“TAN” ประกาศราคาเสนอขาย IPO ที่ 16.50 บาทต่อหุ้น เปิดจองซื้อ วันที่ 9 – 11 ต.ค.นี้ วางยุทธศาสตร์ขยายระบบนิเวศทางธุรกิจ มุ่งเติบโตสู่บริษัทไลฟ์สไตล์ชั้นนำระดับภูมิภาค
‘บมจ.ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ TAN’ ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์แฟชั่นลักซ์ชัวรีระดับโลก ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์แฟชั่น ธุรกิจสปา แฟรนไชส์สปา และธุรกิจไลฟ์สไตล์อาหารและเครื่องดื่ม เคาะราคาเสนอขาย IPO ที่ราคา 16.50 บาทต่อหุ้น เปิดจองซื้อตั้งแต่วันที่ 9 – 11 ตุลาคมนี้ เพื่อนำเงินลงทุนขยายระบบนิเวศทางธุรกิจ ผ่านการขยายสาขาแบรนด์ไฟล์สไตล์ภายใต้พอร์ตโฟลิโอ ปรับโครงสร้างเงินทุน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการบริหารธุรกิจ พร้อมวาง 5 กลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทไลฟ์สไตล์ชั้นนำระดับภูมิภาค
บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAN ได้ลงนามแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ พร้อมแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญอีก 3 ราย ประกอบด้วย (1) บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) (2) บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) และ (3) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด
นายธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAN เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทฯ เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์แฟชั่นชื่อดังระดับโลก ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการบริหารแบรนด์สินค้าและบริการระดับลักซ์ชัวรี และได้รับความไว้ใจจากแบรนด์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ระดับโลกในการบริหารแบรนด์ เพื่อสร้างความนิยมให้แก่แบรนด์ทั้งในประเทศ และระดับภูมิภาค ผ่านการนำเสนอความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มากด้วยคุณภาพ และถ่ายทอดจุดเด่นของแต่ละแบรนด์สู่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด Bring The Best of The Brand to The Best of Thailand และวิชั่นที่มุ่งสู่การเป็นกลุ่มบริษัทไลฟ์สไตล์แฟชั่นชั้นนำระดับภูมิภาค
ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทฯ มีแบรนด์สินค้าภายใต้พอร์ตโฟลิโอมากถึง 5 แบรนด์หลัก ได้แก่ Pandora เครื่องประดับเงินชั้นนำจากประเทศเดนมาร์ก Marimekko แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่นด้านลายพิมพ์และสีสันจากประเทศฟินแลนด์ Cath Kidston สินค้าไลฟ์สไตล์กลิ่นอายโมเดิร์นวินเทจจากประเทศอังกฤษ รวมถึงนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Cath Kidston ในประเทศเวียดนาม HARNN ผลิตภัณฑ์บอดี้แคร์ สกินแคร์ สปา และอโรมาเทอราพี และ Vuddh สินค้าเครื่องหอมสไตล์ไทยร่วมสมัย รวมทั้งมีการขยายไปยังธุรกิจสปาซึ่งประกอบด้วย 4 แบรนด์ย่อยที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีสาขาตั้งอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น 131 สาขา แบ่งออกเป็นสาขาที่กลุ่มบริษัทฯ เป็นเจ้าของจำนวน 122 สาขา และสาขารูปแบบแฟรนไชส์จำนวน 9 สาขา และการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TAN กล่าวว่า TAN วางเป้าหมายการขยายระบบนิเวศทางธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตแบบเกื้อหนุนกัน (Group Brand Synergy) ให้แก่แบรนด์ภายใต้กลุ่มบริษัทฯ เพื่อมุ่งสู่การเป็นกลุ่มบริษัทไลฟ์สไตล์แฟชั่นชั้นนำระดับภูมิภาค ผ่าน 5 กลยุทธ์ ดังนี้ 1) พัฒนาแพลตฟอร์ม Omni-channel เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และขีดความสามารถในการทำกำไร รวมทั้งรองรับการเติบโตในอนาคต กลุ่มบริษัทฯ มุ่งประสบการณ์ในการเลือกซื้อสินค้าแบบไร้ขีดจำกัดผ่านการผสานรวมการซื้อสินค้าทางออนไลน์และการซื้อสินค้าในร้านค้า โดยการขายผ่านช่องทางออนไลน์มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการขายที่ต่ำกว่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำอัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรสุทธิที่สูงขึ้น และสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 2) ขยายช่องทางการจำหน่ายและให้บริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการขยายสาขารูปแบบ Concept Store เพื่อสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับแบรนด์ (Brand Experience) และถ่ายทอดเรื่องราวของสินค้า (Story Telling) ในแต่ละ Collection ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และสนามบิน ตามหัวเมืองใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นและมีกำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับกลางถึงสูง เมืองท่องเที่ยว เป็นต้น 3) เพิ่มการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม (Same Store Sales Growth) โดยมุ่งเน้นนำเสนอสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นที่หลากหลาย ออก Collection สินค้าใหม่ๆ และการทำ Visual Merchandising เพื่อขยายฐานลูกค้า และเพิ่มยอดซื้อต่อบิล (Ticket Size) ผ่านการใช้กลยุทธ์ต่างๆ เช่น Co-Branding กับแบรนด์ที่มีชื่อเสียง นำเสนอสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการใช้ Influencer Marketing สร้างการรับรู้ของแบรนด์และสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง 4) รักษาคุณภาพของสินค้าและการให้บริการที่เป็นเลิศ เพื่อสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ผ่านการให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี มีความประทับใจต่อสินค้าและการบริการของแบรนด์ 5) นำเสนอแบรนด์ผลิตภัณฑ์ใหม่หรือขยายสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อขยายพอร์ตโฟลิโอให้แข็งแกร่งโดยการเพิ่มแบรนด์สินค้าใหม่ผ่านการเป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศ เข้าควบรวมกิจการ หรือจัดตั้งแบรนด์สินค้าใหม่ของกลุ่มบริษัทฯ
นางชิดชนก จังพล รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAN กล่าวว่า กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขายในปี 2563 2564 และ 2565 เท่ากับ 911.39 ล้านบาท 764.87 ล้านบาท และ 1,257.50 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 11.33% ต่อปี ขณะที่ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2566 มีรายได้จากการขาย 655.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิทำได้ 71.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88.14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จะส่งกระทบต่อการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ทำให้ต้องปิดหน้าร้านสาขาในห้างสรรพสินค้าชั่วคราว ตามมาตรการของภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รวมถึงการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศรัสเซีย และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ทำให้รายได้จากการขายผ่านหน้าร้านสาขาในปี 2564 ลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ในปี 2564 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขายผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตขึ้น 118.78% ทั้งนี้ จากปัจจัยพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ผสานรวมกับความเชี่ยวชาญในการบริหารแบรนด์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ และความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้สามารถปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้ทันต่อสถานการณ์ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ฟื้นตัวอย่างโดดเด่นและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ กล่าวว่า หลังจาก บมจ.ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ฯ จากสำนักงาน ก.ล.ต. ปัจจุบันแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) มีผลใช้บังคับแล้ว โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 77.5 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25.8 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ ล่าสุดได้กำหนดราคาเสนอขาย IPO ที่ 16.50 บาทต่อหุ้น และจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในวันที่ 9 – 11 ตุลาคม 2566 และคาดว่าจะสามารถนำหุ้น TANเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ ภายในเดือนตุลาคม 2566 นี้ โดยมองว่าราคาดังกล่าวมีความเหมาะสม จากความแข็งแกร่งในการเป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มธุรกิจนำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์แฟชั่นระดับลักซ์ชัวรี ที่มีศักยภาพการเติบโต จากการขยายพอร์ตธุรกิจอย่างต่อเนื่อง การต่อยอดธุรกิจจากแบรนด์ภายใต้พอร์ตโฟลิโอ และการขยายธุรกิจเพื่อมุ่งเติบโตในตลาดระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ สำหรับการนำ บมจ.ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ครั้งนี้ เพื่อขยายระบบนิเวศทางธุรกิจ ผ่านการขยายสาขาของแบรนด์ธุรกิจสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นที่กลุ่มบริษัทฯ ได้รับสิทธิ์ในปัจจุบัน ปรับโครงสร้างเงินทุนผ่านการชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการบริหารธุรกิจ เพื่อรองรับการเติบโตในระดับภูมิภาค