บล.ฟิลลิป:

ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น – STEC Backlog ในมือมีมากถึง 103,247 ลบ.

ผลการดำเนินงาน 2Q66 ไม่สดใส

ในงวด 2Q66 บริษัทเผยรายได้รวมอยู่ที่ 7,397 ล้านบาท (+7.5%y-y, +14.4%q-q) ตามการรับรู้ของ โครงการที่แล้วเสร็จที่เพิ่มขึ้นตามงานในมือที่ทยอยมาเร่งตัว อย่างไรก็ตาม ต้นทุนโครงการเร่งตัวมากกว่า โดยใน 2Q66 อยู่ที่ 7,291 ล้านบาท (+8.8%y-y, +16.6%q-q) โดยเป็นผลจากวัสดุก่อสร้าง ในช่วง 2Q66 ที่ผ่านมานั้นอยู่ระดับสูง สอดคล้องกับเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกดดันด้านต้นทุนของบริษัท และสะท้อนจากอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) ลดจากช่วง 1Q66 ที่ระดับ 6.29% สู่ 2Q66 ที่ระดับ 4.39% ด้านกำไรสุทธิ 2066 ทำได้ที่ 154 ล้านบาท (-11%y-y, -10%q-q) รวมเป็น 1H66 กำไร ที่ 325 ล้านบาท (-19%y-y) และอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ลดลงจาก 1Q66 ที่ 2.65% สู่ 2Q66 ที่ 2.08%

แม้คาด 2H66 จะเติบโต แต่การเมืองกดดัน ทำให้ต้องลุ้นงานประมูลโครงการรัฐในปีหน้า

ทางฝ่ายคาด 2H66 ผลการดำเนินงานจะยังมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าช่วง 1H66 จากงานโครงการในมือที่เป็น Seasonal ของการส่งมอบโครงการ นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์จากการได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งจะเป็นบวกต่อการเดินหน้าเปิดการประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และจะทำให้บริษัทมีโอกาสได้งานในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงระยะสั้นจากความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้โครงการต่าง ๆ อาจประวิงไปสู่ช่วงปีหน้า และยังมีความเสี่ยงจากต้นทุนค่าแรงอาจเพิ่มสูงขึ้น หากมีการอนุมัตินโยบายเพิ่มค่าแรงของรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ตาม ในโครงการใหม่ที่รอการประมูลจะรวมผลค่าแรงใหม่ไปแล้ว ทำให้คาดว่าโครงการใหม่ที่จะเปิดประมูลจะไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งบริษัทมีโครงการที่รอประมูล ได้แก่ งานโยธารถไฟฟ้า, งานมอเตอร์เวย์สาย M5 และ M7, ทางยกระดับ ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ และงาน Power Plant เป็นต้น ด้าน Backlog สิ้นสุดงวด 2Q66 มีอยู่ที่ 1.03 แสนล้านบาท

ประเมินราคาพื้นฐานในปี 2567 ที่ 13.90 บาท

STEC มีจุดเด่นที่ Backlog ในมือมีสูงถึง 103,247 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์ที่โครงการประมูลภาครัฐปีนี้ถูกเลื่อนไปได้ ขณะที่ค่าแรงที่จ่อปรับขึ้น แม้กระทบต่องานในมือเดิม แต่มองไม่มากนัก และการเลื่อนประมูลโครงการภาครัฐไปสู่ปีหน้า ทำให้คาดโครงการใหม่ ๆ จะรับรู้ราคาที่ชดเชยกับค่าแรงที่ปรับขึ้นตามไปด้วย ในส่วนของกำไร ทางฝ่ายคาดปี 2566 ที่ 663 ล้านบาท (-22.7%y-y) คิดเป็น EPS 0.43 บาทต่อหุ้น ส่วนสำหรับกำไรปี 2567 ทางฝ่ายคาดที่ 753 ล้านบาท (+13.6%y-y) มองราคาพื้นฐานในปี 2567 ที่ 13.90 บาท อิงวิธี P/BV เหมาะสมที่ 1.07X

ภาพรวมการประกอบธุรกิจ

หลังจากที่เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ผ่านพ้นจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจชะลอตัวลง กอปรกับเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ทำให้ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ต้นทุนน้ำมันและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ปรับตัวขึ้นอีกครั้งในช่วง มี.ค.- เม.ย. 2566 อย่างไรก็ตาม ในช่วงตั้งแต่เดือน พ.ค. 2566 เป็นต้นมา ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเริ่มย่อตัวลงต่อเนื่อง สู่เดือน ส.ค. ระดับ 112.5 จุด ทำให้ช่วยลดแรงกดดัน ด้านต้นทุนวัสดุก่อสร้างของธุรกิจลงไปได้บ้าง แต่ยังเหลือนโยบายค่าแรงที่ยังอาจกระทบ หากรัฐบาลมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสู่ 400 บาทต่อวัน ซึ่งจะกระทบต่อการปรับ Spread ส่วนต่างระหว่างแรงงานที่ไร้ฝีมือกับแรงงานฝีมือ

ภาพรวมการประกอบธุรกิจ และลักษณะธุรกิจ

สามารถแบ่งรายได้ออกเป็น 3 ส่วนดังนี้

1. รายได้จากสัญญาก่อสร้าง เป็นสัดส่วนหลักกว่า 98.9% ของรายได้รวม โดยแบ่งเป็น

1.1) โครงการโครงสร้างพื้นฐาน สัดส่วน 58.2% ได้แก่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน, ถนน, ทางด่วน, ทางยกระดับ และสะพาน

1.2) โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและกลุ่มพลังงาน สัดส่วน 24.6% ได้แก่ โรงไฟฟ้า และโรงกลั่น โดย ณ สิ้นงวดปี 2565 มีงานในมือเป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคเอกชน ขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ (SPP และ IPP), โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาดเล็กมาก (VSPP) ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม และพลังงานชีวมวล เป็นต้น

1.3) โครงการอาคารก่อสร้าง สัดส่วน 2.8% ได้แก่ อาคารสำนักงาน, ศูนย์ประชุม, ศูนย์นิทรรศการ, โรงพยาบาล, คอนโดมิเนียม และอาคารพิเศษ โดย ณ สิ้นงวดปี 2565 มีงานในมือเป็น โครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา และโครงการศูนย์ราชการ เฟส 2 เป็นต้น

1.4) โครงการก่อสร้างอุตสาหกรรม สัดส่วน 2.8% ได้แก่ โรงงานปิโตรเคมี, โรงงานอุตสาหกรรม, โครงสร้างเหล็กและท่อ, Pre-Assembly และงาน Module โดยเป็นไปตามการผลักดันของรัฐบาลให้มีโครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะทำให้เกิดโครงการลงทุนของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคต เพิ่มมากขึ้น

1.5) โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม สัดส่วน 1.6% ได้แก่ ระบบบำบัดน้ำเสีย, ระบบประปา และ ระบบชลประทาน โดยสิ้นงวดปี 2565 มีโครงการในมือได้แก่ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำ จากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา, โครงการคลองระบายน้ำหลาก (บางบาล บางไทร) และโครงการระบบบำบัดน้ำเสียธนบุรี (สัญญาที่ 3)

2. รายได้ค่าเช่า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.2% ของรายได้รวม

3. รายได้อื่น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.8% ของรายได้รวม

ลักษณะลูกค้าและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

บริษัทมีความสามารถในการรับงานก่อสร้างที่หลากหลายประเภท ลูกค้างานก่อสร้างของบริษัท จึงมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามประเภทงาน และบริษัทมีความสามารถในการรับงานก่อสร้างได้จากทั้งลูกค้าภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน บริษัทมีเป้าหมายในการรับงานก่อสร้างจากภาครัฐ เช่นโครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาค ตะวันออก (EEC), งานก่อสร้างถนน, ทางด่วนพิเศษ, โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น ลูกค้าอุตสาหกรรม และเอกชน งวดปี 2565 มีสัดส่วน 61.0% และลูกค้าโครงการสาธารณะ มีสัดส่วน 39.0%

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย มี 2 ประเภท ได้แก่

1. งานภาครัฐ (งานราชการและรัฐวิสาหกิจ) ประกอบไปด้วย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่ง ประเทศไทย, กรุงเทพมหานคร, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, กรมทางหลวงชนบท, กรมชลประทาน, กรมทางหลวง, การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น

2. งานภาคเอกชน ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดกลาง, โรงงานอุตสาหกรรม โดยเน้นงานก่อสร้างจากบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่จากต่างประเทศ เป็นต้น

สภาวะอุตสาหกรรม

ภาพรวมอุตสาหกรรมปี 2566 นี้มีการชะลอตัวลง จากปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ ซึ่งประเทศ ไทยหลังการเลือกตั้งรัฐบาลในวันที่ 17 พ.ค. 2566 ไปนั้น กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าเกือบ 3 เดือน จากปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ทำให้เหล่า ส.ว. ไม่โหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล และในที่สุดได้นายเศรษฐา ทวีสิน ผ่านเสียงโหวตในภายหลัง ทำให้กระบวนการเลือกนายกฯถูกล่าช้าออกไป และได้นายกฯ ในวันที่ 23 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามหลังได้รัฐบาลใหม่ ยังเน้นไปที่โครงการช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วนเป็นอันดับแรก เช่น มาตรการลดค่า ครองชีพ, ลดค่าไฟฟ้า, ลดราคาน้ำมันดีเซล 2 บาทต่อลิตร, ตรึงราคาก๊าซ LPG เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น การฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน เป็นต้น ส่วนในปี 2567 คาดว่าจะสามารถออกนโยบาย Digital Wallet เพื่อช่วยกระตุ้นภาคการบริโภคได้ต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมนโยบายภาครัฐในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การบริโภคเป็นสำคัญ และทำให้โครงการภาครัฐปีนี้เกือบทั้งหมดถูกเลื่อนออกไป และจะต้องลุ้นการประมูลโครงการต่าง ๆ อีกครั้งในปีหน้า

แนวโน้มงานประมูลภาครัฐปี 2567

ภาพรวมการใช้พลังงานของโลกในอนาคตกำลังมุ่งเข้าสู่พลังงานสะอาดในรายงาน World Energy Outlook 2021 (WEO-2021) โดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) วิเคราะห์การใช้พลังงานในช่วงปี 2564 – 2593 ว่าจะเริ่มมีความต้องการใช้น้ำมันลดลงตั้งแต่ปี 2573 และจะลดลงเล็กน้อยอย่างต่อเนื่องไปถึงปี 2593 ส่วนก๊าซธรรมชาติยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2570 และจะค่อย ๆ ลดอัตราความต้องการลง ส่วนถ่านหินคาดว่าความต้องการจะเริ่มลดลงในปี 2568 และจะลดลงอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ผลประกอบการช่วง 1H66 ที่ผ่านมา

ในช่วง 1H66 บริษัทมีรายได้รวม 13,861.1 ล้านบาท (-4.6%y-y) ซึ่งมาจากรายได้จากสัญญาก่อสร้าง 13,637.7 ล้านบาท (-5.0%y-y) และคิดเป็น 98.4% ของรายได้รวม แม้ว่าสถานการณ์จาก COVID-19 คลี่คลายลงไปแล้ว แต่ยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้น และราคาน้ำมันที่ฟื้นตัว ทำให้เห็นภาพของต้นทุนในงวด 1H66 ที่ 13,129.6 ล้านบาท (-3.9%y-y) ซึ่งลดลงน้อยกว่ารายได้ที่ลดลง ส่งผลให้ Gross Margin ลดลงจาก 1H65 ที่ 5.9% สู่ 1H66 ที่ 5.3% นอกจากนี้ Net Profit Margin ลดลงจาก 1H65 ที่ 2.8% สู่ 1H66 ที่ 2.3%

แนวโน้มผลประกอบการช่วง 2H66

ทางฝ่ายคาดในช่วงครึ่งปีหลัง โครงการต่าง ๆ ที่มีอยู่ใน Backlog จำนวน 103,247 แสนล้านบาท จะทยอยรับรู้ ซึ่ง Backlog Update สิ้นสุด 2Q66 แบ่งเป็นงานรัฐสภามูลค่า 11,469 ล้านบาท มอเตอร์เวย์สัญญาที่ 17 และโครงการ Double Track ฉะเชิงเทรา แล้วเสร็จ 100%, งานอุโมงค์บึงหนองบอน มูลค่า 4,463.9 ล้านบาท แล้วเสร็จ 96.5%, โครงการมอเตอร์เวย์ สัญญา 2 มูลค่า 1,889 ล้านบาท แล้วเสร็จ 96.9%, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเหลือง มูลค่า 21,982 ล้านบาท แล้วเสร็จ 92.5% ส่วนโครงการรถไฟทางคู่เชียงราย-เชียงของ ที่มีสัดส่วน JV ราว 50% มูลค่าโครงการ 72,920 ล้านบาท ขณะนี้พึ่งเริ่มงานไปเพียง 6% ด้านการประมูลงานรัฐบาลใหม่ บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากโครงการประมูลภาครัฐที่ต่างถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากกรอบการเข้าดำรงตำแหน่งของรัฐบาลใหม่มีความล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ และทำให้ในช่วงแรกของการเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ จะต้องมุ่งเน้นเพื่อแก้ปัญหาและการออกนโยบายเพื่อการบริโภค – อุปโภคก่อน เป็นอันดับแรก และทางฝ่ายมองบริษัทจะได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าแรงที่จะมีการนำเข้าพิจารณาช่วงเดือน พ.ย.56 เพื่อให้ทันต่อการออกบังคับใช้ในเดือน ม.ค. 67

