บล.บัวหลวง: 

Finance – ธปท. เผยแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

What’s new?

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน คาดเริ่มบังคับใช้ม.ค. 2024

Highlights:

ธปท. ออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว 4 แนวทางดังนี้

1) ผู้ให้บริการต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ ก่อนเป็นหนี้ (ไม่กระตุ้นให้เป็นหนี้เกินตัว) ระหว่างเป็นหนี้ (ส่งเสริมให้ข้อมูล คำเตือนที่ลูกหนี้ควรรู้) เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ (มีแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสม) เมื่อจะดำเนินคดีและโอนขายหนี้ (ต้องแจ้งสิทธิและข้อมูลสำคัญแก่ลูกหนี้) เริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค. 2024 เราประเมินว่าอาจกระทบการเติบโตของสินเชื่อบ้าง โดยในทางปฏิบัติเราประเมินว่าผู้ให้บริการสินเชื่อจะสามารถปรับตัวได้

2) ผู้ให้บริการต้องดูแลลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง: Persistent debt (จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา) ซึ่งมีอยู่ราว 5 แสนบัญชี โดยจะต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบุคคลประเภทหมุนเวียน (Revolving personal loan) ที่มีรายได้น้อย (ไม่เกิน 2 หมื่นบาท/เดือนสำหรับลูกหนี้ธนาคารและกลุ่มธุรกิจ และไม่เกิน 1 หมื่นบาท/เดือนสำหรับลูกหนี้นอนแบงค์) และเป็นหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี เริ่มบังคับใช้ 1 เม.ย. 2024 ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ต้องปิดวงเงินหมุนเวียนดังกล่าว เพื่อไม่ให้ก่อหนี้เพิ่ม และควรมีการรายงานข้อมูลเครดิตว่าลูกหนี้ได้ปรับโครงสร้างหนี้ เราประเมินว่าผู้ให้บริการสินเชื่อบัตรเครดิตและบุคคล (KTC AEONTS และธนาคารบางแห่ง) จะได้รับผลกระทบบ้าง แต่เรามองว่าไม่มาก เพราะลูกหนี้ต้องแจ้งความประสงค์ในการเข้าร่วมโครงการและจะถูกปิดวงเงินสินเชื่อทันที นอกจากนี้ ยังประเมินว่าลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวไม่ได้ให้ความสำคัญกับอัตราดออกเบี้ยมากนัก แต่ให้ความสำคัญกับการผ่อนต่องวดมากกว่า ทำให้เราประเมินลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมโครงการมีไม่มากนัก ส่วนผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียน (MTC SAWAD และ TIDLOR) จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะสินเชื่อเป็น term loan คือมีระยะเวลาสินเชื่อและค่างวดกำหนดที่แน่นอน

3) การทดสอบโครงการ Sandbox ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-based pricing: RBP) เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงเกินเพดานอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น สำหรับสินเชื่อบุคคลที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน คาดเริ่มทดสอบใน 2Q24 เรามองว่าเป็นบวกต่อผู้ให้บริการสินเชื่อเพราะจะสามารถให้บริการลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงได้มากขึ้น

4) การกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt service ratio: DSR) เพื่อดูแลการก่อหนี้ใหม่ ลดการก่อหนี้เกินตัว ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มใช้กับสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ในเบื้องต้นมีแผนจะใช้ในปี 2025 โดยจะประเมินภาพรวมเศรษฐกิจอีกครั้ง เราประเมินว่ามาตรการดังกล่าว จะกดดันให้แนวโน้มสินเชื่อของผู้ให้บริการสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตเติบโตได้ช้าลงบ้าง

View From Fundamental:

เราประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบผู้ให้บริการสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตบ้าง ได้แก่ KTC และ AEONTS ขณะที่กลุ่มธนาคารจะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะสัดส่วนสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตไม่เยอะ และลูกหนี้ส่วนใหญ่ก็มีรายได้ระดับกลางถึงบน ส่วนผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนแทบไม่กระทบ โดยในกลุ่ม Retail finance แนะนำซื้อ SAWAD (TP Bt55) ส่วนกลุ่มธนาคารแนะนำซื้อ BBL (TP Bt185)

- Advertisement -