บล.กรุงศรีฯ:
INVESTMENT STRATEGY – การส่งออกไทยหดตัวแรงขึ้นในเดือนมิถุนายน
- What’s new?
การส่งออกของไทยหดตัวลงอีก -6.4% yoy ในเดือนมิถุนายน แรงกว่าเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -4.6% ในขณะเดียวกันการนำเข้ายิ่งหดตัวแรงขึ้นไปอีกที่ -10.3% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า US$57.7 ล้าน จากที่ขาดดุลการค้า US$1.84 พันล้านในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ การส่งออกที่อ่อนแอมาจากสินค้าหลายกลุ่ม โดยการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมหดตัวลง -27% และ -4.6% ตามลำดับ ทั้งนี้ ในภาคเกษตรมีเพียงการส่งออกหมูแช่แข็ง น้ำตาล และผักสด เท่านั้นที่ยังขยายตัวได้ ส่วนในภาคอุตสาหกรรม การส่งออกหมวดยานยนต์ (+11.4%) แผงวงจรไฟฟ้า (+68.7%) และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ (+14.7%) เป็นสินค้าส่งออกหลักที่ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ส่วนในด้านของการนำเข้า การบริโภคและการลงทุนยังคงมีแนวโน้มลดลง โดยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง -2.6% yoy ในขณะที่ การนำเข้าสินค้าทุนหดตัวลง -1.7% การนำเข้าวัตถุดิบที่ลดลงอย่างมาก (-14.5%) ซึ่งสะท้อนว่าการส่งออกของไทยจะยังคงเผชิญกับอุปสรรคในเดือนต่อ ๆ ไป
- Analysis
การส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในเดือนมิถุนายนสอดคล้องกับดัชนี forward looking ที่เราใช้ (การส่งออกเฉลี่ยของเกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์) ซึ่งตัวเลขยังอยู่ในระดับที่แย่มากอยู่ อย่างไรก็ตาม เราเริ่มเห็นสัญญาณว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกอาจจะเข้าใกล้จุดต่ำสุดแล้ว
- ประการแรก วัฏจักรขาลงของภาคอุตสาหกรรมมักจะกินเวลาประมาณ 18 เดือน ซึ่งในขณะนี้เราอยู่ในเดือนที่ 19 แล้ว
- ประการที่สอง เราพบว่าระดับของการกักตุนสินค้าคงคลังในภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ซึ่งจะทำให้มีอุปสงค์ในการตุนสินค้าคงคลัง (restocking demand) เพิ่มขึ้น
- ประเด็นสุดท้าย เป็นที่น่าสังเกตว่าดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ (new order index) ของสหรัฐขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 45.6 (ในเดือนมิถุนายน) จาก 42.6 (ในเดือนพฤษภาคม) ส่วนการส่งออกเฉลี่ยของ เกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์ เริ่มจะหดตัวในอัตราที่ชะลอลงแล้ว และ อัตราเร่ง (2nd derivative) ของข้อมูลชุดนี้ก็ยังช่วยยืนยันรูปแบบดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะกว่าที่แนวโน้มดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริง ดังนั้น เราจึงยังคงมุมมองที่ระมัดระวังต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป