นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอใน EEC สะท้อนความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ครบวงจรชั้นนำของโลก

4 พฤศจิกายน 2566 : บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการสำคัญและอุตสาหกรรมเป้าหมายในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งติดตามการบริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ และได้เยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE 2) บนพื้นที่กว่า 3,650 ไร่ ประกอบไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ อิเล็คโทรนิกส์และอุตสาหกรรมเคมีเบา โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) ความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค การจัดการสิ่งแวดล้อม  และระบบโลจิสติกส์

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวให้การต้อนรับและบรรยายสรุปแก่นายกรัฐมนตรีและคณะในโอกาสนี้ว่า “ท่านนายกรัฐมนตรีให้เกียรติแก่ดับบลิวเอชเอเป็นอย่างสูงในการเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมของเรา ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการที่ภาครัฐและเอกชนของไทยมีความตั้งใจจริงในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานระดับโลก เพื่อขยายโอกาสความร่วมมือการลงทุนกับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกเหนือจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ครบวงจรชั้นนำของโลกในปัจจุบัน”

ท่านนายกรัฐมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมโรงงานของบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด(SAIC Motor – CP Co., Ltd.) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศและมีโรงงานตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 437.5 ไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE 2) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกับการที่รัฐบาลได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติชุดใหม่ โดยมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2570 นับเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนจากผู้ประกอบการรายใหม่จากทั่วโลก สอดคล้องนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น สนับสนุนการพัฒนาใน EEC ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นไปได้ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ที่จะสร้างประโยชน์ด้านการลงทุนทั้งต่อ EEC และต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ให้ยั่งยืน

ทั้งนี้ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ทั้งสิ้น 11 นิคม มีพื้นที่รวมกว่า 50,000 ไร่ และในปัจจุบันเกือบทุกนิคมอุตสาหกรรมรองรับผู้ประกอบการในธุรกิจยานยนต์ ส่งผลให้นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ เป็นผู้นำด้านการพัฒนาพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำจากทั่วโลกรวมมากกว่า 300 ราย อาทิเช่น AAT, Ford, Mazda, Suzuki, MG, Great Wall Motors, BYD และ Changan ตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์แบบครบวงจร  โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานระดับโลก เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมล่าสุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัย การผลิตและการบำบัดน้ำเสีย ไปจนถึงการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมส่วนกลางของดับบลิวเอชเอ (Unified Operation Center หรือ UOC) ที่สำนักงานใหญ่ ดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ ย่านบางนา ทำให้บริษัทฯ สามารถตรวจสอบสภาวะด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน The Ultimate Solution for Sustainable Growth

# # #

เกี่ยวกับดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป) ผู้นำอันดับหนึ่งในการให้บริการโซลูชันครบวงจรด้านโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรมของไทย โดยธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ประกอบด้วย 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม  ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิทัล โซลูชัน ด้วยบริการโซลูชันแบบครบวงจรสำหรับลูกค้า ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ดังนี้

  • กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ มุ่งให้บริการศูนย์กระจายสินค้า คลังสินค้า และโรงงาน Built-to-Suit แบบ พรีเมียมที่ได้มาตรฐานระดับโลกแก่ลูกค้า โดยบริษัทฯ เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการสร้างอาคารโรงงาน และคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit มาตั้งแต่ปี 2546 ปัจจุบันบริษัทฯ มีพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานแบบ Built-to-Suit รวมทั้งสิ้นกว่า 9 ล้าน ตารางเมตร บนทำเลที่ตั้งในจุดยุทธศาสตร์กว่า 52 แห่งทั่วประเทศ
  • กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมคุณภาพระดับโลก ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ มีทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ได้แก่ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงบริการอุตสาหกรรมต่างๆ ที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 12+ แห่งบนพื้นที่กว่า 71,300 ไร่ โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยที่จังหวัดระยอง ชลบุรีและสระบุรี ในปี 2561 คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ 11 แห่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) สอดคล้องกับพันธกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ของประเทศด้วย รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน – เหงะอาน ในประเทศเวียดนามอีกหนึ่งแห่ง
  • กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า ในฐานะผู้ให้บริการด้านระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงการร่วมลงทุนด้านไฟฟ้ากับผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าชั้นนำของโลก ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จึงสามารถสร้างความมั่นใจในการให้บริการด้านสาธารณูปโภคแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีกำลังการผลิตน้ำรวมถึง 168 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์รวม847 เมกะวัตต์
  • กลุ่มธุรกิจดิจิทัล ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีบริการดิจิทัลโซลูชันต่างๆ อย่างครบครัน ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เปิดตัว WHAbit แอปพลิเคชันด้านเฮลธ์แคร์ เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพ และการแพทย์ทางไกล โดยประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อปี 2565 นอกจากนั้นบริษัทฯ เดินหน้าทรานสฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลผ่านโครงการต่าง ๆ กว่า 32 โครงการเพื่อก้าวสู่การเป็น Technology Company ในปี 2567
- Advertisement -