บล.พาย:
KBANK – Kasikornbank PCL กําไรกำลังฟื้นตัว
คงคำแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 160 บาท กำไรสุทธิไตรมาส 1/23 อยู่ ที่ 1.07 หมื่นล้านบาท (-4% YoY, +233% QoQ) เรามีมุมมองเป็นกลางต่อการประชุมนักวิเคราะห์ และยังคงประมาณการการเติบโตของกำไรสุทธิที่ 15% สำหรับปี 2023 (2022: -6%) อัตราส่วนผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) เริ่มขยายตัวเป็น 7.9% (7.3% ในปี 2022) โดยมองว่ามูลค่าหุ้นที่ 0.6x PBV’23E หรือ -1.25SD ต่อค่าเฉลี่ย 10 ปี เป็นระดับที่น่าดึงดูด และสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินเชื่อจากลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ 1 รายไปแล้ว มองว่ากลยุทธ์ระบายงบดุลจะหนุนให้การตั้งสำรองหนี้ๆ ของ KBANK ยังอยู่ในระดับสูงสำหรับปี 2023
การประชุมนักวิเคราะห์
- คงประมาณการ GDP ไทยปี 2023 ที่ 3.7% หนุนจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวแรง
- KBANK มีการตั้งสำรองหนี้ฯ เพียงพอต่อรายการลูกค้าองค์กรรายใหญ่ 1 รายที่ ดูเหมือนจะมีปัญหาเรื่องเครดิต เห็นได้ชัดว่าสำรองหนี้ฯ ดังกล่าวที่คิดเป็น 6% ของสำรองหนี้ฯ ทั้งหมด 1.28 แสนล้านบาท ในไตรมาส 1/23 นั้นมาจากสำรองสำหรับปัจจัยอื่น (management overlay)
- ธนาคารเดินหน้าดำเนินกลยุทธ์ระบายงบดุลต่อเนื่อง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2023 ขณะที่ยังคงค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่ 175- 200bp ในปี 2023 แต่อาจแตะกรอบบนของเป้าหมายหรือสูงกว่านั้นแต่ไม่เกิน 210bps ในอนาคตค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญอาจลดสู่ระดับปกติที่ 140-160bp ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ
- คาดอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยจะปรับดีขึ้นในไตรมาส 2/23 จากการขึ้นดอกเบี้ย และน่าจะออกมาอยู่ในระดับสูงที่ 3.3%-3.45%
ไตรมาส 1/23 ผลประกอบการดี
กำไรสุทธิไตรมาส 1/23 อยู่ที่ 1.07 หมื่นล้านบาท ที่โตแรง QoQ เป็นเพราะการตั้งสำรองหนี้ฯ และค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (OPEX) ที่ลดลง ด้านคุณภาพสินเชื่อปรับดีขึ้นจากอัตราส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL ratio) ลดลงเหลือ 3% และอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่สูงขึ้น เป็น 156.7%
กำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวตามเดิม
เรายังคงสมมติฐานค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญปี 2023 ที่ 210bp และลดลงเป็น 190bp ในปี 2024 เพราะคาดว่าการระบายงบดุลจะแล้วเสร็จในปี 2023 แม้เราจะมีสมมติฐานด้านค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่รัดกุม แต่คาดว่าการเติบโตของกำไรสุทธิของ KBANK จะกลับมาเป็นบวกที่ 15%/4% YoY ในปี 2023-24 (2022: -6%)
คงคําแนะนํา “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 160 บาท
มูลค่าพื้นฐาน 160 บาท คำนวณด้วยวิธี GGM (ROE 8.2%, TG 2%) อิง 0.7x PBV’23E หรือ -1.0SD ต่อค่าเฉลี่ย 10 ปี คำแนะนำซื้อสะท้อน 1) การเติบโตของกำไรที่มั่นคงมากขึ้นในปี 2023-24 2) ROE ขาขึ้น 3) ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่อาจลดลงหลังการระบายงบดุลแล้วเสร็จ และ 4) มูลค่าหุ้นไม่แพง
สรุปผลประกอบการไตรมาส 1/23
- กำไรสุทธิไตรมาส 1/23 อยู่ที่ 1.07 หมื่นล้านบาท (-4% YoY, +233% QoQ) สูงกว่าคาด 15% เพราะการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง กำไรที่ฟื้นตัวแรง QoQ ได้แรงหนุนจากการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลงแรง (-44% QoQ) และ OPEX ที่ลดลง ทั้งนี้ แม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) และกำไรจากมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน (FVTPL) จะสูงขึ้น แต่กำไรสุทธิกลับลดลง YoY จากการตั้งสำรองหนี้ฯ และ OPEX ที่สูงขึ้นจากการขยายกิจการ
- NIM ลดลง QoQ เป็น 3.5% หลังกลับมาจ่ายค่าธรรมเนียมกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ 0.46% แต่ยังสูงกว่า 3.3% ในไตรมาส 1/22 จากการขึ้นดอกเบี้ย ด้านอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (CIR) ลดเหลือ 42.5%
- สินเชื่อลดลง 1.2% QoQ ในไตรมาส 1/23 จากการบริหารจัดการ NPL เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การขายสินเชื่อ และการตัดบัญชีสินเชื่อ
- คุณภาพสินเชื่อปรับดีขึ้น ด้วย NPL ratio ที่ดลลงเป็น 3.0% จากการบริหารจัดการ NPL ด้านอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ ปรับเพิ่มเป็น 156.7% เพียงพอต่อความไม่แน่นอนในอนาคต