บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยเดือนเมษายน Sideway จากวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ และยังต้องจับตาตัวเลข PCE ของสหรัฐชะลอตัว พร้อมทั้งทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนพ.ค.นี้ จึงให้กรอบดัชนี 1,590-1,640 จุด แนะลงทุนในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากโอเปกพลัสลดกำลังการผลิต ได้แก่ PTTEP-TOP-PTT-SPRC-BCP
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในเดือนเมษายน 2566 คาดว่าแกว่งตัวผันผวนในลักษณะ Sideway เนื่องจากติดวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ โดยมีแรงหนุนจากตัวเลข PCE ของสหรัฐชะลอตัว และกระแสคาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในการประชุม FOMC เดือนพฤษภาคมนี้ประกอบกับมีประเด็นบวกจากราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ได้แรงหนุนจากมติโอเปกพลัสที่เหนือความคาดหมายของตลาดในการประกาศปรับลดการผลิต ขณะที่ปริมาณการซื้อขายที่เบาบางในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์เป็นเป็นปัจจัยลบกดดันตลาด คาดกรอบดัชนี 1,590-1,640 จุด
ขณะที่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังมีอยู่ สหรัฐได้รับข้อมูลใหม่ว่ารัสเซียเตรียมจัดหาอาวุธเพิ่มเติมจากเกาหลีเหนือ โดยแลกเปลี่ยนกับการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่เกาหลีเหนือ ส่วนจีนทบทวนด้านความปลอดภัยของชิปคอมพิวเตอร์ที่นำเข้าจากไมครอน เทคโนโลยี อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ซึ่งเป็นการตอกย้ำความขัดแย้งเกี่ยวกับชิปคอมพิวเตอร์ระหว่างสหรัฐและจีน อีกทั้งทางประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เรียกร้องให้รัสเซียปล่อยตัวนายอีแวน เกิร์ชโควิช ผู้สื่อข่าวของวอลล์สตรีท เจอร์นัล หลังถูกจับกุมในข้อหาจารกรรม
ด้านวิกฤตแบงก์สหรัฐสร้างความผันผวนต่อสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐส่งผลให้ยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์สหรัฐทั้งหมดลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 65 อย่างไรก็ดียอดเงินฝากเริ่มมีเสถียรภาพสำหรับธนาคารขนาดเล็กซึ่งมีความเปราะบางต่อการแห่ถอนเงินฝากหลังการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ทั้งนี้ธนาคารไทยภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีสภาพคล่องและเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงได้รับผลกระทบจากวิกฤตธนาคารในสหรัฐและยุโรปในกรอบจำกัด
ส่วนสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดว่าการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1/66 จะหดตัวราว 10%YoY เนื่องจากเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1/65 การส่งออกของไทยมีการเติบโตค่อนข้างสูง และคาดว่าการส่งออกในไตรมาส 2/66 อาจจะยังไม่ฟื้นตัวโดยจะยังหดตัวราว 5% แต่หลังจากนั้นไปแล้ว การส่งออกของไทยจะขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เป็นสำคัญ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาในประเทศ อาทิ วันที่ 12 เม.ย. ธปท. เผยแพร่รายงานการประชุมกนง.ฉบับย่อและรายงานนโยบายการเงิน สัปดาห์ที่ 4 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงยอดการผลิตและส่งออกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการส่งออก-นำเข้า สัปดาห์ที่ 5 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค วันที่ 18-21 เม.ย. หุ้นกลุ่มธนาคารส่งงบการเงินงวดไตรมาส 1/66 และเหตุการณ์ก่อนเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. ส่วนปัจจัยต่างประเทศ วันนี้ (5 เม.ย.) ทาง อียู รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนมี.ค. สหรัฐรายงานตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค. ดุลการค้าเดือนก.พ. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนมี.ค. ดัชนีภาคบริการเดือนมี.ค. และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ วันที่ 6 เม.ย. จีนรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมี.ค. สหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ วันที่ 7 เม.ย. สหรัฐรายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค. ทั้งนี้ในเดือนเม.ย.ไม่มีการประชุม FED และ ECB
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากกลุ่มโอเปกพลัสลดกำลังการผลิต ได้แก่ หุ้น PTTEP, TOP, PTT, SPRC และ BCP
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก ประเมินภาพรวมราคาทองคำในเดือนเมษายนว่า ยังคงต้องจับตาประกาศตัวเลขภาคแรงงานและดัชนีเงินเฟ้อสหรัฐ คาดตัวเลขดังกล่าวอาจอ่อนตัวลงตามต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น โดยดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นสู่ระดับ 4.75-5.00% อาจกดดันภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐ ขณะที่ SPDR มีสัญญาณบวกต่อเนื่อง ทั้งสองปัจจัยข้างต้นเป็นแรงหนุนทองคำ
ฝ่ายวิจัยประเมินว่าราคาทองคำมีโอกาสทรงตัวในระดับสูงต่อไป หลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในการประชุม FOMC เดือนพฤษภาคมนี้ มองว่าตลาดผ่อนคลายมากขึ้น โดยคาดว่าในระหว่างสัปดาห์หากราคาทองคำย่อตัวไม่หลุดแนวรับ 1.950$/oz เป็นจังหวะซื้อเพื่อไปขายทำกำไรที่แนวต้าน 2,000-2,030 $/oz