PYLON ประเมินแนวโน้ม Q4 เริ่มฟื้น ตุน Backlog แล้วกว่า 725 ลบ. ยืนยันฐานะการเงินบริษัทแข็งแกร่ง กำสภาพคล่องในมือกว่า 440 ลบ.
PYLON ประเมินแนวโน้ม Q4/66 ช่วงโค้งสุดท้ายของปีกลับมาฟื้นตัว การใช้กำลังการผลิตเครื่องจักร คาดจะอยู่ที่ 13-14 ชุด ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกปีหน้า ตุนงานในมือ 725 ลบ.
หลังภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างเริ่มฟื้น เผยรายได้ 9 เดือน อยู่ที่ 1,145.6ลบ. กำไรสุทธิอยู่ที่ 76.6 ลบ. ยืนยันฐานะการเงินของบริษัทแข็งแกร่ง ปัจจุบันกำเงินสดในมือราว 140 ลบ. และเงินลงทุนกองทุนรวมตลาดเงิน-ตราสารภาครัฐอีกประมาณ 300 ลบ.
ดร.ชเนศวร์ แสงอารยะกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือ PYLON ผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานฐานราก (เสาเข็มเจาะ) ระดับแนวหน้าของประเทศ เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจของบริษัทในช่วงไตรมาส 4/66 ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของปีคาดว่าจะมีการรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้น ปัจจุบันบริษัทมี Backlog อยู่ที่ 725 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานของภาคเอกชน โดยประเมินการใช้กำลังการผลิตคาดว่าจะมีการใช้เครื่องจักรราว 13-14 ชุด ซึ่งการใช้เครื่องจักรในระดับดังกล่าวจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกของปีหน้า เทียบกับไตรมาส 3 ของปีนี้ที่ใช้เครื่องจักร 8-9 ชุด
“ในแง่ของรายได้ปีนี้เชื่อว่าจะทำได้ดี แต่ยอมรับว่าการแข่งขันมีสูงซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ดีมานด์ในตลาดลดลง แต่ PYLON ยังสามารถประคองบริษัทไม่ให้ขาดทุน และยังมีกำไรพอสมควรในปีนี้ โดย 9 เดือนที่ผ่านมา สามารถทำกำไรได้ 76.6 ล้านบาท มีรายได้อยู่ที่ 1,145.6 ล้านบาท เทียบกับปี 2565 ทั้งปีมีรายได้ 1,158 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดในมือราว 140 ล้านบาท และมีเงินลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน-ตราสารภาครัฐ ซึ่งมีสภาพคล่องสูงอีกประมาณ 300 ล้านบาท ยืนยันว่าสภาพคล่องของบริษัทไม่มีปัญหาและอยู่ในระดับดีมากยังแข็งแกร่งสามารถซัพพอร์ตสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้” ดร.ชเนศว์ กล่าว
ปัจจุบันบริษัทมีโครงการในมือที่ทำอยู่หลายโครงการ และล่าสุดได้งานโครงการ Wan Vayla มูลค่าโครงการราว 200 ล้านบาท ซึ่งกำลังเริ่มดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีงานโครงการอื่นๆ เช่น รพ. กรุงเทพคริสเตียนสถานทูตสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะมีการรับรู้รายได้ในปีหน้า และอีกหลายโครงการที่รอรับรายได้ในปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า เช่น โครงการ Wan Vayla โครงการราชเทวี โครงการ Now Mega และงานโครงการปรับปรุงคุณภาพดินที่ อ.บางบาล เป็นต้น
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2567 คาดว่าจะดีกว่าปีนี้ แต่น่าจะยังไม่กลับไปดีเท่าก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยคาดว่าเนื่องจากการแข่งขันด้านราคาจะยังสูง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้เงินงบประมาณของภาครัฐในการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาแม้งานภาครัฐจะน้อยลงบริษัทก็จะสามารถประคองตัวและมีงานทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมสถานการณ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้นอย่างไรก็ดีในด้านการควบคุมภายในบริษัทยังเน้นการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรักษาอัตรากำไรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม