เดนทัล คอร์ปอเรชั่น ชี้การทำฟันร่วมดมยาสลบ ได้รับความสนใจเพิ่มสูงขึ้น ปีนี้เติบโตเฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่า 179% เหตุช่วยลดความกังวลในขณะทำฟัน เผยลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลทันตกรรม BIDH อย่างต่อเนื่อง มั่นใจด้านมาตรฐานความปลอดภัย ภายใต้การดูแลจากทีมทันตแพทย์ วิสัญญีแพทย์ประสบการณ์สูง
นายพรศักดิ์ ตันตาปกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดนทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ D เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 งานให้บริการด้านทันตกรรมของกลุ่ม D มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของ รพ. ทันตกรรมกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล หรือ BIDH ที่ได้นำวิธีการทำฟันภายใต้การดมยาสลบมาใช้ ทำให้ได้รับความสนใจสูงจากลูกค้าทั้งคนไทย และลูกค้าต่างชาติ
โดยในปีนี้ โรงพยาบาลทันตกรรม BIDH มีรายได้จากการทำฟันในรูปแบบที่มีการดมยาสลบร่วม เติบโตโดยเฉลี่ยต่อเดือนถึง 179% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติ และ BIDH เป็นโรงพยาบาลทันตกรรม ที่มีคลินิกเฉพาะทางด้านศัลยกรรมช่องปากอันดับต้น ๆ และมีเพียงไม่กี่แห่งในประไทยที่สามารถให้การรักษาโดยใช้ยาระงับความความรู้สึก เพื่อคลายความกังวล และลดเจ็บ ปวดในระหว่างและหลังทำการรักษา
“การให้ยาระงับความรู้สึกกับคนไข้ที่เข้ามาทำฟัน ตอบโจทย์สำหรับคนไข้ที่มีความกังวล จะช่วยให้ผ่อนคลาย และทำการรักษาได้อย่างเต็มที่ ในประเทศไทยมีให้บริการรูปแบบนี้ไม่กี่แห่ง ส่วนของโรง พยาบาล BIDH เป็นที่รู้จักด้านการให้บริการเฉพาะทางด้านทันตกรรม จึงทำให้คนไข้มั่นใจ ได้รับการตอบรับดีมากจากคนไข้ทั้งชาวไทย ทั้งต่างชาติ” นายพรศักดิ์ กล่าว
นายพรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน โรงพยาบาล BIDH มีบริการด้านทันตกรรมเพื่อคลายความกังวล 3 ระดับ ในระดับแรกเป็นการคลายความกังวลเบื้องต้น โดยทันตแพทย์จะให้กินยา เพื่อคลายความกังวลก่อนเริ่มทำหัตถการ ประมาณ 30 นาที วิธีนี้ผู้ป่วยจะยังรู้สึกตัว แต่ใจเย็นลง พูดคุยสื่อสารได้ปกติ หรือ จะเลือกใช้ Nitrous Oxide หรือ ก๊าซหัวเราะ โดยทันตแพทย์จะให้ดมก๊าซหัวเราะผ่านทางจมูกขณะทำหัตถการ ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว แต่จะลดความเครียด และผ่อนคลายมากขึ้น
ระดับ 2 คลายความกังวลระดับปานกลาง เป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำ (IV sedation) โดยจะปรับปริมาณยาให้เข้ากับแต่ละบุคคล ให้ปริมาณยาในระดับต่ำๆจนทำให้เกิดความง่วง สะลึมสะลือ ช่วยลดความกลัว และหากเพิ่มปริมาณยา จะง่วงนอนมากขึ้น แต่จะยังไม่หลับ อาจจะจำความรู้สึกหรือเหตุการณ์ขณะทำการรักษาไม่ได้
ส่วนระดับ 3 เป็นการคลายความกังวลระดับลึก ใช้วิธีดมยาสลบภายในห้องผ่าตัดที่ได้มาตรฐาน (General Anesthesia : GA) โดยการสูดดมยาสลบเข้าทางระบบทางเดินหายใจและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ในระหว่างการรักษาด้วยเพื่อช่วยรักษาระดับอัตราการหายใจ ผู้ป่วยจะไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทำการรักษาได้
นายพรศักดิ์ กล่าวอีกว่า การให้บริการในการใช้ยาระงับความความรู้สึก เพื่อคลายความกังวล ทีมทันตแพทย์จะพิจารณาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับคนไข้ โดยมีการดูแลจากวิสัญญีแพทย์ที่มีใบ อนุญาตเฉพาะทาง มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะใช้เกณฑ์การประเมินความเสี่ยงทางด้านวิสัญญีของคนไข้แต่ละรายตามASA Classification (American Society of Anesthesiologists)