KS Daily View 18.10.2023 >>> Bond yield เด้ง ตัวเลขค้าปลีกเดือน ก.ย. สหรัฐ ออกมาดีกว่าคาด SET แกว่งตัวในกรอบ 1,415-1,440 จุด หุ้นแนะนำ BLA, PTTEP
สรุปภาวะตลาดเมื่อวานนี้
ต่างประเทศ : ดัชนี DJIA +0.04%, S&P 500 -0.01%, NASDAQ -0.25%โดย Sector ที่ outperform ใน S&P500 ได้แก่ Materials (+1.01%), Energy (+0.98%), Financials (+0.55%) ส่วน Sector ที่ Underperform ได้แก่ IT (-0.77%), Real Estate (-0.54%), Utilities (-0.24%) เป็นต้น
ในประเทศ: SET Index +6.29 จุด หรือ +0.44% ปิดที่ 1,433.40 จุด หุ้นใน SET100 ที่ราคาเพิ่มขึ้นมากสุด ได้แก่ CK (+7.54%), STEC (+6.25%), AWC (+5.78%), BTS (+4.05%) เป็นต้น ส่วนที่ราคาลดลงต่ำสุด ได้แก่ HANA (-7.26%), FORTH (-1.87%), KCE (-1.82%), CBG (-1.80%) เป็นต้น
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ:
ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบ 1,415 – 1,440 จุด โดยได้ sentiment ลบจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดที่ยังคงปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันของดอกเบี้ยโลก และอุปทานพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นตามการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงความเสี่ยงที่สงครามจะยืดเยื้อ/ขยายวงยังมีอยู่ จากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะ Stagflation หรือ ภาวะที่เงินเฟ้อเงินฝืดเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ทำให้ธนาคารกลางอาจต้องคงดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าคาด ซึ่งเป็น scenario ที่ไม่เอื้อกับตลาดหุ้น กลยุทธ์การลงทุนจึงควรเน้นแบบตั้งรับมากขึ้น โดยหุ้นที่คาดว่าจะ outperform ในภาวะนี้ต้องเป็นธุรกิจที่มีกระแสเงินสดดี หนี้น้อย และสามารถปรับราคาขายได้ตามภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากผู้บริโภคมีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำ และมีค่า P/E ที่ไม่สูงไป ได้แก่ กลุ่มพลังงาน, โภคภัณฑ์, การแพทย์, รวมถึงกลุ่มที่ขายสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร, ยารักษาโรค, บริการด้านการสื่อสาร เป็นต้น
ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:
1.) สหรัฐฯ รายงานยอดค้าปลีกเดือน ก.ย. ขยายตัวแข็งแกร่งที่ +0.7% MoM สูงกว่าคาดการณ์ที่ +0.3% MoM ทำให้ตลาดตีความว่า “ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดี เป็นข่าวร้ายสำหรับตลาด” จากธนาคารกลางต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดต่อเนื่องเพื่อกดเงินเฟ้อ ทั้งนี้หลังรายงานตัวเลขดังกล่าว ตลาด Swap ได้ปรับเพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยอีก 25bps. ของเฟดในรอบการประชุมเดือน ธ.ค. เป็น 50% จากวันก่อนหน้าที่ 37% และคาดถึงโอกาสการลดดอกเบี้ยในปี 2567 น้อยลงกว่าเดิม ส่งผลให้แรงขายในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อ โดย US2Y bond yield ปรับตัวขึ้น 12bps. ปิดที่ 5.218% ทำจุดสูงสุดในรอบ 17 ปี ส่วน US10Y bond yield ปรับขึ้น 13bps. เป็น 4.84% จากภาวะตลาดการเงินที่ตีงตัวทำให้นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 1 พ.ย.
