NER หนุน ม.อ. วิจัยพัฒนายางพารา เพื่อตอบโจทย์ต้องการของลูกค้า และคงความเป็นผู้นำยางพาราอย่างยั่งยืน
บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) ลงนามร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิจัยพัฒนานวัตกรรมยางพารา ปีที่ 3 เพื่อต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ากลุ่มเกษตรเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆและกลุ่มผู้ค้าคนกลางทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดเผยถึงการลงนามว่า สืบเนื่องจากเมื่อ 2564 บริษัทได้ผลิตแผ่นปูรองนอนคอกปศุสัตว์ ที่มาจากการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ปลายน้ำร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยมีวัตถุดิบตั้งต้นจากผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติแปรรูปอัดแท่งขั้นต้น (STR-20) ของบริษัทฯ เพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า และคงความเป็นผู้นำด้านยางพาราอย่างยั่งยืน บริษัทจึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมคุณค่าและคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ให้มีประสิทธิภาพและผลผลิตดีขึ้น เพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์
สำหรับวัตถุประสงค์ในการลงนามเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย และการบริหารจัดการองค์ความรู้ร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านบริการวิชาการ อาทิ การให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ และการจัดทำมาตรฐาน เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ขององค์กรทั้งสองฝาย และเพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปต่อยอดและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างสูงสุด
“การลงนามความร่วมมือระหว่าง บริษัทและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในการทำให้โครงการวิจัยและพัฒนาในเรื่อง นวัตกรรมคุณค่าและคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ให้มีประสิทธิภาพและผลผลิตดีขึ้น โดยเราจะมุ่งเน้นให้ครบทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ลงลึกไปสู่สูตรต่างๆ ในการผลิต อาทิเช่น การเพิ่มผลผลิต , การพัฒนาสินค้าขั้นกลาง ยางแผ่น ยางแท่ง และยางผสม การพัฒนาการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ การพัฒนาที่ส่งเสริมการขยายการส่งออก ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นายชูวิทย์กล่าว.
ด้านศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายวิจัย นวัตกรรม และพันธกิจสังคม ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และในนามมหาวิทยาลัยได้กล่าวว่า “การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางหรือขนาดเล็ก จะต้องมีกระบวนการที่เป็นระบบ มีขั้นตอนเป็นแบบแผนอย่างชัดเจน ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะเป็นส่วนหนึ่งให้ธุรกิจประสบความสำเร็จนั้น จะต้องมีการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ในตลาดทั่วไปมาใช้ และการจะใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัยได้นั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีข้อมูลความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และด้านอื่นๆอีกหลากหลาย ที่เข้าใจหลักการและการทำงานของเทคโนโลยีนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยสามารถประยุกต์การใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อมาปรับใช้กับธุรกิจ กลยุทธ์ธุรกิจ นโยบาย วัฒนธรรมองค์กร และวิสัยทัศน์ของธุรกิจได้อย่างเหมาะสมลงตัว ในนามผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความยินดี ที่ทางบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ มีการเชื่อมโยง กลไกการพัฒนาผลงานวิจัย นวัตกรรม สู่การใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง พร้อมส่งเสริมกระบวนการรับโจทย์วิจัยตามความต้องการของบริษัท อย่างครบวงจร เพื่อร่วมพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน สู่การนำผลงานวิจัยที่มีศักยภาพ ไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง”