บล.เอเซีย พลัส:
TOP คาดกำไร 4Q66 ลดลง QoQ จาก GRM ลด และขาดทุนสต๊อก
คาดกำไรสุทธิงวด 4Q66 เท่ากับ 2.8 พันล้านบาท ลดลงถึง 73.6%QOQ เป็นผลหลักจากทั้งกำไรปกติที่ลดลง 60.5%QOQ มาอยู่ราว 3.4 พันล้านบาท ถูกกดดันหลักจากค่าการกลั่นที่ลดลงมาอยู่ที่ 7 จาก 12.4 เหรียญฯต่อบาร์เรล และรายการพิเศษบันทึกกลับเป็นขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันฯ สำหรับแนวโน้มกำไรปกติ 1Q67 คาดทรงตัวหรือดีขึ้นเล็กน้อย QOQ รับผลบวกจาก CRUDE PREMIUM ที่ลดลง และต้นทุนที่กลับสู่ภาวะปกติ และยังได้ปัจจัยหนุนตามช่วงฤดูกาลอยู่ในไตรมาส 1
ปรับลดคาดการณ์เงินปันผลตั้งแต่ปี 2566 ภายใต้การปรับลดสมมติฐานอัตราเงินปันผลจ่ายลงเหลือ 30% จากเดิม 40% ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของ TOP ในปัจจุบันที่ต้องใช้เงินไปลงทุนโครงการ CFP ซึ่งภายใต้ประมาณการใหม่มูลค่าพื้นฐาน ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 59 บาทต่อหุ้น (เดิม 61) ยังให้น้ำหนักการลงทุนด้านพื้นฐานในลักษณะ TRADING สะสมขณะที่หุ้นย่อตัว เพราะเชื่อว่าจะเห็นจังหวะการดีดตัวของราคาหุ้นได้เป็นระลอกๆตามทิศทางค่าการกลั่น แต่ทั้งนี้ช่วงสั้นยังมีประเด็นข่าวเรื่อง UNPLANNED SHUTDOWN ที่ยังไม่ชัดเจนเป็นความเสี่ยง
คาด 4Q66 กำไรลดลงมีนัยฯ QoQ จากธุรกิจโรงกลั่น
ฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรสุทธิงวด 4Q66 เท่ากับ 2.8 พันล้านบาท ปรับตัวลดลงมีนัยฯถึง 73.6%qoq ซึ่งเป็นผลหลักจากทั้งกำไรจากการดำเนินงานปกติที่ปรับตัวลดลง และรายการพิเศษที่สุทธิแล้วในงวด 4Q66 พลิกกลับเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษรวม 531 ล้านบาท จากงวดก่อนหน้าที่สุทธิเป็นรายได้พิเศษรวม 2.3 พันล้านบาท หลักๆเป็นผลมาจากการบันทึกกลับเป็นขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันรวม NRV ราว 3.0 พันล้านบาท เทียบกับงวดก่อนหน้าที่บันทึกเป็นกำไรจากสต๊อกน้ำมันฯที่ 7.9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงจากงวดก่อนหน้าราว 16 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล (ราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเดือน ก.ย.อยู่ที่ 93 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่เดือน ธ.ค. อยู่ที่ 77 เหรียญฯต่อบาร์เรล) แต่อย่างไรก็ตามได้รายได้พิเศษ 2 รายการมาช่วยชดเชยขาดทุนสต๊อกฯไว้ได้บ้างในงวด 4Q66 ได้แก่ 1) บันทึกกลับเป็นกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 1.6 พันล้านบาท จากงวดก่อนหน้าที่บันทึกเป็นขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 517 ล้านบาท ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นราว 2.3 บาทต่อเหรียญฯ มาอยู่ที่ 34.4 บาทต่อเหรียญฯ จากปิด 3Q66 ที่ 36.7 บาทต่อเหรียญฯ และ 2) บันทึกกลับเป็นกำไรจาก Hedging ราว 735 ล้านบาท จากงวดก่อนหน้าที่บันทึกเป็นขาดทุนจาก Hedging 4.5 พันล้านบาท แบ่งเป็น Realized Hedging Loss ลดลงมาอยู่ราว 665 ล้านบาท จาก 2.5 พันล้านบาท ส่วน Unrealized Hedging พลิกกลับเป็น Gain 1.4 พันล้านบาท จากงวดก่อนหน้า Loss 2.0 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตามหากตัดรายการพิเศษ พิจารณาเฉพาะกำไรจากการดำเนินงานปกติในงวด 4Q66 พบว่าปรับตัวลดลง 60.5%qoq มาอยู่ราว 3.4 พันล้านบาท ถูกกดดันหลักจากธุรกิจหลักโรงกลั่นที่มีผลการดำเนินงานลดลงมีนัยฯจากงวดก่อนหน้า ตามค่าการกลั่น (Market GRM) ที่ในงวด 4Q66 คาดจะลดลงมาอยู่ราว 7.0 จาก 12.4 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในงวดก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากทั้ง product spread ของน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภันฑ์ ทั้งกลุ่ม Middle distillate (Diesel+Jet: สัดส่วนราว 55%) ที่ spread ปรับตัวลดลงราว 2.4-5.7 เหรียญฯต่อบาร์เรล จากงวดก่อนหน้ามาอยู่ราว 26.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล เนื่องจาก supply ที่ตึงตัวจากโรงกลั่นมีหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงทั้งตามแผนและไม่ตามแผนในช่วง 3Q66 กลับสู่สถานการณ์ปกติในช่วง 4Q66 แต่
