บล.บัวหลวง: 

True Corporation (TRUE TB / TRUE.BK)

TRUE – คาดขาดทุนหลักไตรมาส 4/66 ลดลง

การแข่งขันด้านราคาที่ลดลง บวกกับรายได้เฉลี่ยต่อรายต่อเดือนที่เพิ่มขึ้น สำหรับทั้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจบรอดแบนด์บ้านในช่วงตั้งแต่ไตรมาส 4/66 ต่อเนื่องไปยังปี 2567 ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่จะส่งผลรายได้บริการกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เราคาดว่าผลประโยชน์ร่วมจากการควบรวมกิจการสุทธิ (net synergy) จำนวนมหาศาลจะส่งผลให้ผลประกอบการบรรทัดสุดท้ายของ TRUE สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ภายในปี 2568 เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” สำหรับหุ้น TRUE

การแข่งขันที่ดูดีขึ้นในไตรมาส 4/66 ของทั้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจบรอดแบนด์บ้าน

สำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ TRUE มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอีก 15-20บาท/แพ็คเกจ สำหรับลูกค้าโพสต์เพด ณ ปัจจุบันจำนวน 2-3 แสนรายในไตรมาส 4/66 และมีการนำเสนอบริการที่บันเดิ้ลบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โพสต์เพดเข้ากับบริการบรอดแบนด์บ้านในราคาเดียวต่อแพ็คเกจ ในทางตรงกันข้าม แพ็คเกจพรีเพดแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด QoQ สำหรับในไตรมาส 4/66 สำหรับธุรกิจบรอดแบนด์บ้านของ TRUE ส่วนลดเฉลี่ยที่ให้กับลูกค้าได้ปรับลดลงจาก 50% เหลือ 30% ซึ่งมีผลตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. 2566 เป็นต้นไป หรือหมายความโดยทางอ้อมคือ การปรับราคาเพิ่มขึ้น อีก 20% จากเดิม บวกกับสมาชิกลูกค้าบรอดแบนด์บ้านรายใหม่จะต้องทำการชำระค่าใช้จ่ายสำหรับค่าติดตั้ง (จากก่อนหน้านี้ที่ TRUE เป็นผู้แบกรับ ค่าใช้จ่ายดังกล่าว) เราคาดว่าปัจจัยบวกดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้รายได้เฉลี่ยต่อรายต่อเดือนของทั้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจบรอดแบนด์บ้านปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 เราคาดว่าจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหม่สุทธิในไตรมาส 4/66 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น QoQ โดยจะ มีปัจจัยหนุนจากการเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น (รวมถึงช่วงฤดูท่องเที่ยว) เราใช้สมมติฐานรายได้เฉลี่ยต่อรายต่อเดือนของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาส 4/66 ที่ 199 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.5% QoQ

เป็นอีกหนึ่งไตรมาสที่รายได้บริการหลักเพิ่มขึ้น QoQ สำหรับในไตรมาส 4/66

เราคาดรายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาส 4/66 ที่ 3.16 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% YoY (ถ้ากลับไปปรับปรุงงบไตรมาส 4/65 โดยรวมงบของ DTAC เข้ามาในงบของ TRUE เพื่อเปรียบเทียบ YoY ซึ่งการควบรวมกิจการจริงๆ แล้วมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2566 เป็นต้นไป) และเพิ่มขึ้น 1% QoQ (จากช่วงไฮซีซั่นและการปรับราคาเพิ่มขึ้น) ถ้าพิจารณาธุรกิจอื่นๆ เราคาดรายได้ธุรกิจเพย์ทีวีในไตรมาสนี้ที่ 1.65 พันล้านบาท ลดลง 0.6% QoQ (เนื่องจากฐานรายได้ไตรมาส 3/66 ที่สูงผิดปกติจากรายได้งานอีเว้นท์ที่บันทึกครั้งเดียว) เราคาดรายได้ธุรกิจบรอดแบนด์บ้านในไตรมาสนี้ที่ 5.94 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% QoQ (จากการปรับราคาเพิ่มขึ้น และจำนวน ผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น) โดยภาพรวม เราคาดรายได้บริการหลักในไตรมาส 4/66 (ที่ไม่รวมไอซี) ที่ 3.99 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% YoY (ถ้าปรับปรุงงบไตรมาส 4/65 โดยรวม DTAC เข้ามาด้วย) และเพิ่มขึ้น 0.9% QoQ (จากการปรับราคาเพิ่มขึ้นสำหรับทั้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจบรอดแบนด์บ้าน) เราคาดว่ารายได้จากธุรกิจขายเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์อื่นๆ ในไตรมาส 4/66 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 13% QoQ (เนื่องจากการรับรู้ยอดขายไอโฟน 15 เข้ามาเต็มทั้งไตรมาส)

ส่องกล้องไตรมาส 4/66-ขาดทุนหลักมีแนวโน้มลดลง QoQ

เราคาดขาดทุนสุทธิในไตรมาส 4/66 ที่ 1.2 พันล้านบาท หรือขาดทุนลดลง 88% YoY (ถ้าปรับปรุงงบไตรมาส 4/65 โดยรวมงบของ DTAC เข้ามาในงบของ TRUE) และขาดทุนลดลง 25% QoQ หากไม่รวมรายการพิเศษในไตรมาส 4/66 เราคาดขาดทุนหลักในไตรมาสนี้ที่ 1.05 พันล้านบาท หรือขาดทุนลดลง 78% YOY (ถ้าปรับปรุงงบไตรมาส 4/65 โดยรวมงบ DTAC เข้ามาในงบของ TRUE) และขาดทุนลดลง 45% QoQ ขาดทุนหลักในไตรมาสนี้ที่มีแนวโน้มลดลง QoQ เนื่องจากรายได้บริการหลักที่เพิ่มขึ้น (จากช่วงไฮซีซั่นและการปรับราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น) และต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง (โดยเฉพาะต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงข่ายในส่วนของต้นทุนค่าไฟที่ปรับลดลงอย่างมาก)

ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารโดยปกติจะเพิ่มขึ้น QoQ สำหรับในไตรมาสสี่ (เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่น) แต่เราคาดว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของ TRUE สำหรับในไตรมาส 4/66 มีแนวโน้มที่จะทรงตัว QoQ เนื่องจากการรับรู้ผลประโยชน์ร่วมจากการควบรวมกิจการ (synergy) กับ DTAC เข้ามาในแง่ของต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ลดลง (เช่น การประหยัดต้นทุนค่าพลังงาน และค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงจากการรวมโครงข่ายเข้าด้วยกัน การลดค่าใช้จ่ายในแง่ของค่าเช่าจากการปิดสาขาที่ซ้ำซ้อนกัน และการใช้พื้นที่สำนักงานที่ลดลง บวกกับจำนวนพนักงานที่ลดลง) ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการ (integration costs) จำนวนประมาณ 8 พันล้านบาทที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 4/66 ส่วนใหญ่จะถูกบันทึกไปเป็นในรูปของงบลงทุน (CAPEX) แทน (ไม่ใช่บันทึกในรูปของต้นทุนจากการดำเนินงานในงบกำไรขาดทุน)

- Advertisement -