บล.บัวหลวง:

Agro & Food – ราคาหมูมีชีวิตไทยฟื้นตัวในช่วงกลางเดือนส.ค. (NEUTRAL)

เนื่องจากราคาหมูไทยที่กลับมาฟื้นตัวในช่วงกลางเดือนส.ค. เราจึงมองว่าธุรกิจหมูไทยเริ่มที่จะดูดีขึ้นในระยะสั้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เรายังคงมุมมองที่ระมัดระวังสำหรับแนวโน้มในระยะยาว เนื่องจากความไม่แน่นอนของอุปทานหมูรอบใหม่ที่จะเริ่มเข้าสู่ตลาดในปี 2567 หรือหลังจากนั้น แต่ในช่วงระหว่างนี้ เรายังคงแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” สําหรับหุ้น CPF BTG และ TFG เนื่องจากการฟื้นตัวของราคาหมูไทยในช่วงระยะสั้น ทั้งนี้สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ ปศุสัตว์ เรายังคงชื่นชอบ GFPT มากที่สุดในกลุ่ม

ราคาหมูมีชีวิตไทยเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนส.ค.

ราคาหมูมีชีวิตในตลาดนครปฐมปรับตัวเพิ่มขึ้น 15% ในช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา จากระดับต่ำสุดเมื่อเร็วๆ นี้ที่ 59 บาท/กก. (17 ก.ค.-14 ส.ค.) เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 64 บาท/กก. (15-20 ส.ค.) และ 68 บาท/กก. (21-23 ส.ค.) ในขณะที่ราคาหมูมีชีวิตในตลาดกทม. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% ในช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา จากระดับต่ำสุดเมื่อเร็วๆ นี้ที่ 65.5 บาท/กก. (11 ก.ค.-10 ส.ค.) เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 67.5 บาท/กก. (11-16 ส.ค.) และ 69.5 บาท/กก. (17-23 ส.ค.) ในขณะเดียวกันราคาลูกหมูยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1,400 บาท/ตัว ตั้งแต่ช่วงวันที่ 10 ก.ค. จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2562 เป็นต้นมา เรามองว่าการฟื้นตัวของราคาหมูมีชีวิตไทยถือว่าเป็นปัจจัยบวกระยะสั้น ทั้งนี้ เรามองว่าราคาหมูมีชีวิตไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงกลางเดือนก.ค. จนถึงกลางเดือนส.ค. ที่ผ่านมา

สถานการณ์หมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายจะค่อยๆ ทยอยปรับตัวดีขึ้น

เรามองว่าราคาหมูมีชีวิตที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวล่าสุดในเดือนส.ค. เป็นผลมาจาก (1) น้ำหนักหมูของการเลี้ยงทั้งอุตสาหกรรมที่ปรับลดลงจาก 120 กก./ ตัว เหลือ 105-107 กก./ตัว ส่งผลให้อุปทานหมูโดยรวมปรับลดลง (2) ผู้ประกอบการหมูขนาดเล็กถึงขนาดกลางเผชิญกับภาวะขาดทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เริ่มลดจํานวนแม่พันธุ์หมู และทำการเร่งเชือดหมูมีชีวิตที่มีน้ำหนักน้อย (3) การกลับมาส่งออกหมูมีชีวิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาหมู มีชีวิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ในประเทศจีน เวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ภาวะอุปทานหมูล้นตลาดในประเทศไทยเริ่มลดลง และ (4) สถานการณ์การลักลอบนำเข้าหมูอย่างผิดกฎหมายที่จะค่อยๆ ทยอยปรับตัวดีขึ้น  เนื่องจากการนําเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแช่แข็งล็อตใหม่ทุกประเภทจะต้องผ่านช่อง “Red Line (หรือบังคับต้องเปิดให้ตรวจเช็ค)” ของจุดตรวจของกรมศุลกากรขาเข้า ส่งผลให้ปริมาณการลักลอบนําเข้าหมูผิดกฎหมายล็อตใหม่น่าจะทําได้ยากขึ้น โดยเราคาดว่ามีแนวโน้มที่จะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 และเนื่องจากราคาหมูในยุโรปและประเทศบราซิล ณ ปัจจุบันสูงกว่าราคาหมูในประเทศไทย ดังนั้นเราจึงมองว่าไม่มีแรงจูงใจแต่อย่างใดที่จะนำเข้าหมูมาเพื่อขายในประเทศไทย และเนื่องจากหมูที่ลักลอบนำาเข้ามาแล้ว ณ ปัจจุบันซึ่งถูกเก็บเอาไว้ในห้องเย็นจะค่อยๆ ถูกทยอยปล่อยออกสู่ตลาดไปจนถึงปลายปี 2566 เราจึงมองว่าประเด็นเรื่องการลักลอบนำาเข้าหมูเถื่อนจะไม่ใช่ปัญหาหลักอีกต่อไปสําหรับในปี 2567

กลุ่มธุรกิจหมูไทยดูดีขึ้นในระยะสั้น แต่…

เนื่องจากราคาหมูมีชีวิตไทยได้ฟื้นตัวกลับไปที่ 68-70 บาท/กก. ซึ่งถือว่าเข้ามาใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างเช่น CPF (72-74 บาท/กก.) และ BTG (68-70 บาท/กก.) ยกเว้น TFG (ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า 60 บาท/กก.) เราจึงคาดว่าธุรกิจหมูไทยน่าจะเข้าใกล้จุดคุ้มทุนหรือขาดทุนเพียงเล็กน้อยสำหรับในช่วงครึ่งหลังของไตรมาส 3/66 เทียบกับขาดทุนอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของไตรมาส 3/66

ยังคงมุมมองระมัดระวังในระยะยาวจากความเสี่ยงของอุปทานหมูรอบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด

เรายังคงมุมมองอย่างระมัดระวังว่าอุปทานหมูขุนของทั้งอุตสาหกรรมอาจจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูที่จำนวน 20-21 ล้านตัวภายในปี 2567 หรือหลังจากนั้น (ซึ่งอุปทานใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นรอบนี้คาดว่าจะมาจากผู้ประกอบการหมูรายเล็กจนถึงรายกลาง) ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาหมูมีชีวิตไทยปรับตัวลดลงอีกครั้งในปี 2567 ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงในระยะยาวสำหรับกลุ่มธุรกิจหมูไทย หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูอย่างหนักในช่วงก่อนหน้า แต่โดยภาพรวมแล้ว ภายใต้สถานการณ์ที่หากไม่มีการลักลอบนำเข้าหมูอย่างผิดกฎหมายสำหรับในปี 2557 เรามองว่าราคาหมูมีชีวิตไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวกลับไปอยู่ที่ 70-80 บาท/กก. ได้ภายในปี 2567 จากจุดต่ำสุดที่ 59 บาท/กก. ในช่วงกลางเดือนก.ค. จนถึงช่วงกลางเดือนส.ค. 2566

- Advertisement -