2.) ติดตามการเดินทางเยือนอิสราเอลของ ปธน. โจ ไบเดน วันนี้เพื่อไกล่เกลี่ยไม่ให้สถานการณ์ลุกลามไปในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามล่าสุดเกิดเหตุระเบิดโจมตีโรงพยาบาลในฉนวนกาซา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ทำให้ผู้นำชาติอาหรับขอเลื่อนการประชุมกับทาง ปธน. สหรัฐฯ ออกไปก่อน
3.) ติดตามการประมูลพันธบัตรของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในวันนี้ โดยแบ่งเป็น 2029 bonds มูลค่า 2 หมื่นลบ. และ 2072 bonds มูลค่า 8 พันลบ. ทั้งนี้หากมีแรงซื้อเข้ามามาก (เกินกว่า 2x) จะเป็นสัญญาณบวก แต่ถ้าแรงซื้อน้อยจะเป็นสัญญาณลบและจะเป็นปัจจัยกดดันให้ Bond yield ไทยเร่งตัวต่อ ทั้งนี้ล่าสุด Thai 10Y bond yield ทรงตัวที่ระดับ 3.33% (+69bps. YTD) และใกล้ระดับสูงสุดนับแต่ปี 2014 ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่สูงขึ้น 25bps. จะกดดัน SET Index ราวๆ 50 จุด คำนวณโดยโมเดล Earnings yield gap
4.) เราได้มีการประชุมกับทาง สบน. วานนี้ ซึ่งได้ข้อสรุปที่น่าสนใจคือ 3.1) ทาง สบน. ประเมินว่าตัวชี้วัดทางการเงินทั้งหมดยังคงอยู่ในกรอบข้อบังคับ หนี้สาธารณะต่อ GDP < 70% (รายงาน ~ 60%) อัตราส่วนการชำระหนี้ < 35% (รายงาน ~ 30%) หนี้สกุลเงินต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด < 10% (รายงานน้อยกว่า 2%) และหนี้ต่างประเทศเพื่อการส่งออกสินค้าและบริการ < 5% (รายงาน ~0.05%); 3.2) การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือน่าจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ของเราเป็นเงินทุนที่มีคุณภาพดีสำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับการบริหารนโยบายการคลังและแนวโน้มหนี้สาธารณะในระยะยาวมากกว่า; 3.3) สบน. ไม่ได้ประมาณการตัวคูณการใช้จ่ายทางการคลัง แต่บอกเป็นนัยว่าตัวคูณการใช้จ่ายทางการคลังจากมาตรการแจกเงินสดล่าสุดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากรัฐบาลเดิมอยู่ที่ประมาณ 1 เท่า
5.) ติดตามการแถลงข่าวของ รมว. พลังงานวันนี้ โดยก่อนหน้านี้ รมว. พลังงาน เคยให้ข่าวกับกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ว่า จะปรับลดราคาเบนซินตามแนวทางดีเซล เป็นของขวัญปีใหม่ ตั้งเป้า 2.5 บาทต่อลิตร ลดทั้งประเทศ ไม่ใช่ช่วยเฉพาะกลุ่ม และเตรียมตั้งกรรมการรื้อโครงการสร้างราคาเบนซินตั้งแต่ค่าการกลั่น – ค่าการตลาด มองข่าวดังกล่าวเป็น sentiment ลบต่อกลุ่มโรงกลั่น และ Retail oil
Theme การลงทุนสัปดาห์นี้
ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบ 1,420 – 1,460 จุด โดย sentiment หุ้นไทยยังคงเปราะบางจากประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ยังสูงอยู่ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่ 1.) การประกาาศกำไร 3Q23 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์; 2.) ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศ หลังรัฐบาลมีแผนปรับลดงบประมาณในโครงการดิจิตอลวอลเล็ต และกระจายแหล่งที่มาของเงินทุน เพื่อลดแรงกดดันในการออกพันธบัตร; 3.) ราคาน้ำมันดิบจากความเสี่ยงที่สงครามอิสราเอล-ฮามาสจะขยายวงในตะวันออกกลาง; และ 4.) ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของจีน (คาด +4.5% YoY) และถ้อยแถลงของ Fed Chair Powell ในคืนวันพฤหัสฯ
