บล.บัวหลวง:
GFPT (GFPT TB/GFPT.BK)
GFPT – ปรับลดประมาณการกำไรปี 2566 ลงอีกครั้ง
ถึงแม้ว่าเราได้ทําการปรับลดประมาณการกำไรปี 2566 ลงอีกครั้ง เนื่องจากความคาดหวังต่ออัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงจากเดิมสําหรับในช่วงไตรมาส 2/66 จนถึงไตรมาส 4/66 แต่มูลค่าหุ้น ณ ปัจจุบัน ถือว่าถูกมาก แม้ว่าเรายังคงคําแนะนํา “ซื้อเก็งกำไร” เนื่องจากมูลค่าหุ้นที่ถูกมาก ณ ปัจจุบัน แต่เราคิดว่าไม่มีความจําเป็นต้องเร่งรีบเข้าซื้อหุ้น ณ ตอนนี้
ราคาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่ปรับตัวลดลงในเดือนเม.ย. แม้ว่าราคาไก่มีชีวิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
อ้างอิงจากข้อมูลของกรมการค้าภายใน ราคาโครงไก่ในประเทศปรับตัวลดลงอีก 29% ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 2566 จาก 22.5 บาท/กก. (28 ก.พ.-6 มี.ค.) เหลือ 16 บาท/กก. (10-24 เม.ย.) และถ้าอ้างอิงจากข้อมูลของ GFPT ราคาโครงไก่เฉลี่ยปรับตัวลดลงจาก 23 บาท/กก. ในเดือนม.ค. เหลือ 20 บาท/กก.ในเดือน ก.พ. 17 บาท/กก.ในเดือนมี.ค. และ 13-14 บาท/กก. ในเดือนเม.ย. โดยราคาโครงไก่ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 12-13 บาท/กก. ซึ่งถือว่าต่ำกว่าจุดคุ้มทุนของ GFPT ซึ่งอยู่ที่ 13-14 บาท/กก. และที่ราคาโครงไก่ ณ ปัจจุบัน เราคาดว่าทั้ง GFPT และจีเอฟเอ็น (ซึ่งมีต้นทุนการผลิตไก่ถ้าเทียบกับราคาโครงไก่จะอยู่ที่ 13-14 บาท/กก. และ 15-16 บาท/กก. ตามลำดับ) มีแนวโน้มรายงานขาดทุนสุทธิ เล็กน้อยจากธุรกิจไก่ในประเทศ ราคาไก่มีชีวิตในประเทศปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย 1-2 บาท/กก. ในช่วงเดือนเม.ย. จาก 36.5 บาท/กก. (28 มี.ค.-9 เม.ย.) ไปเป็น 37 บาท/กก. (10-18 เม.ย.) และ 38 บาท/กก. (19-24 เม.ย.) ในขณะที่ราคาลูกเจี๊ยบปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนเม.ย. จาก 11.50 บาท/ตัว (27 ก.พ.-23 เม.ย.) ไปเป็น 13.50 บาท/ตัว (24 เม.ย.)
เรามองว่าราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มและราคาลูกเจี๊ยบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วๆ นี้ เป็นผลมาจากช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ยาวติดต่อกัน ส่งผลให้จํานวนวันเชือดไก่ลดลง และสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติในเดือนเม.ย. ได้ส่งผลให้นํ้าหนักไก่ต่อตัวและอุปทานไก่โดยรวมลดลง และเนื่องจากราคาไก่มีชีวิตและราคาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่ในครั้งนี้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับราคาหมูมีชีวิตของไทย (ซึ่งได้อานิสงค์บวกจากโรค ASF ในหมูไทย) เราจึงยังคงมุมมองอย่างระมัดระวังต่ออุปทานหมูที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ต่อเนื่องไปยังปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหมูมีชีวิตไทยและราคาไก่มีชีวิตไทยปรับตัวลดลงอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เป็นต้นไป ราคาหมูมีชีวิตในจังหวัดนครปฐมล่าสุดปรับตัวลดลง 7% จาก 82 บาท/กก. (7 มี.ค.-23 เม.ย.) เหลือ 76 บาท/กก. (24 เม.ย.) คาดวอลุ่มไก่ส่งออกของ GFPT ในไตรมาส 1/66 มีแนวโน้มลดลง YoY สําหรับในไตรมาส 1/66 เราคาดวอลุ่มไก่ส่งออกของ GFPT ที่ 7 พันตัน ลดลง 9% YoY และ 19% QoQ เนื่องจากวอลุ่มไก่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นที่ลดลง (เหลือ 3.3 พันตัน ลดลง 15% YoY และ 8% QoQ) ในขณะที่วอลุ่มไก่ส่งออกไปยุโรป มาเลเซีย จีน และอื่นๆ มีแนวโน้มทรงตัว YoY เราคาดราคาไก่ส่งออกเฉลี่ยที่ 4,600 เหรียญสหรัฐ/ตัน ในไตรมาส 1/66 เพิ่มขึ้น 5% YoY แต่ลดลง 5% QoQ
ส่องกล้องไตรมาส 1/66-กำไรหลักปรับตัวลงแรงทั้ง YoY และ QoQ
เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/66 ที่ 280 ล้านบาท ลดลง 39% YoY และ 37% QoQ หากไม่รวมรายการพิเศษ ได้แก่ รายการอัตราแลกเปลี่ยนและตราสารอนุพันธ์ เราคาดกำไรหลักในไตรมาสนี้ที่ 270 ล้านบาท ลดลง 33% YoY และ 35% QoQ กำไรหลักที่ลดลงแรงในไตรมาสนี้ เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวลดลง (ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นแรง) และกำไรของจีเอฟเอ็นที่ลดลงอย่างมาก เราคาดอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 1/66 ที่ 11.4% ลดลงจาก 14.2% ในไตรมาส 1/65 และ 13.7% ในไตรมาส 4/65 และสำหรับในไตรมาส 1/66 เราคาดว่าจีเอฟเอ็นมีแนวโน้มรายงานกำไรสุทธิที่ 40 ล้านบาท ลดลง 81% YoY และ 73% QoQ และแม็คคีย์มีแนวโน้มรายงานกำไรสุทธิ 205 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% YoY และ 9% QoQ และเนื่องจากสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่ยังคงยืนในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เราจึงทำการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ลงอีก 18% (เหลือ 1.43 พันล้านบาท) และปรับลดราคาเป้าหมายซึ่งประเมินด้วยวิธี PEG ลงอีก 9% (เหลือ 15.9 บาท) เพื่อสะท้อนสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับปี 2566 ที่ปรับลดลง (จาก 14.5% เหลือ 12.6%) และกำไรสุทธิของจีเอฟเอ็นที่ปรับลดลงจากเดิม เรามองว่ากำไรสุทธิของบริษัทจะยังคงลดลง YoY ตั้งแต่ไตรมาส 1/66 ไปจนถึงไตรมาส 4/66 เนื่องจากฐานกำไรของปี 2565 ที่อยู่ในระดับที่สูงมาก