ยังคงได้รับอานิสงค์จากช่วงฤดูกาลฤดูหนาวทำให้ spread กลุ่ม middle distillate ยังอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับกลุ่ม ULG95 (สัดส่วนราว 18-19%) ที่ spread ลดลงราว 6.4 เหรียญฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล นอกจากนี้ค่าการกลั่นในงวด 4Q66 ยังถูกกดดันจากจาก Crude Premium ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.3 เหรียญฯต่อบาร์เรล จากงวดก่อนหน้าที่ 1.8 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล อีกทั้งในงวด 4Q66 ยังคงได้รับผลกระทบจากต้นทุน ship to ship cost ที่เพิ่มขึ้นราว 0.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล ต่อเนื่องจากงวด 3Q66 จากผลกระทบน้ำมันดิบรั่วไหลจากเรือบรรทุกน้ำมัน ขณะขนถ่ายน้ำมันดิบบริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล หมายเลข 2 (SBM-2) ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ทำให้การขนถ่ายน้ำมันจากนี้ต้องหันไปใช้แท่น SBM-1 ซึ่งรับได้เฉพาะเรือขนาดเล็ก ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนเป็นเรือขนาดเล็กสำหรับการขนถ่ายน้ำมันเข้าโรงกลั่นเกิดขึ้น ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในการซ่อมแซม เพราะต้องรอให้ภาครัฐมาตรวจ และอนุญาตให้ซ่อมก่อน ซึ่งทาง TOP คาดไว้ราว 10-12 เดือน นับจากเกิดเหตุในช่วงต้นเดือน ก.ย. 66 สำหรับในส่วนของ อัตราเดินเครื่อง utilization rate ของโรงกลั่นในงวด 4Q66 คาดจะทรงตัวใกล้เคียงกับงวด 3Q66 ที่ราว 110%
แต่อย่างไรก็ตามคาดกำไรปกติงวด 4Q66 ได้รับผลบวกบางส่วนจากผลการดำเนินงานของธุรกิจอะโรเมติกส์ (TPX) และ LAB ที่ปรับตัวดีขึ้นในงวดนี้มาอยู่ที่ 1.0 จาก 0.7 เหรียญฯต่อบาร์เรล โดยคาดส่วนแบ่งกำไรของธุรกิจอะโรเมติกส์ (TPX) จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ราว 0.5 จาก 0.2 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในงวดก่อนหน้า หลักๆมาจาก Spread ผลิตภัณฑ์ Px และ Bz ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.8 และ 70.4 เหรียญฯต่อตัน จากงวดก่อนหน้ามาอยู่ที่ 197.6 และ 71.4 เหรียญฯต่อตัน ตามลำดับ เช่นเดียวกับ Utilization rate ที่คาดจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 80% จาก 74% ในงวดก่อนหน้า ส่วนส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจ LAB คาดจะทรงตัวที่ 0.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล เท่ากับงวดก่อนหน้า
ขณะที่ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น (TLB) คาดส่วนแบ่งกำไรยังคงใกล้เคียงจากงวดก่อนหน้าที่ 0.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของ spread ยังไม่โดดเด่นมากนัก โดย spread น้ำมันหล่อลื่น 500SN (สัดส่วน 25%) และ spread บิทูเมน (สัดส่วน 40%) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 521.6 และ 9.9 จาก 441.7 และติดลบ -59.8 เหรียญฯต่อตัน ในงวดก่อนหน้า ตามลำดับ ประกอบกับ Utilization rate เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 80% จาก 79% ในงวดก่อนหน้า
