เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS)

เทคโนโลยีที่หลายประเทศนำมาใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างได้ผล ก็คือ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า CCS ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพโดดเด่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณมากในปัจจุบัน เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน เป็นการดักจับและนำ CO2 ลงไปกักเก็บใต้พิภพ โดยมีกระบวนการหลัก 3 ขั้นตอน คือ การดักจับ CO2 จากภาคอุตสาหกรรมด้วยอุปกรณ์แยก CO2 และปรับความดันให้เหมาะสมสำหรับการขนส่งผ่านทางท่อส่ง ทางเรือ หรือรถบรรทุก เพื่อนำไปกักเก็บอย่างถาวร บนบกหรือนอกชายฝั่ง ในชั้นหินใต้พิภพที่มีคุณสมบัติและความลึกเหมาะสม โดยไม่ให้มีการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากกระบวนการดักจับและกักเก็บแล้ว ยังสามารถนำคาร์บอนไปใช้งาน (Utilization) เช่น การฉีดกลับเข้าไปในบ่อน้ำมันเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน ปัจจุบันมีโครงการ CCS ทั่วโลก (ข้อมูล ณ กันยายน พ.ศ. 2565) จำนวนรวม 266 โครงการ แบ่งออกเป็น โครงการที่เสนอเข้ามาใหม่ในปี 2565 จำนวน 61 โครงการ ดำเนินการแล้ว 30 โครงการ อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 11 โครงการ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 153 โครงการ

เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ประเทศไทยเองก็ได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานร่วมกันเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ในประเทศไทย โดยจะต้องให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นหลักได้แก่

1. การปรับปรุงกฎ/ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อปลดล็อกให้สามารถดำเนินโครงการได้ทันเวลา

2. การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS เพื่อขยายขอบเขตการดำเนินงานให้แพร่หลายยิ่งขึ้น เพื่อนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ภายในปี ค.ศ. 2040

3. การกำหนดรูปแบบการลงทุนที่มีความคุ้มค่าและสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน

ประเทศไทยเองก็มีการเริ่มศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ครั้งแรกที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทยเมื่อปี 2564 โดย ปตท.สผ. ขณะนี้ได้เสร็จสิ้นการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) และประเมินศักยภาพรูปแบบการขนส่ง CO2 ที่จะสามารถตอบโจทย์ในเรื่องปริมาณและค่าใช้จ่ายแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study) รวมถึงสำรวจและประเมินศัภยภาพทางธรณีวิทยาของแหล่งกักเก็บที่มีความจุเพียงพอต่อความต้องการ

อย่างไรก็ตาม โครงการ CCS ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องหลายมิติ เช่น ด้านนโยบาย ด้านกฎหมาย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และปัจจัยส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและองค์กรหลาย ๆ ฝ่ายในการผลักดันและส่งเสริมการนำเทคโนโลยี CCS มาใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย

Source:
สผ.เดินหน้าโครงการ CCS มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 – สำนักข่าวไทย อสมท (mcot.net)
————————————————————-
- Advertisement -