บล.บัวหลวง:
SCBX (SCB TB / SCB.BK)
SCB – ต่ำกว่าคาดจากการตั้งสำรองฯที่มากกว่าคาด
ผลประกอบการต่ำกว่าที่เราคาด 5%
SCB รายงานกำไรไตรมาส 3/66 ที่ 9.7 พันล้านบาท ลดลง 6% YoY และ 19% QoQ ซึ่งตำกว่าที่เราคาด 5% (และตำกว่าตลาดคาด 9% อ้างอิงจาก Bloomberg) เนื่องจากการตั้งสำรองฯมากกว่าคาด กำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรองฯอยู่ที่ 2.49 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% YoY แต่ลดลง 9% QoQ ทั้งนี้กำไร 9 เดือนแรกของปี 2566 คิดเป็น 76% ของประมาณการเดิมทั้งปีของเราที่ 4.3 หมื่นล้านบาท
ประเด็นสำคัญจากผลประกอบการ
การปรับตัวลดลงของกำไร YoY และ QoQ เนื่องจากการตั้งสำรองฯที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนการตั้งสำรองในไตรมาสนี้อยู่ที่ 2.01% (มากกว่าที่เราคาด 21bps) เพิ่มขึ้น 69bps YoY และทรงตัว QoQ สาเหตุหลักที่อัตราส่วนการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเนื่องจากการตั้งสำรองเพิ่มเติม (management overlay) ที่ 1.5 พันล้านบาท สัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 3.25% ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2566 มาอยู่ที่ 3.30% ณ สิ้นเดือน ก.ย. อัตราส่วนการตั้งสำรองต่อหนี้เสียของ SCB ลดลงจาก 162.1% ณ สิ้นเดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ 160.0% ณ สิ้นเดือน ก.ย. ตัวเลขดังกล่าวบ่งบอกว่าคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอ่อนตัวในระหว่างไตรมาส
NIM ในไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 3.74% เพิ่มขึ้น 37bps YoY และ 4bps QoQ สินเชื่อ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2566 มีมูลค่ารวม 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% YoY และ 1% QoQ หนุนโดยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และสินเชื่อองค์กร อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 42.7% ทรงตัว YoY และเพิ่มขึ้นจาก 38.4% ในไตรมาส 2/66 สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น
แนวโน้ม
เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/66 ที่ 8.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% YoY (การเติบโตของสินเชื่อและ NIM ที่เพิ่มขึ้น) แต่ลดลง 16% QoQ (ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล)
สิ่งที่เปลี่ยนแปลง
เราปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ลง 5% มาอยู่ที่ 4.06 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 8% YoY) เราปรับเพิ่มอัตราการตั้งสำรองขึ้นจาก 1.50% มาอยู่ที่ 1.90% แต่เราปรับเพิ่มประมาณการ NIM ขึ้นจาก 3.56% มาอยู่ที่ 3.61% เมื่อมองไปยังปี 2567 เราปรับลดกำไรสุทธิลง 7% มาอยู่ที่ 4.44 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 9% YoY)
คำแนะนำ
เราปรับเป้าหมายการลงทุนจาก ณ สิ้นปี 2566 ไปเป็น ณ สิ้นปี 2567 ที่ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 115 บาท PER ปี 2567 ของ SCB อยู่ที่ 7.6 เท่า (ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ย 10 ปีอยู่ 1.5 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) และคาดการณ์ EPS CAGR ปี 2567-69 อยู่ที่ 9% ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วน PEG ที่ 0.9 เท่า PBV ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 0.7 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีอยู่ 1.2 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) ขณะที่ ROE ปี 2567 ที่ 9.0% ส่งผลให้อัตราส่วน PBV/ROE อยู่ที่ 0.074 เท่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยกลุ่มธนาคารที่เราให้คำแนะนำที่ 0.075 นอกจากนี้เรายังคาดว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลมากกว่า 6% ในปี 2567 ซื้อ!