โดยรวมแล้วคาด Market GIM (Gross Integrated Margin) ในงวด 4Q66 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.5 จาก 13.6 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในงวดก่อนหน้า นอกจากนี้คาดในงวด 4Q66 จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.7 จาก 3.7 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในงวดก่อนหน้า ซึ่งเป็นปกติของไตรมาส 4 ของทุกปีที่จะมีต้นทุน OPEX ปรับตัวเพิ่มสูงกว่าไตรมาสอื่นๆของปี จากการใช้งบประมาณให้หมดภายในปี หรือจะเป็นการบันทึกค่าใช้จ่ายโบนัสพนักงาน เป็นต้น
โดยรวมแล้วคาดกำไรสุทธิ และกำไรจากการดำเนินงานปกติ 2566 อยู่ที่ 1.9 และ 2.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 40.8%yoy และ 23.7%yoy ตามลำดับ ซึ่งยังอยู่ในกรอบของประมาณการทั้งปีที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้
ปรับลดอัตราปันผลจ่ายตั้งแต่ปี 2566…ทิศทางกำไรปี 2567 ลดลง YoY ตามสมมติฐานค่าการกลั่นที่ลดลงสู่ภาวะปกติ
ฝ่ายวิจัยได้มีการปรับลดคาดการณ์เงินปันผลตั้งแต่ปี 2566 ภายใต้การปรับลดสมมติฐานอัตราเงินปันผลจ่าย (Dividend Payout Ratio) ลงเหลือ 30% จากเดิม 40% เพื่อสะท้อนนโยบายการจัดสรรเงินทุนบางส่วนไว้ใช้สำหรับการลงทุนโครงการ CFP รวมถึงฐานะการเงินที่ค่อนข้างตึงตัวอยู่ในปัจจุบัน ทำให้คาดการณ์เงินปันผลจ่ายปี 2566 จะลดลงมาอยู่ราว 2.6 บาทต่อหุ้น ซึ่ง 1H66 จ่ายเงินปันผลแล้วในอัตราหุ้นละ 0.6 บาทต่อหุ้น ดังนั้นคาด 2H66 เงินปันผลจ่ายจะอยู่ราว 2.0 บาทต่อหุ้น สำหรับภาพรวมทิศทางกำไรจากการดำเนินงานปกติปี 2567 คาดจะเห็นการปรับตัวลดลง YoY ตามสมมติฐานค่าการกลั่นที่กำหนดให้ลดลงมาอยู่ที่ 6.0 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ราว 8 เหรียญฯต่อบาร์เรล) และ spread กลุ่มอะโรเมติกส์ และน้ำมันหล่อลื่นทรงตัว YoY ภายใต้สถานการณ์ปกติ ภาวะสมดุลระหว่าง demand และ supply ของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป และทิศทางกำไรรายไตรมาสที่คาดจะเป็นไปตามฤดูกาลที่จะอยู่ระดับสูงในไตรมาส 1 และ 4 ของปี ที่เป็นช่วง high season ก่อนที่จะอ่อนตัวลงในไตรมาส 2 และ 3 ของปี
ทั้งนี้คาดแนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานปกติงวด 1Q67 คาดจะทรงตัว หรือดีขึ้นเล็กน้อย QoQ รับผลบวกหลักจาก crude premium ที่ปรับตัวลดลง โดยค่าเฉลี่ย 1QTD crude premium ลดลงมาอยู่ราว 1.1 เหรียญฯต่อบาร์เรล จาก 3.3 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในงวดก่อนหน้า ขณะที่ spread ผลิตภัณฑ์น้ำมันทรงตัวใกล้เคียงกับงวดก่อนหน้า ทำให้คาด Market GRM น่าจะยืนได้ในระดับ 7 เหรียญฯต่อบาร์เรล ส่วนของธุรกิจอะโรเมติกส์นั้น คาดจะค่อยฟื้นตัวดีขึ้น แตไม่ได้โดดเด่นมาก เช่นเดียวกับธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นที่ต้องรอฤดูกาลในไตรมาส 2 ที่ spread ผลิตภันฑ์จะฟื้นตัว นอกจากนี้คาดจะได้รับผลบวกจากต้นทุนที่คาดจะปรับตัวลงสู่ระดับปกติรายไตรมาส
ส่วนของรายการพิเศษอื่นๆในงวด 1Q67 หากราคาปิดน้ำมันดิบดูไบช่วงสิ้นงวด 1Q67 อยู่เหนือ 77 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะบันทึกเป็นกำไรจากสต๊อกน้ำมัน ซึ่งหากพิจารณาราคาน้ำมันดิบดูไบในปัจจุบัน คาดในงวด 1Q67 โอกาสที่จะบันทึกกำไร/ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันจะไม่มากเช่นที่เกิดขึ้นในงวด 4Q66 เช่นเดียวกับในส่วนของ hedging ที่คาดมีโอกาสที่จะบันทึกขาดทุน/กำไรจาก hedging ไม่มากเช่นกัน
การดำเนินงานด้าน ESG ของ TOP
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) : ยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก โดยกำหนดกลยุทธ์หลัก ได้แก่
มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas(GHG) Emission) ภายในปี 2603 โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินกิจกรรมดูดกลับ หรือดักจับปริมาณการปลดปล่อยเทียบเท่าปริมาณที่ยังคงเหลือในกระบวนการผลิตใน
