สัญญาณดี THG โหมลงทุนครึ่งปีหลัง เร่งสยายปีกลุยเมียนมาร์-เวียดนาม
THG โชว์ผลงานครึ่งแรกปี 66 รายได้รวมทะลุ 5,023 ล้าน กำไรสุทธิ 402 ล้านบาท เร่งเครื่องลงทุนเทคโนโลยีหวังเจาะตลาดให้ครบทุกกลุ่ม ทั้ง B2B – B2C – B2G มั่นใจครึ่งปีหลังสัญญาณบวก พร้อมสยายปีกรุกต่างประเทศเต็มสูบ ชี้เมียนมาร์เริ่มติดลมบน ลุยปูพรมตลาดเวลเนสเวียดนาม
นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้นำธุรกิจดูแลสุขภาพอย่างครบวงจรและบริการที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ภายใต้แนวคิด “ดูแลคุณในทุกช่วงชีวิต” (Lifetime Health Guardian For All) เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ธุรกิจ THG ยังคืบหน้าในทิศทางที่ดีพร้อมลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มตามกลยุทธ์ที่วางไว้ นั่นคือ รุกตลาดด้วย Digital Health Tech และเร่งสร้าง Synergy กับ รพ.เครือข่ายและสตาร์ทอัพ พัฒนาบริการตอบโจทย์ 3 กลุ่มลูกค้าสำคัญ คือ 1.กลุ่ม B2C และ 2.กลุ่ม B2B ที่ดำเนินการผ่านบริษัทต่างๆ ในเครือ เริ่มจาก “บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด” ที่พัฒนาหลายโปรเจคท์สำคัญด้านดิจิทัล ล่าสุดคือ แอปพลิเคชัน Prompt Care ให้บริการสุขภาพแบบครบวงจร ตั้งแต่นัดหมายและให้คำปรึกษาโดยแพทย์เฉพาะทางกว่า 20 สาขา แนะนำการใช้ยาและเวชภัณฑ์พร้อมจัดส่ง เคลมประกัน การจัดเก็บเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ฯลฯ
นอกจากนี้ THG ยังขยายบริการคลินิกสุขภาพเข้าไปในสถานีบริการน้ำมันพีทีทีสเตชั่น ภายใต้ชื่อ “พรีเมียร์ เฮลท์ คลินิก” โดยการดูแลของโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่จะเริ่มเห็นรายได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป ขณะที่โครงการดูแลผู้สูงอายุ ธนบุรี เฮลท์วิลเลจ ประชาอุทิศ ก็ได้เซ็นเป็นคู่สัญญาประกันสุขภาพผู้สูงอายุกับทางเมืองไทยประกันชีวิตเพื่อขยายฐานลูกค้าด้วย
ด้านกลุ่ม B2G ก็มี “บริษัท ธนบุรี เสริมรัฐ จำกัด” ที่รับบริหารศูนย์หัวใจ 3 แห่ง และรับบริหาร รพ.อบจ.ภูเก็ต ล่าสุดในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาก็ได้ขยายจำนวนเตียงผู้ป่วยโรคหัวใจมากขึ้นกว่าเท่าตัว และยังคงมองโอกาสสนับสนุนด้านการดูแลโรคเฉพาะทางอื่นๆ อาทิ โรคไต ร่วมกับภาครัฐในอนาคต ส่วน Horizon Rehab Center ศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่มีภาวะเสพติดทุกประเภทที่ดำเนินการโดย “บริษัท ธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด” ก็มีชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาบำบัดรักษาต่อเนื่อง
“THG เชื่อว่าทิศทางธุรกิจเฮลท์แคร์ครึ่งปีหลัง 2566 ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลในระดับทุติยภูมิทั้งในกรุงเทพฯและส่วนภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันเริ่มกลับมาเติบโตเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยนับจากไตรมาส 3 เป็นต้นไปจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น อันเป็นผลจากการเข้ามารับการรักษาของกลุ่มผู้ป่วยโรคตามฤดูกาล อาทิ ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก โรคในเด็กเล็ก ได้แก่ โรคมือ เท้า ปาก และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV ซึ่ง 1 – 2 เดือนที่ผ่านมา หลาย รพ.เครือ THG เริ่มเห็นสัญญาณบวก โดยเฉพาะ รพ.ในส่วนภูมิภาคที่มีผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ามารับการรักษาจำนวนมาก ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยต่างชาติ โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว ก็เดินทางเข้ามารับการรักษาเกือบเต็มอัตราปกติ คาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องจนถึงปลายปี นอกจากนี้ THG ก็อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนต่อยอดขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์และเข้าถึงลูกค้าใน 3 ตลาดเป้าหมายนี้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีการประกาศแผนลงทุนที่ชัดเจนภายในไตรมาส 4 ปีนี้” นพ.ธนาธิป กล่าว
สำหรับ ตลาดต่างประเทศ เตรียมขยายบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมในเมียนมาร์ หลังจากโรงพยาบาล Ar Yu International ติดตลาดได้รับการยอมรับจากลูกค้าว่าเป็น รพ. ระดับท็อปในเมียนมาร์ และทำกำไรให้ THG ต่อเนื่อง ส่วน เวียดนาม ที่มีการลงทุนศูนย์บริการตรวจสุขภาพเชิงลึก BeWell Wellness Clinic ในโฮจิมินห์ก็คืบหน้าไปมากแล้ว และยังมีแผนศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายเพิ่มในอีก 2 เมือง ได้แก่ ดานัง และ โฮทรัม โดยคาดว่าเวียดนามจะเป็นอีกพื้นที่สำคัญในอนาคตของ THG เช่นเดียวกับเมียนมาร์
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 ของ THG มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,515 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 152 ล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจให้บริการทางการแพทย์และรายได้โรงพยาบาลธนบุรี ตรัง สามารถเติบโตชดเชยกับรายได้โควิด-19 ประกอบกับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นกว่าฐานปกติก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2566 ของ THG สามารถทำรายได้รวมอยู่ที่ 5,023 ล้านบาท กำไรสุทธิงวด 6 เดือน อยู่ที่ 402 ล้านบาท ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายที่วางไว้