บล.บัวหลวง:
Agro & Food – สัตว์น้ำ: ความท้าทายหลักสำหรับอุตสาหกรรมกุ้งไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2566 (NEUTRAL)
ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมกุ้งไทยจะเผชิญกับความท้าทายในแง่ของราคากุ้งไทยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ต้นทุนปลาป่นที่ยังคงยืนในระดับสูงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 แต่เราก็ยังคงคาดว่าราคากุ้งไทยมีแนวโน้มกลับไปฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งจะได้รับปัจจัยบวกหนุนจากอุปสงค์การบริโภคกุ้งที่กลับมาแข็งแกร่งมากขึ้นตามฤดูกาล และการกลับมาเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรเพิ่มขึ้น สำหรับหุ้นในกลุ่มสัตว์น้ำ เรายังคงชื่นชอบ TU มากที่สุด
ราคากุ้งไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนส.ค. 2566 และปรับตัวดีขึ้นแค่เล็กน้อยในเดือนต.ค.
เรามองว่าราคากุ้งไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของปีนี้ไปแล้วในช่วงปลายส.ค. 2566และปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา แต่การปรับตัวดีขึ้นของราคากุ้งไทยในเดือนต.ค. ถือว่าเล็กน้อยมาก เนื่องจากราคาที่ปรับตัวลดลงแรงตั้งแต่ช่วงเดือนก.พ. 2566 และราคากุ้งไทย ณ ปัจจุบันที่ยังคงต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรรายเล็กถึงรายกลาง ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ราวๆ 120-130 บาท/กก. (จากต้นทุนปลาป่นที่ยังคงยืนอยู่ในระดับสูง) ราคากุ้งไทย (ขนาด 70 ตัว/กก.) ปรับตัวลดลง 46% จากจุดสูงสุดของปีนี้ที่ 175 บาท/กก. (7-8 ก.พ.) ลดลงมาทำจุดต่ำสุดของปีนี้ที่ 95 บาท/กก. (22-23 ส.ค.) ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้น 16% ไปอยู่ที่ 110 บาท/กก. (10-16 ต.ค.) ราคากุ้งไทยที่ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 เป็นผลมาจาก 1) ผลผลิตกุ้งที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากประเทศเอกวาดอร์ (เพิ่มขึ้นจาก 0.99 ล้านตันในปี 2565 ไปเป็น 1.11 ล้านตันในปี 2566) โดยผลผลิตกุ้งจากประเทศเอกวาดอร์มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น 15% ในช่วงตั้งแต่ปี 2559-2566 ส่งผลให้เกิดภาวะกุ้งล้นตลาด ณ ปัจจุบัน และ 2) อุปสงค์หรือการบริโภคกุ้งที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะจากกำลังซื้อของประเทศจีนที่ลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นอกเหนือจากกำลังซื้อของประเทศสหรัฐฯ ที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า จากภาวะอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้มีการลดงบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารทะเลที่มีราคาแพง ดังนั้นเราจึงมองว่าราคากุ้งที่อยู่ในระดับต่ำ ณ ปัจจุบันจะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งชะลอการลงกุ้งหรือเลี้ยงกุ้งรอบใหม่ออกไป และรอจนกว่าที่ราคากุ้งในตลาดจะกลับมาเกินต้นทุนการเลี้ยงอีกครั้ง
ผลผลิตกุ้งของประเทศไทยที่จะลดลงไปจนถึงไตรมาส 1/67 แต่คาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2/67