หุ้นแนะนำวันนี้ Top pick:
- BLA (ราคาพื้นฐาน 40 บาท) กลุ่มประกันชีวิตจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ Yield curve ที่ชันตัวขึ้นจากธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะยืนดอกเบี้ยสูงในระยะที่ยาวขึ้น และอุปทานพันธบัตร/หุ้นกู้ที่สูงขึ้นในตลาด เพราะจะทำให้สำรองจากการประกันภัยลดลง และรายได้จากการลงทุนเติบโตจากเม็ดเงินลงทุนใหม่ โดยเฉพาะในพันธบัตร/หุ้นกู้ระยะยาวได้ผลตอบแทนสูงขึ้น ในด้านผลประกอบการเราคาดว่า BLA จะมีกำไรในปี 2023-24 ที่ 3.3 พันลบ./4.3 พันลบ. เติบโต 3% YoY/30% YoY ตามลำดับ โดยคาด กำไร 2H66 จะได้แรงหนุนจากอัตราส่วนรวมที่ลดลงและการหดตัวที่ช้าลงของ RYP มูลค่าหุ้นปัจจุบันของ BLA ไม่แพงมาก เนื่องจากขณะนี้ซื้อขายด้วย PER ปี 2566 ที่ 13.8 เท่า หรือ +1 S.D สูงกว่าค่าเฉลี่ย PER ในอดีต และที่ PBV ปี 2566 ที่ 1.0 เท่า หรือเท่ากับค่าเฉลี่ย PBV ย้อนหลัง
- PTTEP (ราคาพื้นฐาน 180 บาท) การลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ และสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออุปทานน้ำมันดิบในตะวันออกกลางยังเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันดิบ โดยหากราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5 ดอลลาร์ฯ ต่อปี จะเพิ่มกำไรสุทธิประมาณ 4.9 พันลบ./ปี และมูลค่าตามวิธีคิดลดเงินสด (DCF) ที่ 7 บาท/หุ้น ทั้งนี้ราคาหุ้น PTTEP ปรับตัวลง -2.5% YTD ซึ่ง outperform กลุ่ม Energy ที่ -18.5% YTD เทียบราคาน้ำมันที่ +7.7% YTD
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ
- วันพุธติดตาม ตัวเลข GDP ของจีน สำหรับไตรมาส 3/2566 ตลาดคาดขยายตัว 4.5% เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 6.3% ต่อด้วยฝั่งยุโรปมีรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของยุโรปทั่วไป (Headline CPI) เดือนก.ย. ตลาดคาดที่ 4.3% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 5.2% YoY และตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของยุโรปพื้นฐาน (Core CPI) เดือนก.ย. ตลาดคาดที่ 4.5% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 5.3% YoY และปิดท้ายด้วยรายงายอสังหาฯฝั่งสหรัฐฯ ตัวเลขขออนุญาตก่อสร้างบ้าน (Building permit) เดือนก.ย. ตลาดคาดที่ 1.45 ล้านยูนิต เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 1.54 ล้านยูนิต และตัวเลขบ้านสร้างใหม่ (Housing starts) เดือนก.ย. ตลาดคาดที่ 1.45 ล้านยูนิต เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 1.28 ล้านยูนิต
- วันพฤหัสบดีติดตาม ตัวเลขภาคการผลิตของสหรัฐฯ Philly Fed เดือน ต.ค. ตลาดคาดที่ -6.7 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -13.5 จุด และติดตามการให้สัมภาษณ์ของ Powell ประธาน Fed ในงาน The Economic Club of New York Luncheon
- วันศุกร์ติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางจีน PBOC ตลาดคาดคงอัตราดอกเบี้ย Loan prime rate ระยะ 1 ปี ที่ 3.45% และ Loan prime rate ระยะ 5 ปี ที่ 4.20%