บล.บัวหลวง:
Charoen Pokphand Foods (CPF TB/CPF.BK)
CPF – ขาดทุนหลักมากกว่าคาด; คาดขาดทุนหลัก ไตรมาส 3/66 ลดลง QoQ
ขาดทุนสุทธิต่ำกว่าคาด แต่ขาดทุนหลักมากกว่าคาด
CPF รายงานขาดทุนสุทธิไตรมาส 2/66 ที่ 792 ล้านบาท พลิกกลับจากกำไรสุทธิ 4.21 พันล้านบาทในไตรมาส 2/65 แต่ขาดทุนสุทธิลดลง 71% QoQ หากไม่รวมรายการพิเศษในไตรมาส 2/66 ซึ่งได้แก่ กําไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 80 ล้านบาท กําไรจากสินทรัพย์ชีวภาพ 1.24 พันล้านบาท (หลักๆ มาจากประเทศเวียดนาม) และกำไรจากการเทรดดิ้งหุ้น CPALL หลังหักภาษี 1.07 พันล้านบาท ขาดทุนหลักในไตรมาสนี้สูงถึง 3.18 พันล้านบาท แย่ลงเทียบกับกำไรหลัก 3.31 พันล้านบาทในไตรมาส 2/65 แต่ขาดทุนหลักลดลง 4% QoQ ขาดทุนสุทธิในไตรมาสนี้น้อยกว่าคาด 45% เนื่องจากรายการกำไรพิเศษ 2 รายการข้างต้นที่สูงกว่าคาด ในขณะที่ขาดทุนหลักมากกว่าคาด 19% เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริหารงานทั่วไปที่สูงกว่าคาด ในส่วนของยอดขาย กําไรขั้นต้นและอัตรากำไรขั้นต้นถือว่าเป็นไปตามที่เราคาดก่อนหน้า อัตรากําไรขั้นต้นที่ 11% ถือว่าใกล้เคียงกับที่เราคาดก่อนหน้าที่ 10.9% ส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัทร่วมต่ำกว่าที่เราคาด 29% เนื่องจากขาดทุนจาก CTI ที่น้อยกว่าคาด และกําไรจาก CPALL ที่มากกว่าคาด ในขณะที่ขาดทุนจาก HyLife มากกว่าที่เราคาด
ประเด็นสําคัญจากผลประกอบการ
ผลประกอบการหลักที่แย่ลง YoY เนื่องจาก: 1) ยอดขายที่ลดลง (จากราคาหมูไทยและราคาหมูในต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง) 2) อัตรากําไรขั้นต้นที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ราคาหมูที่ปรับลดลงในประเทศ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ และราคาไก่ที่ปรับลดลงในประเทศเวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ 3) ภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด และ 4) ส่วนแบ่งขาดทุนจาก CTI ที่เพิ่มขึ้น (เนื่องจากราคาหมูจีนที่ปรับตัว ลดลง) และส่วนแบ่งขาดทุนจาก HyLife ที่เพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งขาดทุนจาก CTI (ซึ่งรวมขาดทุนจากสินทรัพย์ชีวภาพ และอิงจากสัดส่วนการถือหุ้น 26.7% ของ CPF ใน CTI แสดงผลขาดทุนเพิ่มขึ้น 51% YoY แต่ขาดทุนลดลง 4% QoQ ส่วนแบ่งขาดทุนจาก HyLife แสดงผลขาดทุนเพิ่มขึ้น 60% YoY และ 108% QoQ ราคาหมูจีน ณ สิ้นไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 13.81 หยวน/กก. ลดลง 6% QoQ จาก 14.69 หยวน/กก. ณ สิ้นไตรมาส 1/66 ในขณะที่ราคาหมูจีน เฉลี่ยในไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 14.42 หยวน/กก. ลดลง 6% YoY และ 5% QoQ ขาดทุนหลักของ CPP (ถ้าไม่รวมกำไรจากสินทรัพย์ชีวภาพและอิงจากสัดส่วนการถือหุ้น 76.2% ของ CPF ใน CPP) ในไตรมาสนี้แสดงผลขาดทุนเพิ่มขึ้น 227% YoY แต่ขาดทุนลดลง 26% QoQ
แนวโน้ม
เราเห็นสองปัจจัยบวกเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แก่ 1) ราคาหมูในตลาดกทม. ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 บาท/กก. เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (จาก 65.5 บาท/กก. เพิ่มขึ้นเป็น 67.5 บาท/กก.) แต่ราคาหมูในตลาดนครปฐมยังคงยืนที่เดิมที่ 59 บาท/กก. ตั้งแต่ กลางเดือนก.ค. เป็นต้นมา เราจะจับตาดูราคาหมูไทยอย่างใกล้ชิดในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า และ 2) ราคาหมูจีนได้เริ่มเด้งกลับมาในช่วงต้นเดือนส.ค. ที่ผ่านมา จาก 14-15 หยวน/กก. เพิ่มขึ้นเป็น 17-17.5 หยวน/กก. จากการปรับลดการผลิตของผู้ประกอบการหมูรายใหญ่ในประเทศจีน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาเฉลี่ยตั้งแต่ต้น ไตรมาส 3/66 จนถึงปัจจุบัน (1 ก.ค.-11 ส.ค.) อยู่ที่ 64 บาท/กก. (สำหรับราคาหมูไทย) 42.5 บาท/กก. (สำหรับราคาไก่ไทย) 14.8 หยวน/กก. (สำหรับราคาหมูจีน) และ 61,000 ดอง/กก. (สำหรับราคาหมูเวียดนาม) เราจึงใช้สมมติฐานว่าจะมีเพียงแค่ราคาหมูจีนและราคาหมูเวียดนามเท่านั้นที่จะกลับมาฟื้นตัว QoQ สำหรับในไตรมาส 3/66 โดยอิงกับราคาเฉลี่ยสำหรับในไตรมาส 3/66 ของสำหรับ 1) ราคาหมูไทยที่ 62 บาท/กก. ลดลง 40% YoY และ 22% QoQ 2) ราคาไก่ไทยที่ 41 บาท/กก. ลดลง 12% YoY และ 4% QoQ 3) ราคาหมูจีนที่ 16.3 หยวน/กก. ลดลง 28% YoY แต่เพิ่มขึ้น 13% QoQ และ 4) ราคาหมูเวียดนามที่ 61,000 ดอง/กก. ลดลง 3% YoY แต่เพิ่มขึ้น 11% QoQ เราประมาณการขาดทุนหลักที่ 1.5 พันล้านบาทสำหรับในไตรมาส 3/66 พลิกกลับจากกำไรหลัก 5.53 พันล้านบาทในไตรมาส 3/65 (แต่ขาดทุนหลักลดลง 53% QoQ เนื่องจากผลประกอบการของทั้ง CTI และ CPP ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น)
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป
เรายังคงประมาณการขาดทุนสุทธิและขาดทุนหลักสำหรับปี 2566 ไว้เท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
คําแนะนํา
ถึงแม้ว่าราคาหมูไทยและราคาหมูจีนได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ในช่วงต้นเดือนส.ค. ที่ผ่านมา แต่การปรับตัวดีขึ้นของราคาในทั้งสองประเทศถือว่าเป็นเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น เรามองว่ายังคงไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเข้าลงทุนในหุ้น CPF จนกว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของราคาหมูไทยที่กลับมาเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน