บล.พาย:
ADVANC: Advanced Info Service PCL
ดีล 3BB จะไม่ถูกตรวจสอบเหมือนดีล TRUE-DTAC
เรายังเชื่อว่าดีล 3BB จะเป็นคุณต่อ ADVANC ในระยะยาว บริษัทอาจเผชิญอุปสรรคเพียงเล็กน้อยในช่วงก่อนและหลังการควบรวมเมื่อเทียบกับดีล TRUE-DTAC ทั้งนี้ ADVANC มีกำไรปกติไตรมาส 3/23 ที่ 7.6 พันล้านบาท (+6%YoY, +21%QoQ) ดีกว่าคาดเล็กน้อย สืบเนื่องจากค่าใช้จ่ายการขายและบริหาร (SG&A) และค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (D&A) ที่ลดลง เราเชื่อว่า ADVANC จะคงโครงสร้างต้นทุนอย่างในงวด 9 เดือนปี 2023 ต่อไปได้ แต่ถ้าจะลดต้นทุนไปมากกว่านี้อาจจะยาก แม้ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะให้ภาพรวมปี 2024 ที่สดใสขึ้น แต่เรายังมีมุมมองรัดกุมและคาดว่าการเติบโตของรายได้จะทรงตัวในปี 2024 ด้วยเหตุนี้เราจึงคาดว่ากำไรปกติปี 2023 ของ ADVANC จะอยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท (+12%YoY) ขณะที่คาดว่าปี 2024 จะชะลอลงเป็น 3.0 หมื่นล้านบาท (+3%YoY) เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” และปรับมูลค่าพื้นฐานขึ้น 6% เป็น 266 บาท อิง 9.2xEV/EBITDA’24E (ค่าเฉลี่ย 10 ปี)
การประชุมนักวิเคราะห์ให้ภาพเป็นกลาง
- ผู้บริหารคงเป้าหมายบริษัทสำหรับการเติบโตของรายได้จากบริการหลักสำหรับปี 2023 ที่ 3%-5% YoY (+2.3% YoY สำหรับงวด 9 เดือน) หนุนจากธุรกิจบริการมือถือและบรอดแบนด์ คาดว่า AIS จะสูญเสียลูกค้ากลุ่มบริการมือถือในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่คาดว่ารายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) จะปรับดีขึ้นเล็กน้อยตั้งแต่ไตรมาส 4/23 (เริ่มเห็นสถานการณ์ที่ปรับดีขึ้นแล้วในเดือน ต.ค. 2023)
- ADVANC คาดว่าการกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางกรณี TRUE-DTAC (เหตุจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อผู้บริโภค) จะไม่กระทบดีล 3BB เพราะต่างกับดีล TRUE-DTAC ตรงที่ 1) ADVANC ได้ขออนุมัติจาก กสทช. แล้ว ไม่ใช่แค่การรับรู้ทั่วไป 2) สภาพการแข่งขันในตลาดบรอดแบนด์มีภาพรวมที่ดีกว่า และ 3) กลุ่มบรอดแบนด์ไม่จำเป็นต้องประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ในการประกอบกิจการแต่อย่างใด
- ผู้บริหารคาดว่าดีล 3BB จะช่วยกระตุ้นการสร้างกระแสเงินสดได้ภายใน 12-18 เดือนหลังควบรวม แต่ยังไม่คิดว่าจะเป็นตัวกระตุ้นกำไรในระยะสั้นและกลาง เพราะดีลนี้มีค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดจำนวนมาก ส่วนใหญ่คือรายการทางบัญชีด้านค่าเช่า ทั้งนี้ คาดว่าดีลจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/23 ถึงครึ่งแรกปี 2024 เราคาดว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รายการเงินสดจะฉุดกำไรของ ADVANC ลงในช่วงแรก แต่ท้ายที่จะดีลนี้จะเป็นคุณภายในปีที่ 3 หลังควบรวม เพราะจะช่วยหนุนให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานดีขึ้นและหนุนให้มีเครดิตที่ดีขึ้น
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายการขายและบริหาร (SG&A) ต่อยอดขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปีที่ 12.0%
สรุปผลประกอบการไตรมาส 3/23
- กำไรสุทธิไตรมาส 3/23 อยู่ที่ 8.1 พันล้านบาท (+35% YoY, +14% QoQ) หากไม่รวมกำไรจากการขายหุ้น 33% ใน Rabbit LINE Pay คิดเป็นเงินจำนวน 434 ล้านบาท กำไรปกติจะอยู่ที่ราว 7.6 พันล้านบาท (+21% YoY, +6% QoQ) กำไรปกติที่โตขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนที่ลดลง โดยเฉพาะ SG&A และ D&A ที่ลดลง
- ยอดขายไตรมาส 3/23 อยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท (ทรงตัว YoY, +3% QoQ) ยอดขายที่ทรงตัว YoY เป็นผลจากรายได้ธุรกิจบรอดแบนด์ที่สูงขึ้นนั้นถูกหักลบโดยยอดขายมือถือที่ลดลง (iPhone 15 เปิดตัว 1 สัปดาห์ให้หลังเมื่อเทียบกับ iPhone 14 ที่เปิดตัวเดือนก.ย. 2022)
- ADVANC ปิดไตรมาสด้วยจำนวนลูกค้าบริการมือถือที่ 44.4 ล้านบาท (-1.2m YoY, -866k QoQ) และ ARPU จากบริการมือถือ โดยรวมอยู่ที่ 216 บาท (+1.8% YoY, +1.2% QoQ) แม้ AIS จะสูญเสียลูกค้าไปจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเติมเงิน แต่ ARPU ที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยช่วยให้รายได้ธุรกิจบริการมือถือยังทรงตัวได้ ชี้เป็นนัยว่าลูกค้าที่เสียไปส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยทำกำไร
- EBITDA margin ในไตรมาส 3/23 ขยายตัวขึ้น 2.6ppts YoY แต่ลดลง -0.8ppts QoQ เป็น 50.5% บริษัทมี SG&A ที่ลดลงแรงหลังจากลดค่าใช้จ่ายการตลาดลง (SG&A ต่อยอดขายไตรมาส 3/23 ที่ 10.8% ไตรมาส 2/23 ที่ 11.0% และไตรมาส 3/23 ที่ 12.3%) ผู้บริหารคาดว่าค่าใช้จ่ายการตลาดจะปรับเพิ่มอีกครั้งแต่ไม่มากเหมือนก่อน (ค่าเฉลี่ย SG&A ต่อยอดขายกรอบ 3 ปีอยู่ที่ 12.0%)
ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2023-24 เพราะการคุมต้นทุนที่ดีกว่าคาด
ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2023-24 ขึ้น เพราะ SG&A และค่าเสื่อมที่ต่ำกว่าคาด ผู้บริหารยังคงแนวทางการเปลี่ยนแปลงด้านกลยุทธ์การตลาดและโครงสร้างต้นทุน ซึ่งจะช่วยหนุนกำไรปี 2023-24 ได้ แต่เรายังมีมุมมองรัดคุมต่อแนวโน้มการเติบโตของรายได้ โดยเฉพาะจากกลุ่มลูกค้าใหม่และการขายมือถือ เพราะบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจในตอนนี้
คงคำแนะนำ “ซื้อ” ปรับเพิ่มมูลค่าพื้นฐานเป็น 266 บาท
เราคงคำแนะนำ “ซื้อ” แต่ปรับมูลค่าพื้นฐานขึ้น 6% เป็น 266 บาท เพื่อสะท้อนถึงการปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2024 ทั้งนี้ ประมาณการกำไรและมูลค่าพื้นฐานของเรายังไม่รวมผลกระทบจากดีล 3BB
Revenue Breakdown
รายได้ของบริษัท มาจาก 3 ธุรกิจหลัก:
- บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือคิดเป็น 63% ของรายได้ปี 2022 บริษัทมีผู้ใช้บริการทั้งหมด 46 ล้านรายทั่วประเทศ โดยมีผู้ใช้บริการที่ชำระล่วงหน้า (ระบบเติมเงิน) คิดเป็นสัดส่วน 73% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด และส่วนที่เหลือเป็นผู้ใช้บริการแบบชำระภายหลัง (แบบระบบรายเดือน) ธุรกิจบริการเครือข่ายมือถือมีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) โดยรวมที่ 213 บาท นอกจากนี้ยังยอดขายของ SIM และอุปกรณ์มือถือซึ่งโดยปกติจะรวมอยู่กับบริการหรือเสนอให้กับลูกค้าแยกต่างหากมีสัดส่วน 21% ของรายได้ทั้งหมด
- บริการอินเตอร์เน็ตความเร็ว (FBB) สูงคิดเป็น 5% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและบริการ ส่งสัญญาณอื่นๆบนเครือข่ายใยแก้วนำแสงของบริษัท ในปัจจุบันบริษัทมีผู้ใช้บริการ 2.2 ล้านราย มี ARPU โดยรวมที่ 407
- ธุรกิจดิจิตอลเซอร์วิสเป็นส่วนที่เหลืออีกราว 10% ซึ่งแบ่งเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มวิดีโอ บริการคลาวด์สำหรับธุรกิจ บริการ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) ดาต้าเซ็นเตอร์ และบริการเช่าอุปกรณ์อื่น ๆ