกฤษฏีกาอื่นใดอีก ซึ่งเป็นประกาศเท่านั้น เพราะพระราชกฤษฏีกายุบสภาเป็นประกาศให้มีการเลือกตั้งในตนเอง
ส่วนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ได้ประชุมร่วมกับพรรคการเมืองแล้ว มีข้อตกลงว่า ส.ส. บัญชีรายชื่อค่าใช้จ่ายรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 44 ล้านบาท ส่วน ส.ส. เขตแต่ละคน ต้องไม่เกินคนละ 1.9 ล้านบาท คชจ.คาดว่าจะเริ่มนับตั้งแต่มีการติดประกาศ และที่ติดไปก่อนหน้านี้แล้วให้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายด้วย
สำหรับวิธีปฎิบัติตัวของข้าราชการ เป็นไปตามมาตรา 78 กฎหมายเลือกตั้ง การวางตัวของข้าราชการไว้ 2 อย่าง คือ
1.ในกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน กับ
2.ในกฎหมายเลือกตั้ง บางอย่างแม้ไม่ผิดกฏหมายเลือกตั้ง แต่อาจผิดกฎหมายข้าราชการพลเรือน เช่น สมมติข้าราชการการเมืองไปช่วยหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่ผิดกฎหมายข้าราชการพลเรือน ถือมีความผิดทางวินัย รวมถึงในเวลานอกราชการด้วยก็จะผิดวินัยเช่นกัน จึงอย่าไปร้องเรียนกับ กกต. เพราะไม่สามารถรับร้องเรียนในข้อนี้ได้
นอกจากนี้ ยังเตรียมชี้แจงหลักการปฏิบัติตัว ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ แต่คงไม่ต้องออกเป็นมือปฎิบัติ อธิบายด้วย วาจา ก็เข้าใจ ซึ่งปลัดกระทรวงก็มีความเข้าใจเพราะมีการยุบสภาฯมาแล้วหลายครั้ง แต่รัฐมนตรีใหม่ที่อาจไม่เข้าใจต้องอธิบายให้ทราบ
จับตาศาลสั่งกรณีแบ่งเขต
กรณีที่พรรคการเมืองไปร้องเรียนศาลปกครองเรื่องการแบ่งเขต หากมีการไต่สวนฉุกเฉิน จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งหรือไม่ แล้วแต่ศาลปกครองว่าจะสั่งการอย่างไร หากศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวก็มีผล แต่หากไม่สั่งก็ไม่มีผลกระทบอะไร ถึงศาลจะมีคำสั่ง ก็สามารถเดินหน้าตามกรอบของ กกต.ได้ เพื่อส่วนรวม ส่วนจะทำให้การเลือกตั้งมีผลเป็นโมฆะหรือไม่ ยังไม่ถึงขั้นนั้น
แต่ถ้าหากศาลปกครองมีคำสั่งออกมาว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งมิชอบ หากศาลระบุว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งมิชอบก็แบ่งใหม่ และจะไม่กระทบกรอบเวลาเลือกตั้ง 45-60 วันหลังการยุบสภา เพียงแต่จะกระทบกรอบเวลาหาเสียงที่จะสั้นลงเท่านั้นเอง ไม่กระทบวันเลือกตั้ง และหากจำเป็นวันเลือกตั้งก็เลื่อนได้ ในรัฐธรรมนูญเขียนอนุญาตให้เลื่อนการเลือกตั้ง และยืนยันว่า ต่อให้เกิดอะไรขึ้น รัฐบาลรักษาการจะไม่อยู่ยาวกว่ากรอบของรัฐธรรมนูญ
การแบ่งเขตใหม่ มีผลแพ้ ชนะ
“ธนพร ศรียากูร” ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่จาก 350 เขตในการเลือกตั้งปี 62 เป็น 400 เขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี 66 จะส่งผลกระทบต่อฐานเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ เนื่องจากจะมีการโยกย้ายฐานคะแนนเสียงไปด้วย ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ
“การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่มีผลต่อการแพ้ชนะ ซึ่งเป็นเรื่องนักเลือกตั้งไม่ควรมองข้าม หากใครจะไปลงเลือกตั้งแล้วไม่รู้ข้อมูลตรงนี้ก็เสียเงินเปล่า” นายธนพร กล่าว