บมจ.มาสเตอร์ สไตล์ หรือ MASTER สุดปลื้ม ตลท.เชิญแม่ทัพหญิง “ลภัสรดา เลิศภานุโรจ” บรรยายหลักสูตร Internal Control for IPO รุ่นที่ 4 แนะบริษัทจดทะเบียนต้องตรวจสอบสภาพธุรกิจให้พร้อมสำหรับ IPO ในทุกขั้นตอน ชี้ ปัจจัยสำคัญต้องมีระบบควบคุมภายในที่ดี และผู้บริหารต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง โดยความสำเร็จจะเกิดขึ้นต้องมีปัจจัยผลักดันและปัจจัยเกื้อหนุน
นางสาวลภัสรดา เลิศภานุโรจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ หรือ MASTER ผู้ประกอบธุรกิจศัลยกรรมความงามภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช” (Masterpiece Hospital) เปิดเผยว่า ได้รับเกียรติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขึ้นบรรยายบนเวทีเกี่ยวกับหลักสูตร Internal Control for IPO รุ่นที่ 4 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา หลัง MASTER ประสบความสำเร็จในการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ในธุรกิจโรงพยาบาลศัลยกรรมเสริมความงามครบวงจรรายแรกในตลาดทุนไทย
โดยรองซีอีโอ MASTER กล่าวว่า การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้ประสบความสำเร็จที่ดี บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต้องตรวจสอบสภาพธุรกิจให้พร้อมสำหรับ IPO พร้อมกับแนะนำแนวทางของ MASTER ที่นำมาใช้ ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 ต้องดำเนินการตรวจสอบสภาพธุรกิจ, ปรับระบบบัญชีและรายงานทางการเงิน และปรับระบบควบคุมภายใน
ขั้นตอนที่ 2 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน, ขั้นตอนที่ 3 ยื่นขออนุญาตกระจายหุ้นต่อประชาชน ยื่นขอจดทะเบียน, ขั้นตอนที่ 4 กระจายหุ้นต่อประชาชน และขั้นตอนที่ 5 เข้าจดทะเบียน ที่สำคัญ ต้องเตรียมความพร้อมของผู้บริหารองค์กร ทั้งด้านปฏิบัติการ และด้านการเงิน โดยต้องจัดโครงสร้างธุรกิจให้ชัดเจน เพื่อป้องกันให้ผู้ถือหุ้นไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เตรียมระบบควบคุมภายในและบัญชี ด้วยการมีระบบควบคุมภายในและงบการเงินตามมาตรฐาน มีผู้ช่วยที่เหมาะสม ทั้งที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ตรวจสอบบัญชี และคณะกรรมการตรวจสอบ
รวมถึงการมีผู้ตรวจสอบภายใน ทั้งจากภายนอกและภายในองค์กร ซึ่งล้วนมีจุดเด่น อาทิ ทีมภายนอกองค์กรมีทีมงานที่มีประสบการณ์ มีความรู้หลากหลาย ตรวจสอบได้หลายเรื่อง สรรหาทีมตรวจได้ภายในเวลาอันสั้น โดยไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้รับการตรวจ ส่วนทีมภายในองค์กร มีความเข้าใจวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมองค์กร มีความรู้และความคุ้นเคยกับองค์กร ลงรายละเอียดถึงสาเหตุประเด็น และติดตามแนวทางการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
“องค์กรจำเป็นต้องมีระบบการควบคุมภายในที่ดี ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญ ปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี และมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและแนวทางการควบคุมขององค์กร โดยระบบควบคุมภายในถือเป็นกระบวนการที่รวมไว้หรือเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติงาน, จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกคนภายในองค์กร, การติดตามผลการควบคุมภายในอย่างสม่ำเสมอ และปรับปรุงมาตรการควบคุมต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป” รองซีอีโอ MASTER กล่าว
ด้านปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ก่อให้เกิดระบบการควบคุมภายในที่ดีต้องมี ได้แก่ 1. ปัจจัยผลักดัน คือ มีวัตถุประสงค์ (Purpose) ชัดเจน, ข้อตกลงร่วมกัน (Commitment), ความสามารถ (Capability), การปฏิบัติการ (Action) และการเรียนรู้ (Learning) และ 2. ปัจจัยเกื้อหนุน คือ ผู้บริหารให้ความสำคัญในเรื่องนี้, การประเมินความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ,การจัดการทรัพยากรบุคคลเป็นระบบอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งมีความรับผิดชอบและจิตสำนึกของบุคคลทุกระดับ
พร้อมกันนี้ ยังสามารถแบ่งประเภทการควบคุมภายในเป็น 5 ประเภท ได้แก่
- การควบคุมแบบป้องกัน (Preventive Control) เป็นการควบคุมเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากความผิดพลาด ความเสียหาย เช่น การแบ่งแยกหน้าที่การงาน การควบคุมการเข้าถึงทรัพย์สิน เป็นต้น,
- การควบคุมแบบค้นพบ (Detective Control) เป็นการควบคุมเพื่อค้นพบความเสียหาย หรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น การสอบทานงาน การสอบยืนยันยอด การตรวจนับพัสดุ เป็นต้น
- การควบคุมแบบแก้ไข (Corrective Control) เป็นวิธีการควบคุมที่กำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้ถูกต้อง หรือเพื่อหาวิธีแก้ไขไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต,
- การควบคุมแบบส่งเสริม (Directive Control) เป็นวิธีการควบคุมที่ส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น การให้รางวัลแก่ผู้มีผลงาน เป็นต้น
และ 5. การควบคุมแบบชดเชย (Compensative Control) เป็นวิธีการควบคุมที่กำหนดขึ้น เพื่อชดเชยหรือทดแทนสำรองระบบที่ทำอยู่ เช่น ระบบ Manual ที่สำรองระบบ Computerize เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ระบบการควบคุมภายใน เป็นเครื่องมือช่วยผู้บริหารในการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน, ช่วยให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ,ผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดและคุ้มค่า, มีความโปร่งใสและมีการเผยแพร่ข้อมูลและรายงานทางการเงินอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเชื่อถือได้ ซึ่งการประยุกต์สิ่งเหล่านี้สู่การปฏิบัติงานในขั้นตอนต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีระบบ ถูกต้องเหมาะสม และอยู่ในกรอบของกฏหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ย่อมจะช่วยป้องกันโอกาสเสี่ยงที่อาจเกิดความผิดพลาดในการดำเนินงานขององค์กร