ราคาพื้นฐานปี 2567 ที่ 13.90 บาท อิง P/BV เหมาะสมที่ 1.07 เท่า

แม้ในปีนี้ งานโครงการประมูลใหม่จะถูกเลื่อนและล่าช้าออกไป จากปัจจัยกระทบด้านการเมือง และรัฐบาลใหม่ต้องเดินหน้าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคครัวเรือนเป็นวาระเร่งด่วนเป็นอันดับแรก ทำให้โครงการประมูลภาครัฐโครงการใหญ่ต่างต้องไปลุ้นในปีหน้า นอกจากนี้ปัจจัยกดดันจะยังมาจากนโยบายขึ้นค่าแรง ซึ่งทางฝ่ายมองจะกระทบต่อโครงการใน Backlog อย่างไรก็ตาม Backlog ที่มีในมือกว่า 103,247 ล้านบาท จะช่วยให้รายได้จะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้านปี 2567 โครงการที่ถูก Pent-Up ไว้ คาดจะถูกนำกลับมาประมูล ซึ่งมีทั้งงานโยธารถไฟฟ้าสีต่าง ๆ, งานมอเตอร์เวย์สาย M5 (บางปะอิน-รังสิต), มอเตอร์เวย์สาย M7 (เชื่อมต่ออู่ตะเภา), ทางยกระดับศรี นครินทร์-สุวรรณภูมิ และงาน Power Plant เป็นต้น ทั้งหมดนี้ทำให้ทางฝ่ายมองปีหน้าจะมีโอกาส ได้งานและโครงการใหม่ ๆ จะรวมต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไว้แล้ว ทางฝ่ายคาดกำไรในปี 2566 ที่ 663 ล้านบาท (-22.7%y-y) คิดเป็น EPS 0.43 บาทต่อหุ้น ส่วนสำหรับกำไรปี 2567 ทางฝ่ายคาด ที่ 753 ล้านบาท (+13.6%y-y) มองราคาพื้นฐานในปี 2567 ที่ 13.90 บาท อิงวิธี P/BV เหมาะสม ที่ 1.07X

ปัจจัยเสี่ยง

แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

  • ความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ ได้แก่

1. ความเสี่ยงในงานก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผลการดำาเนินงานของบริษัท

2. ความเสี่ยงเนื่องจากระยะเวลาในการที่บริษัทจะได้รับงานสัญญาใหม่

3. ความเสี่ยงจากความผันผวนด้านเศรษฐกิจและการเมือง

4. ความเสี่ยงจากการแข่งขัน

5. ความเสี่ยงที่จะต้องรับผิดในกิจการร่วมค้า

6. ความเสี่ยงจากการลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม

  • ความเสี่ยงในด้านการดำเนินงาน ได้แก่

1. ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้าง

2. ความเสี่ยงด้านต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น

3. ความเสี่ยงจากการเรียกร้องให้รับผิด

4. ความเสี่ยงจากรายได้ที่ยังไม่ได้เรียกชำระ

5. ความเสี่ยงจากโครงการแล้วเสร็จล่าช้ากว่ากำหนด

6. ความเสี่ยงจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

7. ความเสี่ยงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน

  • ความเสี่ยงในด้านการเงิน ได้แก่

1. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องทางการเงิน

2. ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

3. ความเสี่ยงจากความสามารถในการจ่ายเงินปันผล

  • ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ ได้แก่

1. ความเสี่ยงจากโรคระบาด

2. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล และภัยคุกคามจากไซเบอร์

3. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

- Advertisement -