ถ้าอ้างอิงจากการคาดการณ์ของกรมประมง ผลผลิตกุ้งที่เลี้ยงจากการทำฟาร์มกุ้งของประเทศไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 2.61 แสนตันสำหรับในปี 2566 (หรือเพิ่มขึ้น 1.5% YoY) ส่งผลให้เราคาดว่าผลผลิตกุ้งที่เลี้ยงจากการทำฟาร์มกุ้ง มีแนวโน้มอยู่ที่ 7.28 หมื่นตันในไตรมาส 3/66 (ลดลง 5%YoY และ 11%Q0Q)และ 5.67 หมื่นตันในไตรมาส 4/66 (ลดลง 12%YoY และ 22%Q0Q) และเนื่องจากไตรมาสสี่และไตรมาสหนึ่งถือว่าเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของการเลี้ยงกุ้ง เราจึงคาดว่าจะเป็นช่วงของการลงกุ้งในจำนวนที่น้อยมากในช่วงไตรมาส 4/66 จนถึงไตรมาส 1/67 และคาดว่าการลงกุ้งจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาส 2/67 (ซึ่งจะเป็นช่วงไฮซีซั่นสำหรับการเลี้ยงกุ้งในภาวะอากาศที่คาดว่าจะร้อนกว่าปกติ เนื่องจากภาวะอากาศที่เป็นเอลนีโญ่ ซึ่งจะเหมาะอย่างมากสำหรับการเลี้ยงกุ้ง) และเนื่องจากผลผลิตกุ้งที่คาดว่าจะออกมาจำนวนน้อยในช่วงไตรมาส 3/66 และต่อเนื่องไปยังไตรมาส 1/67 บวกกับอุปสงค์การบริโภคกุ้งที่จะเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลในช่วงไตรมาส 4/66 ต่อเนื่องไปยังไตรมาส 1/67 เราจึงคาดว่าราคากุ้งไทยมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวแรงตั้งแต่ไตรมาส 1/67 เป็นต้นไป สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้คาดการณ์ผลผลิตกุ้งรวมของประเทศไทยที่ 4 แสนตันสำหรับในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 1.8% YoY ประเทศไทยได้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดสำหรับกุ้งส่งออกไปให้กับประเทศเอกวาดอร์และอินโดนีเซียแล้วตั้งแต่ปี 2561
ราคากุ้งที่ปรับตัวลดลง-ส่งผลกระทบทั้งบวกและลบต่อผู้ประกอบการแปรรูปกุ้งของไทย
สำหรับ TU ราคากุ้งที่ปรับตัวลดลงถือว่าส่งผลบวกต่ออัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจกุ้งแช่แข็งของบริษัท เนื่องจากต้นทุนกุ้งซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักปรับตัวลดลง แต่ส่งผลลบโดยทางอ้อมต่อวอลุ่มขายกุ้งแปรรูปไปยังลูกค้าส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ความสามารถและกำลังซื้อสำหรับการบริโภคอาหารทะเลของผู้บริโภคลดลง และส่งผลลบต่อวอลุ่มขายอาหารกุ้งให้ปรับตัวลดลง (ผ่านบริษัทย่อยคือ TFM) เนื่องจากการเลื่อนการลงกุ้งออกไปจากเดิมซึ่งจะกระทบต่อวอลุ่มขายอาหารกุ้งให้ปรับตัวลดลง ยอดขายในส่วนของกุ้งแช่แข็งและอาหารกุ้งคิดเป็น 21% และ 3% ของยอดขายรวมของ TU ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566ตามลำดับ สำหรับ CPF ราคากุ้งที่ปรับตัวลดลงคาดว่าจะส่งผลลบต่อยอดขายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์กุ้งโดยรวม และอัตรากำไรขั้นต้นจากธุรกิจสัตว์น้ำ เนื่องจากยอดขายอาหารกุ้ง ลูกกุ้ง พันธุ์กุ้ง และเนื้อกุ้งส่งออก มีแนวโน้มที่จะลดลง สำหรับ CPF ยอดขายจากธุรกิจสัตว์น้ำในประเทศไทยและยอดขายจากการส่งออกสัตว์น้ำจากประเทศไทย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์กุ้ง] คิดเป็น 4.2% และ 0.8% ของยอดขายรวมของ CPF ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566