บล.บัวหลวง:
Agro & Food – ปศุสัตว์: ญี่ปุ่นระงับนำเข้าสัตว์ปีกจากหนึ่งรัฐในบราซิล (NEUTRAL)
เรามองว่าข่าวที่ญี่ปุ่นระงับการนำเข้าสัตว์ปีกจากหนึ่งรัฐในประเทศบราซิล ถือว่าเป็นปัจจัยบวกด้านจิตวิทยาสำหรับผู้ประกอบการส่งออกไก่ไทย เนื่องจากการคาดการณ์แนวโน้มของการระงับการนําเข้าสัตว์ปีกจากรัฐอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต ภายใต้สมมติฐานว่า การระบาดของโรคไข้หวัดนกแพร่กระจายไปยังรัฐหรือภูมิภาคที่ทำการผลิตไก่เนื้อที่สำคัญของประเทศบราซิล โดย GFPT ยังคงเป็นหุ้นที่เราชื่นชอบมากที่สุดในกลุ่มผู้ประกอบการปศุสัตว์ไทย
ญี่ปุ่นระงับการนำเข้าสัตว์ปีกจากหนึ่งรัฐในประเทศบราซิล
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา สมาคมอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของบราซิล (ABPA) ได้ประกาศว่าญี่ปุ่นได้ระงับการสั่งซื้อสัตว์ปีกจากรัฐเอชปีรี่ตูซังตู (Espirito Santo) ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศบราซิล หลังจากพบการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (HPAI) ในฟาร์มที่ไม่ใช่ฟาร์มเชิงพาณิชย์ การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหนึ่งวัน ภายหลังจากที่รัฐนี้ได้ประกาศการระบาดของโรคไข้หวัดนกในฟาร์มเลี้ยงเป็ด เป็ดป่า ห่าน และไก่ ซึ่งถือว่าเป็นกรณีแรกของประเทศบราซิลที่พบการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ ที่ไม่ใช่นกป่า โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา บราซิลได้ยืนยันการระบาดของโรคไข้หวัดนกในนกป่าเป็นครั้งแรก และพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในนกป่าแล้วเป็นจำนวน 50 ครั้งใน 7 รัฐ ภายหลังจากนั้น
ณ ปัจจุบัน ญี่ปุ่นไม่ได้นำเข้าสัตว์ปีกจากรัฐนี้แต่อย่างใด โดยผลผลิตไก่จากรัฐนี้คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 1% ของผลผลิตไก่ทั้งหมดของบราซิล ใน ปี 2565 ญี่ปุ่นนำเข้าไก่สดแช่แข็งจำนวน 4.12 แสนตันจากบราซิล ซึ่งการนําเข้าจากบราซิลคิดเป็นประมาณ 37% ของวอลุ่มนำเข้าไก่สดแช่แข็งและไก่ปรุงสุกทั้งหมดของญี่ปุ่นที่จํานวน 1.1 ล้านตัน ถ้าอิงจากตัวเลขของกระทรวง เกษตรของสหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 75% ของวอลุ่มนําเข้าไก่สดแช่แข็งทั้งหมดของญี่ปุ่น ในปี 2565 ญี่ปุ่นนำเข้าทั้งไก่สดแช่แข็งและไก่ปรุงสุกจากไทยรวมกับจํานวน 4.59 แสนต้น หรือคิดเป็นประมาณ 42% ของวอลุ่มนําเข้าไก่ทั้งหมดของญี่ปุ่น
ปัจจัยบวกด้านจิตวิทยาต่อราคาหุ้นของผู้ประกอบการไก่ไทย
ข่าวข้างต้นถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่กระตุ้นราคาหุ้นของผู้ประกอบการไก่ไทย (ได้แก่ GFPT CPF BTG และ TFG) บนความคาดหวังต่ออัพไซด์ สําหรับผู้ประกอบการส่งออกไก่ไทยที่อาจจะได้วอลุ่มไก่ส่งออกไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในอนาคต ภายใต้สมมติฐานในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่นระงับการนำเข้าไก่จากภูมิภาคหรือรัฐอื่นๆ ของบราซิลด้วย (หากว่าการระบาดของโรคไข้หวัดนกแพร่กระจายไปทางตอนใต้ของบราซิล ซึ่งถือว่าเป็นภูมิภาคหรือพื้นที่หลัก สําหรับการผลิตไก่ในประเทศบราซิล)
เนื่องจากญี่ปุ่นยังคงไม่ได้ระงับการนำเข้าไก่จากรัฐอื่นๆ ที่ผลิตไก่ของประเทศ บราซิล ดังนั้นจะยังคงไม่เห็นวอลุ่มสั่งซื้อไก่ที่เพิ่มขึ้นจากญี่ปุ่นมายังไทยแต่อย่างใด แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เรามองว่ามีแนวโน้มสูงที่การระบาดของโรคไข้หวัดนกในบราซิลจะแพร่กระจายไปยังรัฐอื่นๆ ของบราซิลในอนาคต เนื่องจากผู้ประกอบการเลี้ยงไก่รายเล็ก ที่เป็นระบบเปิดมีจำนวนมากรายในประเทศบราซิล (จากต้นทุนการเลี้ยงไก่ในบราซิลที่ต่ำมาก) ถ้าอ้างอิงจากประมาณการของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ บราซิลถือว่าเป็นผู้ผลิตไก่เนื้อรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก (14.9 ล้านตันในปี 2566 หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่ 14%) และเป็นผู้ส่งออกไก่เนื้อรายใหญ่อันดับแรกของโลก (4.75 ล้านตันในปี 2566 หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่ 35%) ในขณะที่ไทยถือว่าเป็นผู้ผลิตไก่เนื้อราย ใหญ่อันดับเจ็ดของโลก (3.43 ล้านตันในปี 2566 หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่ 3%) และเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่อันดับสี่ของโลก (1.04 ล้านตัน หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่ 8%)
เราชอบกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจไก่ไทยเพียงอย่างเดียว
ถึงแม้ว่าเราให้คำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” สำหรับหุ้นทั้ง 4 บริษัท แต่เราชื่นชอบและแนะให้ลงทุนในกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจไก่ไทยเพียงอย่างเดียว (GFPT) มากกว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่ทำทั้งธุรกิจหมูไทยและไก่ไทย (CPF BTG และ TFG) เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกไก่ไทยที่สดใสมากขึ้นในปี 2566 ราคาไก่ไทยที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น และการบริโภคในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม ราคาหมูไทยยังคงไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวแต่อย่างใด