บล.กรุงศรีฯ:

INVESTMENT STRATEGY – เศรษฐกิจไทยยังประคองตัวได้ดีในเดือนพฤษภาคม

What’s new? 

รายงานเศรษฐกิจรายเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงภาพว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคมยังขยายตัวได้ในระดับปานกลางจากปัจจัยพิเศษบางประการ โดยในฝั่งอุปทาน กิจกรรมในภาคการผลิต (ดัชนี MPI) หดตัวน้อยลงที่ 3.1% yoy จาก -8.7% ในเดือนเมษายน แต่เมื่อเทียบ month-over-month ดัชนี MPI เพิ่มขึ้น 3.1% โดยโมเมนตัมด้านบวกมาจากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (7%) เครื่องยนต์ของรถยนต์ (14.8%) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (14.2%) สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 59.9% (จาก 58.7%) ส่วนภาคบริการก็ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว อย่างเช่น โรงแรม และร้านอาหาร และการขนส่งผู้โดยสาร  ส่วนทางฝั่งอุปสงค์ การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง (7.3%) ในทุกหมวด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้อานิสงส์จากการจัดเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม เราพบว่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อบริการลดลงลงเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายประเภทอื่น ๆ ในเดือนพฤษภาคมในเชิง mom ในขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนแข็งแกร่งขึ้นผิดคาด 2.2% ในเดือนพฤษภาคม (จาก -2.5% ในเดือนเมษายน) เพราะการจับจ่ายใช้สอยในรายการพิเศษ อย่างเช่น การนำเข้าเครื่องบิน และชิ้นส่วนอะไหล่ที่เกี่ยวข้อง

 

Analysis

ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคมแข็งแกร่งกว่าที่เราคาดไว้เกือบทุกด้าน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้แรงส่งจากปัจจัยพิเศษดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทั้งนี้ เนื่องจากมีสัญญาณชัดมากขึ้นว่าเศรษฐกิจโลกจะแผ่วลง และภาวะการเงินจะตึงตัวมากขึ้น เราจึงยังสงสัยว่าโมเมนตัมด้านบวกที่เห็นในเดือนพฤษภาคมจะดำเนินต่อเนื่องไปได้แค่ไหน โดยประเด็นหลักที่เราเป็นห่วงยังคงอยู่ที่แนวโน้มอุปสงค์ที่อ่อนแอลงในตลาดโลก ซึ่งเห็นได้จากแนวโน้มการลดลงของมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยของเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ รวมถึงยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนมากขึ้นจากเศรษฐกิจหลัก ๆ ดังนั้น การส่งออกของไทยจึงอ่อนแอลงมาเกือบหนึ่งปีแล้ว และเราคาดว่าจะเริ่มส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคส่วนอื่นของเศรษฐกิจ (การบริโภค และการลงทุน) เมื่อถึงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนโยบายการเมืองและการคลังในส่วนนี้มีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว

- Advertisement -