บล.บัวหลวง:
Agro & Food – แจ้งเตือนเฝ้าระวังและจับตาปรากฎการณ์เอลนีโญ่ (NEUTRAL)
เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่มีแนวโน้มครอบงำภาวะอากาศโดยรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จนถึงปี 2567 เราจึงมองว่ากลุ่มสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์ “น้ำตาล” ถือว่าเป็นหนึ่งในทางเลือกของการลงทุนที่ดี ในขณะที่กลุ่ม “ถั่วเหลือง” มีแนวโน้มเป็นทางเลือกของการลงทุนที่แย่สำหรับในกลุ่มสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์ โดยเรายังคงคําแนะนํา “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น KSL และ “ถือ” หุ้น TVO
ปรับเพิ่มโอกาสการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่; ปรับสถานะเพิ่มขึ้นเป็นเฝ้าระวัง
อ้างอิงจากรายงานการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่/ลานีญ่า (ENSO)” เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์พยากรณ์อากาศของสหรัฐฯ ได้ปรับการคาดการณ์โอกาสของการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่เพิ่มขึ้นอีก 15% ในไตรมาส 2/66 จาก 15% (ในรายงานเดือนมี.ค.) ไปเป็น 30% (ในรายงาน เดือนเม.ย.) ปรับเพิ่มขึ้นอีก 24% ในไตรมาส 3/66 จาก 56% ไปเป็น 80% และปรับเพิ่มขึ้นอีก 23% ในไตรมาส 4/66 จาก 63% ไปเป็น 86% เรามองว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ถือว่ามีนัยสําคัญ ในทางตรงกันข้าม ศูนย์พยากรณ์ของสหรัฐฯ ได้ปรับลดโอกาสของการเกิดปรากฏการณ์ลานีญ่าลงอีก 2-5% และปรับลดโอกาสของการเกิดปรากฏการณ์ภาวะที่เป็นกลางลงอีก 13-21% ในช่วงไตรมาส 2/66-4/66 ปรากฏการณ์เอลนีโญ่จะครอบงำาสภาพอากาศ โดยรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยโอกาสของการเกิดจะเพิ่มขึ้นจาก 30% ในไตรมาส 2/66 ไปเป็น 80% ในไตรมาส 3/66 และ 86% ในไตรมาส 4/66 สิ่งนี้เห็นได้จากอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลและอุณหภูมิใต้ผิวน้ำที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างเห็นได้ชัด ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางตะวันตกและตะวันออก โดยความร้อนได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยในแถบชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ ศูนย์พยากรณ์อากาศสหรัฐฯ ได้ออกรายงานแจ้งเตือน “เฝ้าระวังเอลนีโญ่” ในรายงานเดือนเม.ย. และคาดว่ามีโอกาส 40% ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่รุนแรง (โดย Niño -3.4 จะมีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 1.5) และมีโอกาสเพียงแค่ 10% ที่จะไม่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่เลย ในขณะที่ปรากฏการณ์ลานีญ่าจะหายไปเลย โดยโอกาสของการเกิดลานีญ่าจะลดลงเหลือเพียงแค่ 1% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
อากาศจะร้อนและแห้งมากขึ้นในกลุ่มประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก
เนื่องจากสภาพอากาศโดยรวมที่จะถูกครอบงำโดยปรากฏการณ์เอลนีโญ่ เราจึงคาดว่า: 1) ทวีปอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ (ไม่รวมตอนใต้ของประเทศ สหรัฐฯ) มีแนวโน้มที่ฝนจะตกมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย และ 2) อินเดีย เอเชียใต้ ประเทศต่างๆ รอบมหาสมุทรแปซิฟิก (จากเปรูไปจนถึงอินโดนีเซียและออสเตรเลีย) และประเทศไทยจะเผชิญกับอากาศที่ร้อนและแห้งมากขึ้น ตามมาด้วยคลื่นความร้อน ภัยแล้ง และปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศได้คาดการณ์ว่าการกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในปี 2566 อาจส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยโดยรวมของทั้งโลกทำสถิติสูงสุดใหม่ในปี 2566 หรือปี 2567 และมีโอกาสสูงที่ปี 2566 จะร้อนกว่าปี 2559 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดของโลกจากปรากฏการณ์ซูเปอร์เอลนีโญ่ในปีนั้น
มองบวกต่อ “น้ำตาล” และมองลบต่อ “ถั่วเหลือง” จากเอลนีโญ่ที่แรงขึ้น
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เราคาดว่าราคาสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์ที่ปลูกในอินเดีย เอเชียใต้ และประเทศรอบ มหาสมุทรแปซิฟิก (รวมถึงประเทศไทย) มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง ซึ่งได้แก่ อ้อย ข้าว ยางพารา น้ำมัน ปาล์ม และมันสำปะหลัง โดยคาดว่าอุปทานของสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์ดังกล่าวมีแนวโน้มขาดแคลน และสำหรับน้ำตาล เนื่องจากมีการปลูกอ้อยในทุกส่วนของโลก ผลกระทบจากการขาดแคลนอุปทานอ้อยและน้ำตาลจากภัยแล้งในประเทศไทย อินเดีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเปรูจะกลบผลกระทบของอุปทานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปริมาณฝนที่จะกลับมาตกหนักทางตอนใต้ของบราซิล (ภายใต้สมมติฐานว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ่รุนแรงมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และต่อเนื่องไปยังปี 2567) ผลผลิตน้ำตาลของประเทศ บราซิล อินเดีย ไทย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเปรูคิดเป็น 21%, 20%, 6%, 2%, 1% และ 1% ของผลผลิตน้ำตาลโลกทั้งหมด ตามลำดับ และสำหรับถั่วเหลือง เนื่องจากผลผลิตถั่วเหลืองส่วนใหญ่มาจากทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ (31%) บราซิล (41%) และอาร์เจนตินา (9%) ปริมาณน้ำฝนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่รุนแรงมากขึ้น จะส่งผลให้อุปทานถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น และราคาถั่วเหลืองโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังปี 2566 และต่อเนื่องไปในปี 2567 ดังนั้นปรากฏการณ์เอลนีโญ่จึงเป็นปัจจัยบวกต่อราคาน้ำตาลโลก (ซึ่งตลาดจะไม่สนใจผลกระทบของอุปทาน/วอลุ่มที่หายไป) แต่เป็นปัจจัยลบต่อราคาถั่วเหลืองโลกที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเป็นทิศทางขาลง