บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยแกว่งตัว Sideway แรงหนุนจากสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายการขยายเพดานหนี้ พร้อมจับตาการจัดตั้งรัฐบาลอย่างใกล้ชิด มองกรอบดัชนี 1,500-1,560 จุด แนะลงทุนในหุ้นลงทุนในหุ้นส่งออกไก่แช่แข็งรับประโยชน์สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีสวนกระแสภาพรวมส่งออกที่หดตัว ชูหุ้น GFPT–TFG น่าลงทุน
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนในลักษณะ Sideway ออกข้าง โดยมีแรงหนุนจากสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายการขยายเพดานหนี้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังคงจับตาการจัดตั้งรัฐบาลอย่างใกล้ชิด โดยให้กรอบดัชนีที่ 1,500-1,560 จุด
ขณะที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนเม.ย.66 การส่งออกมีมูลค่า 21,723.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.6%YoY ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,195 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว7.3%YoY ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยเดือนเม.ย.66 ขาดดุลเท่ากับ 1,471.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนม.ค. – เม.ย.66 พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 92,003.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 5.2%YoY ส่วนกระทรวงพาณิชย์ รายงาน CPI ของไทยในเดือน พ.ค.66 เพิ่มขึ้น 0.53%YoY โดยชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือนเนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซหุงต้ม รวมทั้งฐานในเดือน พ.ค.65 อยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.96%YoY ส่วน Core CPI ในเดือนพ.ค.66 เพิ่มขึ้น 1.55%YoY ชะลอตัวต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.98%
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาในประเทศ อาทิ สัปดาห์ที่ 3 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม, สัปดาห์ที่ 4 กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศ การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงยอดผลิตและส่งออกรถยนต์, สัปดาห์ที่ 5 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค, ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีอุตสาหกรรม, วันที่ 30 มิ.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยและ วันที่ 13 ก.ค. กกต.รับรองผลเลือกตั้งวันสุดท้าย ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่ต้องจับตาวันนี้ 8 มิ.ย. สหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนเม.ย., วันที่ 9 มิ.ย. จีน รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค., วันที่ 12 มิ.ย. สหรัฐ รายงานการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือนพ.ค., 13-14 มิ.ย. กำหนดการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED), วันที่ 22 มิ.ย. นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะแถลงเกี่ยวกับนโยบายการเงินของสหรัฐต่อคณะกรรมการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐ
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นไก่แช่แข็ง รับประโยชน์สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีสวนกระแสภาพรวมส่งออกที่หดตัว ได้แก่ GFPT-TFG
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก ประเมินภาพรวมทองคำรายเดือนมิถุนายนว่า ยังคงต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มแข็งแกร่งมากขึ้นทั้งตัวเลขภาคแรงงานและดัชนีเงินเฟ้อ ขณะที่ช่วงกลางเดือนมีประชุม FOMC โดยตลาดให้น้ำหนักการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ไปจนถึงปลายปีนี้
ขณะที่ภาพรวมทองคำในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,081$/Oz โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวลงสู่ 3.27% เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐทั้งการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ SPDR เข้าซื้อ +13.28 ตัน ทำให้ปัจจุบัน SPDR ถือครองทองคำแล้วทั้งสิ้น 939.56 อย่างไรก็ตามทองคำปรับตัวลงหลุด 2,000 $/Oz หลัง PCE ปรับตัวขึ้นสู่ 4.4%YoY ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.85% สอดคล้องกับดัชนีดอลลาร์ที่เร่งตัวขึ้นสู่ 104.69 กดดันต่อราคาทองคำ
ดังนั้นฝ่ายวิจัยประเมินว่าราคาทองคำในเดือนมิถุนายนอาจแกว่งตัวในกรอบ 1,930-1,995$/oz แม้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะคงดอกเบี้ย แต่ด้วยแนวโน้มตัวเศรษฐกิจของสหรัฐที่ดีกว่าคาดการณ์ ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองคำ คำแนะนำซื้อขายตามกรอบที่ให้ไว้