บล.บัวหลวง:

Charoen Pokphand Foods (CPF TB/CPF.BK)

CPF – มีมุมมองเชิงบวกต่อราคาหมูไทยและราคาหมูจีนมากขึ้นในครึ่งหลังปี 2566

เรามีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อธุรกิจหมูไทยของ CPF โดยมีปัจจัยหนุนจากราคาหมูมีชีวิตไทยที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนส.ค. ซึ่งน่าจะบ่งชี้เป็นนัยว่าราคาหมูมีชีวิตไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนก.ค. และมีมุมมองบวกมากขึ้นเช่นกันต่อธุรกิจหมูจีน เนื่องจากราคาหมูจีนที่เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เรายังคาดว่าจะเห็นการพลิกกลับมาเป็นกำไรของทั้ง HyLife และธุรกิจในประเทศอินเดียในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เรายังคงคําแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” สําหรับหุ้น CPF เนื่องจากการพลิกกลับอย่างแข็งแกร่งไปเป็นกําไรในปี 2567

ธุรกิจหมูจีนที่คาดจะปรับตัวดีขึ้น QoQ ในไตรมาส 3/66

เราคาดว่าผลประกอบการของ CTI ซึ่งประกอบธุรกิจหมูในประเทศจีนที่ CPF ถือหุ้นโดยทางอ้อมในสัดส่วน 26.7% มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น QoQ หรือขาดทุนลดลง QoQ สําหรับในไตรมาส 3/66 เนื่องจากราคาหมูจีนที่กลับมาเด้งแรง ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.ค. ราคาหมูมีชีวิตในประเทศจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น 22% ภายในระยะเวลาเดือนครึ่ง (จากระดับต่ำสุดล่าสุดที่ 13.93 หยวน/กก. เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นไปแตะระดับสูงสุดล่าสุดที่ 17.5 หยวน/กก. เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ก่อนที่จะเคลื่อนไหวในกรอบที่ออกด้านข้างมาอยู่ที่ 16.99 หยวน/กก. เมื่อวันที่ 30 ส.ค.) เราคาดราคาหมูจีนเฉลี่ยที่ 16.4 หยวน/กก. ในไตรมาส 3/66 หรือฟื้นตัวเพิ่มขึ้น 14% QoQ และคาดส่วนแบ่งขาดทุนจาก CTI มีแนวโน้มลดลง QoQ ในไตรมาส 3/66 (เทียบกับต้นทุนการเลี้ยงหมูจีน ณ ปัจจุบันที่ 16.5-17 หยวน/กก.) ผู้บริหารมองว่าราคาหมูจีนจะอยู่ในกรอบ 17-18 หยวน/กก. จนถึงสิ้นปี 2566 และอัตรากำไรของธุรกิจหมูจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอีกด้วยจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง และต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ลดลงจากการขยายกำลังการผลิต ผู้บริหารคาดว่า CTI จะพลิกกลับไปรายงานเป็นกําไรในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และสําหรับราคาหมูเวียดนาม เราใช้สมมติฐานราคาหมูเวียดนามเฉลี่ยที่ 6 หมื่นดอง/กก. ในไตรมาส 3/66 ลดลง 4% YoY แต่เพิ่มขึ้น 9% QoQ ซึ่งส่งสัญญาณของการฟื้นตัว QoQ ด้วยเช่นกัน

ราคาหมูมีชีวิตไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนก.ค. และการฟื้นตัวเริ่มตั้งแต่ กลางเดือนส.ค.

เรามองว่าธุรกิจหมูไทยของ CPF มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของไตรมาส 3/66 เนื่องจากราคาหมูมีชีวิตไทยที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ กลางเดือนส.ค. ราคาหมูมีชีวิตไทยเฉลี่ย (ใช้ราคาเฉลี่ยระหว่างตลาดกทม. และตลาดนครปฐม) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13% ภายในระยะครึ่งเดือนที่ผ่านมา (จากจุดต่ำสุดล่าสุดที่ 62 บาท/กก. ในช่วงวันที่ 17 ก.ค.-10 ส.ค. ไปแตะระดับสูงสุดล่าสุดที่ 70 บาท/กก. ในช่วง 28-30 ส.ค.) และ ณ ปัจจุบันเราคาดราคา หมูมีชีวิตไทยเฉลี่ยที่ 65 บาท/กก. ลดลง 37% YoY และ 18% QoQ ซึ่งถือว่าดีกว่าสมมติฐานก่อนหน้าของเราที่ 62 บาท/กก. สำหรับราคาหมูมีชีวิตไทยเฉลี่ยในไตรมาส 3/66

ถึงแม้ว่าธุรกิจหมูไทยจะยังคงเป็นตัวฉุดผลประกอบการในไตรมาส 3/66 (เทียบกับต้นทุนการเลี้ยงหมูไทย ณ ปัจจุบันของ CPF ที่ 72-74 บาท/กก.) แต่เราคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัว QoQ ของธุรกิจหมูไทยในไตรมาส 4/66 ภายใต้สมมติฐานว่าราคาหมูไทยยังคงทรงตัวในกรอบ 70-75 บาท/กก. ในไตรมาส 4/66 ผู้บริหารมีมุมมองเชิงบวกต่อราคาหมูมีชีวิตไทย และคาดว่าราคาหมูมีชีวิตไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 80 บาท/กก. ในปี 2567 จากปัจจัยหนุนได้แก่ สถานการณ์ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนที่คลี่คลายลง จำนวนแม่หมูและจำนวนหมูขุนที่ลดลงของผู้ประกอบการรายย่อยเนื่องจากขาดทุนจำนวนมาก และอัตรากำไรของธุรกิจหมูไทยที่ดีขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง (ข้าวโพดในประเทศและกากถั่วเหลืองในประเทศ) และการหันเปลี่ยนไปใช้ข้าวสาลีแทน

HyLife คาดพลิกเป็นกำไรในไตรมาส 4/66 และธุรกิจในอินเดียพลิกเป็นกำไรในครึ่งหลังปี 2566

ผู้บริหารคาด HyLife มีแนวโน้มพลิกกลับไปเป็นกำไรในไตรมาส 4/66 เนื่องจากการตั้งสำรองด้อยค่าเงินลงทุนของ HyLife ในประเทศสหรัฐฯ ไปแล้วราว 300 ล้านบาท (ถ้าอิงตามสัดส่วนการถือหุ้น 50.1% ของ CPF ใน HyLife) ซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานของ HyLife ในประเทศสหรัฐฯ อีกต่อไป นอกจากนี้ เรายังคาดว่า EBITDA ของ Bellisio จะค่อยๆ ทยอยปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการลดต้นทุน และผลประกอบการในประเทศอินเดียมีแนวโน้มที่จะพลิกกลับไปเป็นกำไรได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เนื่องจากผลขาดทุนในส่วนของธุรกิจปศุสัตว์หรือสัตว์บกที่ลดลงจากการปรับไปใช้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ และธุรกิจกุ้งที่ได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่พลิกกลับเป็นกำไรแล้วในช่วงปลายปี 2565

- Advertisement -