บล.บัวหลวง: 

Agro & Food – น้ำตาล: อินเดียจำกัด (หรือห้าม) ส่งออกน้ำตาล—ปัจจัยบวกต่อราคาน้ำตาลโลก (NEUTRAL) 

เรามองว่าปัจจัยพื้นฐานของน้ำตาลยังคงแข็งแกร่งจนถึงปัจจุบัน โดยมีปัจจัยหนุนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติสําหรับในประเทศอินเดียและประเทศไทย นอกจากนี้ประเด็นบวกยังจะมาจากการจํากัด (หรืออาจจะถูกห้าม) ส่งออกน้ำตาลของประเทศอินเดีย สําหรับในปี 2566/67 ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลที่คาดว่าจะลดลงของทั้งประเทศไทยและอินเดีย และดุลน้ำตาลโลกที่มีแนวโน้มพลิกกลับจากเกินดุลในปี 2565/66 ไปเป็นขาดดุลในปี 2566/67 เรายังคงคําแนะนํา “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น KSL

ประเด็นข่าวเรื่องอินเดียระงับการส่งออกน้ำตาลจะเป็นปัจจัยบวกหนุนราคานํ้าตาลโลก

อ้างอิงจาก สํานักข่าวรอยเตอร์ รัฐบาลอินเดียคาดว่าจะห้ามโรงงานน้ำตาลของประเทศอินเดียทําการส่งออกน้ำตาลสําหรับฤดูกาลปี 2566/67 ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนต.ค. 2566 เป็นต้นไป ซึ่งถือว่าเป็นการห้ามส่งออกน้ำตาลเป็น ครั้งแรกในรอบ 7 ปี เหตุผลเนื่องจากผลผลิตอ้อยต่อพื้นที่ปลูกและผลผลิตอ้อยโดยรวมที่ลดลง ซึ่งเกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 50% สำหรับเขตปลูกอ้อยหลักๆ ของพื้นที่ทางภาคตะวันตกของรัฐมหาราษฎระและพื้นที่ทางภาคใต้ของรัฐกรณาฏกะ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้นว่ามีอุปทานและสต็อกน้ำตาลเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ และเป็นการสร้างเสถียรภาพของราคาน้ำตาลในประเทศเพื่อควบคุม อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในประเทศอินเดีย และเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศอินเดียได้มีการห้ามส่งออกข้าวขาวประเภทที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ และได้ กําหนดอัตราภาษี 40% สําหรับการส่งออกหัวหอม และถ้าอ้างอิงจากข้อมูล ของสมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดีย (ISMA) ประเทศอินเดียได้ทําการส่งออก นํ้าตาลจํานวน 11.2 ล้านต้นในปี 2564/65 จํานวน 6.56 ล้านตันในปี 2565/66 และคาดว่าจะส่งออกน้ำตาลจํานวน 6 ล้านต้นในปี 2566/67 (ภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการห้ามส่งออกตั้งแต่เดือนต.ค. 2566)

สมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดียได้กล่าวว่ารัฐบาลอินเดียจะทำการตัดสินใจว่าจะจำกัดการส่งออกน้ำตาลสำหรับฤดูกาลปี 2566/67 หรือไม่หลังจากที่ได้ทำการประเมินผลผลิตอ้อยทั้งหมดครั้งสุดท้ายในช่วงปลายเดือนก.ย. หรือต้นเดือนต.ค. ดังนั้น ณ ปัจจุบันยังถือว่าเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่าการห้ามส่งออกน้ำตาลของรัฐบาลอินเดียจะเกิดขึ้นจริงในมุมมองของเรา มีความเป็นไปได้ที่ประเทศอินเดียอาจจะสั่งห้ามส่งออกน้ำตาลบางส่วนเพื่อที่จะควบคุมราคาน้ำตาลในประเทศไม่ให้ปรับตัวเพิ่มมากขึ้นจาก ณ ระดับปัจจุบัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงมุมมองว่าสต็อกน้ำตาลของประเทศอินเดียจะมีแนวโน้มตึงตัวไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2567 โดยปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จนถึงไตรมาส 1/67 มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกอ้อยสำหรับในปี 2567/68 ของประเทศอินเดียปรับตัวลดลง

ปริมาณน้ำฝนในประเทศอินเดียสำหรับในเดือนส.ค. ถือว่าต่ำสุดตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

กรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศอินเดียได้กล่าวว่าปริมาณน้ำฝนไม่ได้กลับมาดีอย่างที่เคยคาดไว้ก่อนหน้า สําหรับในเดือนส.ค. ประเทศอินเดียได้ประสบกับภาวะภัยแล้งยาวนานที่สุดเป็นเวลา 11 วันติดต่อกันสำหรับใน เดือนส.ค. นอกจากนี้เดือนส.ค. ในปี 2566 ยังถือว่าเป็นเดือนที่แห้งแล้งและร้อนที่สุดของประเทศอินเดียในรอบ 122 ปี ในขณะที่ปริมาณน้ำฝนในเดือนส.ค. สำหรับในประเทศอินเดียอยู่ที่ระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2548 เป็นต้นมา  ปริมาณน้ำฝนทั้งหมดของประเทศอินเดียสำหรับในช่วงครึ่งแรกของเดือนส.ค. ต่ำกว่าค่าปกติคิดเป็น 35% และจนถึงขณะนี้ ปริมาณน้ำฝนในรัฐมหาราษฏระยังคงไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก และคาดว่าผลผลิตอ้อยสำหรับรัฐมหาราษฏระมีแนวโน้มลดลง 15-20% เราเชื่อว่าปริมาณน้ำฝนจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าปกติไปจนถึงเดือนก.ย. 2566 (ซึ่งถือว่าเป็นเดือนที่สิ้นสุดฤดูฝนในประเทศอินเดีย) เนื่องจากผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่

คาดดุลน้ำตาลโลกปี 2566/67 พลิกกลับไปเป็นขาดดุล จากที่เกินดุลในปี 2565/66

สำหรับในเดือนส.ค. 2566 องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISO) ได้คาดการณ์ขาดดุลน้ำตาลโลกที่ 2.12 ล้านตันสำหรับในปี 2566/67 และปรับลดประมาณการเกินดุลสำหรับในปี 2565/66 ลงจาก 0.85 ล้านตัน เหลือ 0.493 ล้านตัน Czarnikow ซึ่งเป็นเทรดเดอร์และโบรกเกอร์น้ำตาลระหว่างประเทศชั้นนำ ยังคงประมาณการขาดดุลน้ำตาลโลกสำหรับปี 2566/67 ไว้ที่ 0.9 ล้านตัน ในขณะที่ CovrigAnalytics ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำวิจัยธุรกิจน้ำตาลและเอทานอล ก็ได้คาดการณ์ขาดดุลน้ำตาลโลกที่ 2.2 ล้านตันสําหรับในปี 2566/67 เรามองว่าประมาณการตัวเลขน้ำตาลโลกที่ขาดดุลข้างต้นจะเป็นปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนให้ราคานํ้าตาลโลกยืนในระดับสูง

- Advertisement -