บล.บัวหลวง:
Srinanaporn Marketing (SNNP TB / SNNP.BK)
SNNP – เชิญแวะตุนเสบียง (ขนม) ก่อนออกไปลุยต่อ…
การประชุมนักวิเคราะห์เย็นวานนี้ แม้โทนโดยรวมมองกลางๆ โดยเราคาดกำไร 3Q23 น่าจะออกมาทรงๆ หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย QoQ ถึงแม้จะเป็น Low season แต่นั้นหมายถึงไม่มี Negative surprise แบบที่ตลาดกังวลกัน และเทขายหุ้นจนร่วงลงมาแรงก่อนหน้านี้ ทำให้ Valuation อยู่ในระดับน่าสนใจ (แถวช่วง Lockdown ใหญ่) เราจึงมองว่าเป็นโอกาสสะสมทั้งในเชิงพื้นฐาน และกลยุทธ์แบบ Buy-on-fact บนการขายแบบ Panic sell กว่าความเป็นจริง…
คาดกำไร 3Q23 ทรงตัว แม้จะเป็น Low season
เราคาดการณ์กำไรหลัก 3Q23 ที่ 160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.6% YoY และ 2.1% QoQ (เดิมเราคาด 155 ล้านบาท และตลาดคาดล่าสุด 164 ล้านบาท) โดยยอดขายรวมคาดเติบโต 4% YoY และ QoQ (ฐานใกล้กัน) แม้จะเป็นช่วง Low season ของปี โดยปัจจัยหนุนมาจากการเติบโตของยอดขาย ต่างประเทศ ที่ช่วยกลบผลกระทบฤดูกาลลงไป ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น (GM) จะปรับตัวขึ้นมาสูงระดับ 28.5% หรือเพิ่มขึ้น 1.2% YoY และ 0.6% QoQ เกิดจาก 1) สัดส่วนการขายในต่างประเทศเพิ่มขึ้น (GM ดีกว่าในประเทศ) โดยการกลับมาเร่งยอดขายเวียดนามได้ช่วงหลัง และ 2) สัดส่วนการขายกลุ่มขนมขบเขี้ยว (Snack) เพิ่มขึ้น ซึ่ง GM สูงกว่ากลุ่มเครื่องดื่ม (Beverage) ในส่วนของ SG&A/sales ratio สามารถควบคุมในระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้ว
เข้า High season ใน 4Q23 …ลุ้นรอบตัดเชือกเพื่อไปต่อ
ทั้งเราและตลาดต่างคาดหวังโอกาสที่กำไรจะกลับมาทำ All time high ใน 4Q23 และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากฐานกำไรระดับ 150-160 ล้านบาท ยืนระยะมาได้กว่า 4 ไตรมาสติดกันแล้ว โดยจะเป็นจุดสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นต่อการเติบโตอีกรอบ ปัจจัยหนุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 4Q23 คือ 1) การออกสินค้าใหม่ 2 รสชาติ ช่วง ต.ค-พ.ย. (ปกติสินค้าใหม่จะช่วยเพิ่มยอมขายราวๆ 5% และรอบนี้ออก 2 ตัวพร้อมกัน) 2) ยอดขายต่างประเทศโดยเฉพาะเวียดนามกลับมาเติบโตอีกครั้ง (High season และเริ่มรันสายการผลิตใหม่) 3) GM จะดีขึ้น และมีโอกาสทำสถิติใหม่แถวๆ 28-30% ได้จาก Product mix ขณะที่ฝั่งต้นทุนหลัก (ปัจจุบันเรายังไม่เห็นสัญญาณปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญ) และ 4) บริษัทย่อย “สิริโปร” ขาดทุนน้อยลงหลังปรับโครงสร้างบริหารใหม่เรียบร้อย และบันทึกค่าใช้จ่ายไปแล้วใน 3Q23
Buy-on-fact! ซื้อตอนนี้ ได้ของดี ราคาถูกพอๆ กับช่วง Lockdown
ราคาหุ้นที่ร่วงแรงสะท้อนปัจจัยด้านลบจากกำไร 3Q23 ที่อาจไม่ตื่นเต้นนักและสถานการณ์มหภาคต่างๆ แล้ว จน Valuation ปัจจุบัน ซื้อขายบน PER ปี 2024 ที่ 22-23 เท่า ใกล้เคียงระดับต่ำสุดที่ 21-22 เท่า ในช่วง Lockdown ปี 2021 และต่ำกว่าระดับ 24-25 เท่า ในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำราคา ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูงมากแล้ว ดังนั้น เราจึงมองว่า Downside risk ในแง่ Valuation จำกัด เทียบกับ Upside risk ช่วงสถานการณ์ต่างๆคลี่คลาย มีโอกาสถูกกลับมา Re-rate PER ไปอย่างน้อยค่าเฉลี่ย 28-29 เท่า ประจวบเหมาะกับสถานการณ์กำไรกลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง จังหวะนี้จึงมองเป็นโอกาสถัวเฉลี่ยสะสมสำหรับนักลงทุนระยะกลาง-ยาว นอกจากนี้ ยังมี Upside ฝั่งรายได้ลุ้นเพิ่มเติมหากมีความคืบหน้าการบุกตลาดตลาดจีนเกาหลี ฟิลิปินส์ ปลายปี 2023 ถึง ต้นปี 2024