บล.บัวหลวง:
Agro & Food – ราคาหมูมีชีวิตจีนฟื้นตัวช่วงต้นเดือนส.ค. (NEUTRAL)
การปรับลดการผลิตของผู้ประกอบการหมูรายใหญ่ในจีน ได้ส่งผลให้ราคาหมูมีชีวิตจีนกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงต้นเดือนส.ค. และเราคาดว่าสถานการณ์ภาวะอุปทานหมูในจีนที่ล้นตลาด ณ ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นบ้างในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 แต่ถึงแม้ว่าราคาหมูมีชีวิตจีนได้เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ราคาหมูมีชีวิตไทยก็ยังคงอยู่ในทิศทางที่เป็นขาลง และถึงแม้ว่าเรายังคงให้คำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” สําหรับหุ้น CPF แต่เรายังคงมองว่านักลงทุนไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเข้าลงทุนในหุ้น CPF ตราบใดที่ราคาหมูมีชีวิตไทยยังไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัว
ราคาหมูมีชีวิตจีนกลับมาฟื้นตัวในช่วงต้นเดือนส.ค.
เราเห็นสัญญาณบวกของราคาหมูมีชีวิตจีนที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงต้นเดือนส.ค. ที่ผ่านมา ราคาหมูมีชีวิตจีนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 27% ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน (จากระดับต่ำสุดเมื่อเร็วๆ นี้ที่ 13.81 หยวน/กก. ในวันที่ 30 มิ.ย. และ 13.93 หยวน/กก. ในวันที่ 14 ก.ค. เพิ่มไปแตะระดับสูงสุดของปีนี้ที่ 17.5 หยวน/กก. ในวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา) เนื่องจากการลดการผลิตของผู้ประกอบการหมูรายใหญ่ของจีน ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เป็นต้นไป หลังจากที่ได้ประสบกับภาวะขาดทุนติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน เนื่องจากราคาหมูจีนที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องในช่วง 14-16 หยวน/กก. ซึ่งถือว่าต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยงหมูที่ 16-17 หยวน/กก. (สําหรับผู้ประกอบการรายใหญ่) และต้นทุนการเลี้ยงหมูที่สูงกว่า 20 หยวน/กก. (สําหรับผู้ประกอบการรายเล็กถึงรายกลาง) และ ณ ราคาปัจจุบันสําหรับราคาหมูมีชีวิตจีนที่ 17.31 หยวน/กก. ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถที่จะเริ่มรับรู้กำไรบางๆ จากธุรกิจหมูในประเทศจีน เราคาดต้นทุนการเลี้ยงหมูสําหรับ CTI (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของ CPF ที่ทำธุรกิจหมูจีน) ที่ 16.5 หยวน/ กก.
การลดการผลิตของผู้ประกอบการรายใหญ่ หลังจากการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขของกระทรวงเกษตรฯ ของประเทศจีน
การลดการผลิตหมูในประเทศจีน เกิดขึ้นหลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขจากกระทรวงเกษตรฯ ของจีน (MARA) และสําหรับในไตรมาส 2/66 ผลผลิตเนื้อหมูของจีนปรับเพิ่มขึ้น 4.6% YoY (ไปอยู่ที่ 14.4 ล้านต้น) ซึ่งถือว่าเป็น ระดับที่สูงสุดในรอบทศวรรษ ในขณะที่จำนวนหมูมีชีวิตปรับเพิ่มขึ้น 1% QoQ (ไปอยู่ที่ 435.2 ล้านตัว) และสำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ผลผลิตเนื้อหมูของจีนเพิ่มขึ้น 3.2% YoY (ไปอยู่ที่ 30.3 ล้านตัน) ในขณะที่จำนวนหมูมีชีวิตที่ชำแหละแล้วเพิ่มขึ้น 2.6% YoY (ไปอยู่ที่ 375.5 ล้านตัว) เหตุผลหลักเนื่องจากการขยายจำนวนการเลี้ยงหมูมีชีวิตตั้งแต่ปี 2565 อุปสงค์การบริโภคเนื้อสัตว์ที่ดูอ่อนตัวลง เนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และราคาหมูมีชีวิตที่อ่อนตัวลงส่งผลให้เกษตรกรลดจำนวนการเลี้ยง และเร่งจํานวนการเชือดให้เพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น
เนื่องจากราคาหมูมีชีวิตจีนเฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (1 ม.ค.-4 ส.ค.) อยู่ที่ 14.78 หยวน/กก. และการคาดการณ์กรอบราคาหมูมีชีวิตจีนในช่วง 15-18 หยวน/กก. สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เราจึงยังมองว่าสมมติฐานราคาหมูมีชีวิตจีนของเราที่ 16 หยวน/กก. สำหรับในปี 2566 (หรือลดลง 14% YoY) ยังคงดูสมเหตุสมผล ราคาหมูมีชีวิตจีนเฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/66 จนถึงปัจจุบัน (1 ก.ค.-4 ส.ค.) อยู่ที่ 14.83 หยวน/กก. และถ้าหากใช้สมมติฐานว่าราคาหมูจีนอยู่ที่ 17 หยวน/กก. ในช่วงวันที่ 5 ส.ค. ถึง 30 ก.ย. ราคาหมูมีชีวิตจีนเฉลี่ยสำหรับในไตรมาส 3/66 มีแนวโน้มอยู่ที่ 16.33 หยวน/กก. ลดลง 28% YoY แต่เพิ่มขึ้น 13% QoQ ซึ่งถือว่าเริ่มเข้ามาใกล้เคียงกับจุดคุ้มทุนของ CTI ปัจจัยบวก ได้แก่ ราคาเฉลี่ยในไตรมาส 3/66 ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น QoQ ซึ่งจะนำไปสู่การคาดการณ์ว่า CTI อาจจะสามารถพลิกกลับไปเป็นกำไรได้ในไตรมาส 4/66 โดยภาพรวมแล้ว เรามองว่าสถานการณ์ภาวะอุปทานหมูล้นตลาดในประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะบรรเทาลงในไตรมาส 3/66 และราคาหมูมีชีวิตจีนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี 2566
จํานวนหมูมีชีวิตจีนคาดว่าจะปรับตัวลดลง 1.8% YoY สำหรับในปี 2566
ถ้าอ้างอิงจากรายงาน “ปศุสัตว์และสัตว์ปีก: ตลาดและการค้าโลก” เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมาของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้ทำการปรับเพิ่มประมาณการผลผลิตการบริโภค และการนำเข้าหมูจีนสำหรับในปี 2566 เพิ่มขึ้นอีก 0.9% (ไปอยู่ที่ 56 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้น 1.1% YoY) เพิ่มขึ้นอีก 1.1% (ไปอยู่ที่ 58.2 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 1.3% YoY) และเพิ่มขึ้นอีก 4.5% (ไปอยู่ที่ 2.3 ล้านต้นหรือเพิ่มขึ้น 8.2% YoY) ตามลำดับ ถ้าเทียบกับรายงานในฉบับก่อนหน้าเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2566 ในขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ยังคงประมาณการจำนวนหมูมีชีวิตจีนสำหรับในปี 2566 ไว้เท่าเดิมที่ 700 ล้านตัว (หรือลดลง 1.8% YoY) ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งชี้ว่าจำนวนการเลี้ยงหมูมีชีวิตในประเทศจีนได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2565 และมีแนวโน้มลดลงในปี 2566