FPI สตรอง! มั่นใจรายได้ปี 66 โต 10% แตะระดับ 3,000 ลบ. กอด Backlog กว่า 800 ลบ.- บ.ย่อยในอินเดียรายได้ฟื้นเท่าตัว เดินหน้าลงทุนอียิปต์และซาอุฯ หนุนอนาคตโตก้าวกระโดด
บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้(FPI) มั่นใจรายได้ปี2566 แตะ 3,000 ล้านบาท เติบโต 10%จากงวดเดียวกันปีก่อน ผลจากธุรกิจในอินเดียฟื้นตัวแรง คาดรายได้เพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท ฟากซีอีโอ “สมพล ธนาดำรงศักดิ์” ระบุมีงานในมือรอรับรู้รายได้กว่า 800 ล้านบาท ทยอยรับรู้ปีนี้ 50% เผยธุรกิจ OEM ผลตอบรับจากลูกค้า EV ดีตามคาด พร้อมเดินหน้าลงทุนในประเทศอียิปต์ และ ซาอุดีอาระเบีย ตามแผนที่วางไว้ ประเมินใช้งบลงทุนราว 200 ล้านบาท สนับสนุนอนาคตเติบโตก้าวกระโดด
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทฯยังคงเป้าหมายการเติบโตรายได้ระดับ 10% หรือแตะ3,000 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจในประเทศอินเดียของบริษัท FPI AUTO PART INDIA PRIVATE LIMITED ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, บริการรับออกแบบผลิตภัณฑ์และผลิตแม่พิมพ์พลาสติก,รับจ้างฉีด, ชุบโครเมียม, พ่นสี, ประกอบ ชิ้นงานทุกประเภท ปัจจุบันมีการฟื้นตัวอย่างคึกคัก โดยคาดว่ารายได้จากอินเดียในปีนี้จะเติบโตเกิน 100% หรือจากรายได้ 110 ล้านบาทเพิ่มเป็น 240 ล้านบาท
“ภาพรวมธุรกิจยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยปัจจุบันบริษัทฯมี Backlog อยู่ที่ 800 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ปีนี้ราว 50% แบ่งเป็นงานในประเทศ 400 ล้านบาท และงานจากอินเดียประมาณ 300-400 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายจากการกลุ่มธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) ในปี 2566 เน้นไปที่ลูกค้ากลุ่มรถไฟฟ้า (EV) คาดว่ายอดขายจะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยได้วางงบลงทุนไว้ประมาณ 318 ล้านบาทในการขยายธุรกิจดังกล่าว”
สำหรับแผนรุกขยายการลงทุนในปีนี้ บริษัทฯกำลังศึกษาการลงทุนในประเทศอียิปต์ และ ซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ โดยจะมีการลงทุนสร้างโรงงาน และคลังสินค้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในด้านค่าขนส่ง และภาษีนำเข้าได้ รวมถึงช่วยเพิ่มระดับมาร์จิ้นในตลาดโซนแอฟริกาเหนือได้ไม่ต่ำกว่า 15% ปัจจุบันมีความคืบหน้าเป็นอย่างมากโดยเฉพาะประเทศอียิปต์ ในเบื้องต้นได้มีการย้ายแม่พิมพ์จากไทย ไปยังโรงงานพันธมิตร จำนวน 10 เครื่อง และคาดว่าจะใช้งบลงทุนโครงการดังกล่าวประมาณ 200 ล้านบาท
ขณะเดียวกันในเดือนมิถุนายน 2566 บริษัทฯ เตรียมเดินทางไปเจรจาหารือกับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มบริษัท LKQ Corporation ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ เพื่อศึกษาความร่วมมือระหว่างกันในพื้นที่ภูมิภาคอาเซียน และจะช่วยสนับสนุนการเติบโตในอนาคตได้อย่างก้าวกระโดด