ชั้นบรรยากาศ รวมทั้งแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่สนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว รักษาสัดส่วนรายได้จากธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน้อยร้อยละ 25 ของรายได้สุทธิ ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
ด้านสังคม (Social) : สร้างความผูกพัน ควบคู่กับการสร้างคุณค่าต่อชุมชนและสังคม เพื่อเติบโตร่วมกันในระยะยาว โดยมีกลยุทธ์หลักได้แก่
การลงทุนเพื่อชุมชน (CSR for the Community) พัฒนาสาธรณูปโภค ยกระดับด้านสาธารณสุข จัดทำพื้นที่สีเขียว สวนสุขภาพเพื่อชุมชนเนื่องในการครบรอบ 60 ปี ไทยออยล์และส่งเสริมอาชีพเพื่อชุมชน โดยมีการจัดทำการประเมินความผูกพันกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ โดยมีเป้าหมายรักษาความผูกพันของชุมชนมากกว่าร้อยละ 90
การลงทุนเพื่อสังคม (CSR for the Society) พัฒนาด้านสาธารณสุข ในโรงพยาบาลและสถานพยาบาล โดยการบริหารจัดการประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และสร้างต้นแบบการใช้พลังงานทดแทน ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ และต่อยอดไปสู่การพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ให้สอดคล้องการโครงการด้านธุรกิจของบริษัทในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทได้มีการกำหนดตัวชี้วัดด้วยการสร้างผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment : SROI) ไม่ต่ำกว่า 2 เท่าของเงินลงทุนเชิงสังคมภายในปี 2573
การลงทุนด้านการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ผ่านการโครงการส่งเสริมอนุรักษ์ฟื้นฟู และเพิ่มพื้นที่ป่า และป่าชายเลน รวมถึงการสร้างระบบนิเวศให้สมดุลในชุมชนเพื่อสนับสนุนองค์กรไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ใน
ระยะยาว
บรรษัทภิบาล (Governance) : สร้างความเชื่อมั่นด้านบรรษัทภิบาล และความโปร่งใสภายในองค์กร พร้อมส่งเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยการประยุกต์ใช้หลักการ GRC (Governance, Risk, & Compliance) ผ่าน 3 หลักการ ได้แก่ 1) การแสดงออกของผู้บริหาร, 2) การสร้างระบบที่แข็งแกร่ง, 3) การรักษาสมดุลระหว่างการควบคุมกับประสิทธิภาพ โดยกำหนดดัชนีชี้วัดคือการปราศจากการฝ่าฝืนกฏหมาย และกฏระเบียบขององค์กร
ทั้งนี้ บริษัทได้มีการจัดทำคู่มือหลักการกำกับดูแลจรรยาบรรธุรกิจ โดยกำหนดให้คณะกรรมการและผู้บริหารต้องเป็นผู้นำ และตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติ รวมถึงจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทเป็นประจำทุกปีตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตลอดจนกำหนดนโยบายให้มีการจัดทำการประเมินผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท ฯ โดยผู้ประเมินอิสระทุก 3 ปี เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับใช้ในบริษัทฯ ต่อไป
ประเด็นความเสี่ยง
1.การหยุดฉุกเฉินของโรงกลั่นและโรงงานอะโรเมติกส์ รวมถึงโรงงานอื่นๆของ TOP (UNPLANNED SHUTDOWN)
2.ค่าการกลั่น SPREAD ผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ และ SPREAD ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น ไม่ได้เป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจทำให้ประมาณการไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
3.ประเด็นภัยแล้ง อาจนำไปสู่ปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอใช้ในโรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมี ในกรณีเลวร้ายสุดอาจทำให้ถึงขั้นต้องปรับลดกำลังการผลิต และหยุดผลิตลงในที่สุด