บล.บัวหลวง:
Agro & Food – ญี่ปุ่นระงับนำเข้าสัตว์ปีกจากหนึ่งรัฐในบราซิล
What’s new?
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา ABPA หรือสมาคมอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของบราซิลได้เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นได้สั่งระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากรัฐแห่งหนึ่งของบราซิล หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกที่ฟาร์มแห่งหนึ่ง (ซึ่งไม่ใช่ฟาร์มเพาะเลี้ยงเพื่อการพาณิชย์) โดยการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่รัฐเอชปีรีตูซังตู ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิลประกาศพบการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกในฟาร์มตั้งแต่เป็ด เป็ดหัวเขียว ห่าน และไก่ ซึ่งนับเป็น ครั้งแรกของบราซิลที่พบโรคไข้หวัดนกระบาดในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก ไม่ใช่การแพร่ระบาดในนกป่า
ABPA ได้ตั้งคำถามถึงการที่ญี่ปุ่นระงับการซื้อเนื้อสัตว์ปีก เพราะญี่ปุ่นไม่ได้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากรัฐดังกล่าว ก่อนหน้านี้ บราซิลได้ยืนยันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในนกป่าเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พ.ค. และตั้งแต่นั้นก็มีรายงานการระบาดในนกป่า 50 ครั้งในพื้นที่ 7 รัฐ กระทรวงเกษตรของบราซิลแถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (26 มิ.ย.) ว่าการแพร่ระบาดไข้หวัดนกในรัฐเอชปีรีตูซังตู ไม่ได้ก่อให้เกิดมาตรการจำกัดผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของบราซิลในการค้าระหว่างประเทศ
View From Fundamental:
เรามองข่าวข้างต้นเป็นข่าวบวกด้านจิตวิทยาต่อผู้ประกอบการไก่ส่งออกของไทย (ซึ่งที่จดทะเบียนในตลาดฯ ได้แก่ GFPT CPF BTG และ TFG) ในแง่โอกาสสำหรับวอลุ่มส่งออกไก่ไทย (ส่วนใหญ่คือไก่ปรุงสุก) ไปยังญี่ปุ่นที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต (ซึ่งต้องอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าไข้หวัดนกเริ่มระบาดจริงเข้าไปในฟาร์มเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์เพื่อการส่งออกของบราซิลและญี่ปุ่นตัดสินใจแบนการนำเข้าไก่จากบราซิลจากรัฐอื่นๆ เพิ่มขึ้น) แต่เนื่องจากญี่ปุ่นยังคงไม่ได้แบนนำเข้าไก่จากรัฐอื่นๆ ของบราซิล ผลบวกในแง่วอลุ่มนำเข้าของญี่ปุ่นจากไทยที่จะเพิ่มขึ้นก็จะยังคงไม่เกิดขึ้น
ข่าวข้างต้นเป็นเพียงแค่ญี่ปุ่นแบนการนำเข้าไก่จากรัฐเดียวของบราซิลที่มีการแพร่ระบาดไข้หวัดนก ไม่ใช่แบนนำเข้าจากบราซิลทั้งประเทศ และรัฐนี้ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกก็ไม่ได้ส่งออกไก่ไปยังญี่ปุ่นอยู่แล้วตั้งแต่ตอนต้น เรามองว่ามีโอกาสสูงที่ไข้หวัดนกจะลุกลามไปยังฟาร์มสัตว์ปีกในรัฐอื่นๆ ของบราซิลเพิ่มเติมในอนาคตเนื่องจากฟาร์มระบบเปิดในบราซิลมีจำนวนมากและต้นทุนการเลี้ยงที่ถูกมาก บราซิลเป็นผู้ผลิตไก่เนื้อที่ใหญ่สุดของโลก (14.9 ล้านตันในปี 2023) ตามมาด้วยจีน (14.3 ล้านต้น) และยุโรป (11 ล้านตัน) และบราซิลก็เป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ที่สุดของโลกเช่นกัน (4.75 ล้านตันในปี 2023) ตามด้วยยุโรป (1.69 ล้านตัน) และไทย (1.04 ล้านต้น)
เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น GFPT CPF BTG และ TFG โดยเรามองว่ากลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจไก่เพียงอย่างเดียวซึ่งได้แก่ GFPT (ราคาเป้าหมาย 15.90 บาท) ดูน่าสนใจมากที่สุด ณ ขณะนี้ ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการผสมทั้งธุรกิจไก่และหมูยังคงไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเข้าลงทุน ณ ขณะนี้เนื่องจากราคาหมูไทยที่ยังคงไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างชัดเจน