บล.บัวหลวง:

Agro & Food – เร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน (NEUTRAL)

เราเชื่อว่าการเข้ามาปราบปราม และจัดการปัญหาลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนของหน่วยงานภาครัฐอย่างจริงจังในครั้งนี้จะหนุนให้ราคาหมูไทยกลับไปอยู่ในระดับปกติ (ภายใต้สมมติฐานต้นทุนอาหารสัตว์ ณ ปัจจุบัน) ในขณะที่แนวทางของหน่วยงานภาครัฐที่จะทำการลดราคาสินค้าปศุสัตว์ คาดว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากสถานการณ์ ณ ปัจจุบันที่ทั้งอุตสาหกรรมยังคงเผชิญกับภาวะขาดทุน เรายังคงคําแนะนํา “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น CPF BTG TFG และ GFPT

การจัดการปัญหาลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนถือเป็นวาระเร่งด่วน

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้นํามั่นสัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 3 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ปัญหาด้านการทำประมง และปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนอย่างผิดกฎหมาย โดยรมต. ได้ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนให้เสร็จสิ้นภายในอีก 2 เดือนข้างหน้า หมูเถื่อนได้มีการลักลอบนําเข้าผ่านท่าเรือที่แหลมฉบัง และถูกจำแนกให้เป็นสินค้าที่ผิดประเภท ได้แก่ สินค้าโพลีเมอร์และอาหารทะเลแทนที่จะเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ซึ่งได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2565 และแหล่งที่มาของหมูเถื่อน ได้แก่ ประเทศบราซิล อาร์เจนติน่า เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี ต้นทุนของการผลิตหมูเถื่อนลักลอบนําเข้าอยู่ที่ประมาณ 40-50 บาท/กก. เทียบกับต้นทุนการเลี้ยง ณ ปัจจุบันซึ่ง อยู่ที่ 80-85 บาท/กก. สําหรับผู้ประกอบการหมูไทยขนาดเล็กถึงขนาดกลาง (ถ้าอิงกับต้นทุนการเลี้ยงหมูไตรมาส 3/66 ที่ประกาศไว้ที่ 80.8 บาท/กก. โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย)

โดยภาพรวมแล้ว เราเชื่อว่าปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมีแนวโน้มที่จะคลี่คลายดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และปัญหาดังกล่าวคาดว่าจะจบลงไปในปี 2567 เนื่องจาก 1) หน่วยงานราชการไทยและหน่วยงานภาครัฐ (ซึ่ง รวมถึงกรมศุลกากรไทย) ได้ให้ความสําคัญและลงมาแก้ไขปัญหานี้มากขึ้น โดยการนําเข้าผลิตภัณฑ์หมูทุกประเภทต้องผ่านการตรวจเช็คจากด่านศุลกากรอย่างละเอียดถี่ถ้วน และ 2) ราคาหมูที่ปรับตัวสูงขึ้นสำหรับในต่างประเทศและในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ณ ปัจจุบัน ส่งผลให้การเก็งกำไร ด้านราคาลดลง และปริมาณการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนรอบใหม่ที่มีแนวโน้ม ลดลง และเนื่องจากสถานการณ์การนำเข้าหมูเถื่อนที่ผิดกฎหมายซึ่งมี แนวโน้มที่จะคลี่คลายลง เราจึงเชื่อว่าราคาหมูไทยมีแนวโน้มกลับขึ้นไปสู่ระดับภาวะปกติที่ 75-80 บาท/กก. ในปี 2567

ราคาปศุสัตว์ ณ ปัจจุบันไม่ได้เอื้อต่อการแทรกแซงด้านราคาของหน่วยงานภาครัฐ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ล่าสุดได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในไปทำการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และหาแนวทางลดราคาลง หลังจากที่รัฐบาลได้ปรับลดราคาค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซลลงภายในเดือนนี้ การวิเคราะห์และประเมินของกรมการค้าภายในคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนต.ค. สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันประมาณ 20 รายการได้แก่ ข้าว เนื้อไก่ เนื้อหมู และไข่ คาดว่าจะทำการปรับลดราคาลงจากเดิม ความพยายามดังกล่าวนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะแบ่งเบาภาระทางการเงินของภาคประชาชน และภายในสัปดาห์หน้าจะเรียกผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมมาพูดคุยหาทางออกในเรื่องดังกล่าว

ถ้าพิจารณาจากต้นทุนการเลี้ยงของทั้งอุตสาหกรรมไก่ไทยและหมูไทย ณ ปัจจุบันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดย ต้นทุนการเลี้ยงสำหรับธุรกิจหมูไทยที่สูงกว่า 80 บาท/กก. และต้นทุนการเลี้ยงสำหรับธุรกิจไก่ไทยที่สูงกว่า 42 บาท/กก. ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ยังคงยืนในระดับสูง (ถึงแม้ว่าราคาข้าวโพดในประเทศ และราคากากถั่วเหลืองในประเทศจะอ่อนตัวลงบ้างก็ตามในช่วงนี้) และเมื่อเทียบกับราคาหมูไทย ณ ปัจจุบัน (66 บาท/กก.) และราคาไก่ไทย (36-40 บาท/กก.) เรามองว่าผู้ประกอบการไก่ไทยและหมูไทยส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กถึงรายกลาง) สำหรับทั้งสองอุตสาหกรรมยังคงประสบกับภาวะขาดทุน ด้วยเหตุนี้ การปรับลดราคาหมูไทยและราคาไก่ไทยจากการเข้าแทรกแซงราคาของหน่วยงานภาครัฐ จึงถือว่าเป็นการทำลายทั้งสองอุตสาหกรรม โดยภาพรวม เรายังคงเชื่อว่าในภาวะที่ดีที่สุด ราคาตลาดสําหรับสินค้าปศุสัตว์ควรจะถูกกำหนดโดยกลไกอุปสงค์และอุปทานมากกว่าการเข้าแทรกแซงราคาของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ประสบผลสำเร็จสำหรับการแทรกแซงราคาของรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่ให้ใช้ราคาแนะนำ หรือการเข้ามาตรึงราคาสำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์ทั้งหมูและไก่ในช่วงต้นปี 2565

- Advertisement -