บล.กรุงศรีฯ:

INVESTMENT STRATEGY – ภาคบริการยังรับบทหนักแบกเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย.

What’s new?

รายงานภาวะเศรษฐกิจรายเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยเดือนมิถุนายนยังคงอยู่ในขาลง เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอ่อนแอลงอีก โดยในฝั่งอุปทาน การผลิตในภาคอุตสาหกรรรมหดตัวหนักขึ้นเป็น -5.2% จาก -3.0% ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการหดตัว (yoy) ของเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยกเว้นยานยนต์ และปิโตรเลียม โดยอัตราการขยายตัวของกลุ่มยานยนต์ชะลอลงเหลือเพียง 3.1% yoy จาก +16.1% ในเดือนพฤษภาคม คิดเป็นอัตราการเติบโตเพียง 0.2% mom ในขณะเดียวกัน อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมในภาคอุตสาหกรรมยังอ่อนแออยู่ที่ 59.7% ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการเติบโตส่วนใหญ่มาจากภาคบริการซึ่งขยายตัว 8.2% yoy ชะลอลงเล็กน้อยจาก +10.8% ในเดือนก่อนหน้า ปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญยังคงเป็นธุรกิจโรงแรม และ ร้านอาหาร (80.3% yoy) ส่วนข้อมูลทางฝั่งอุปสงค์ออกมาในลักษณะเดียวกัน โดยการใช้จ่ายในภาคบริการยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 17.3% ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดอื่น ๆ ชะลอตัวลงหมด อย่างไรก็ตาม การบริโภคชะลอลงมาอยู่ที่ 6.5% yoy (จาก 7%) ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนแย่ลงตามคาด โดยหดตัวลง 1.6% แต่ในด้านบวก ตลาดงานโดยรวมยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีจำนวนผู้ลงทะเบียนในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น

Analysis

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มแผ่วลงอย่างชัดเจน และพึ่งพาภาคบริการอย่างหนัก ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจเปราะบางมากกับ downside ที่อาจเกิดจากสถานการณ์ลบที่อาจเกิดขึ้น การที่ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดที่มีขนาดเล็ก ทำให้การส่งออกของไทยอาจถูกกดดันจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ถึงแม้จะเริ่มมีสัญญาณเบื้องต้นว่าภาคการผลิตทั้งโลกอาจจะกำลังผ่านจุดต่ำสุด แต่กว่าที่แนวโน้มที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างชัดเจนจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ในขณะเดียวกัน สถานการณ์การเมืองที่ยังไม่ชัดเจนส่งผลให้การจัดทำร่างงบประมาณรัฐบาลปี 2024 ล่าช้าออกไปแล้วหลายเดือน ซึ่งหากไม่มีนโยบายสนับสนุนเพิ่มเติมออกมา อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมอาจจะแย่ลงก่อนที่จะดีขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้เรามองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะคงดอกเบี้ยในการประชุม กนง. ในรอบนี้ เรามองว่าราคาพลังงานในตลาดโลกที่ทรงตัว และเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงน่าจะเพียงพอที่จะคุมเงินเฟ้อโดยรวมได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้น เราจึงคาดว่าการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจต้องเจ็บหนักขึ้นน่าจะมีน้ำหนักมากกว่าการเตรียม “policy buffer”

- Advertisement -