บล.เอเซีย พลัส:

BDMS คาด 4Q66 ยังเติบโตได้ในระดับสูง

ประเมินกำไรสุทธิงวด 4Q66 อยู่ที่ 3,648 ล้านบาท เติบโต 17%YoY สนับสนุนจากการกลับเข้ามารักษาของคนไข้ชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มารักษาโรคซับซ้อนในศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศ (CoE) โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้ต่างชาติ Fly-in และปัจจัยหนุนจากโรคระบาดตามฤดูกาลที่ต่อเนื่องมายังไตรมาส 4

โอกาสที่จะเติบโตไปพร้อมกับเทรนด์โลกในอุตสาหกรรม Wellness ประกอบกับการเป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลที่มีการเติบโตในอนาคตที่โดดเด่น คาดการณ์กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ยปีละ 9% ในปี 2567-2570 ประเมินราคาเหมาะที่ 31.50 บาท อิงวิธี DCF ให้น้ำหนักการลงทุน OUTPERFORM

งวด 4Q66 ประเมินกำไร 3,648 ล้านบาท เติบโต 17%YoY

ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรสุทธิงวด 4Q66 อยู่ที่ 3,648 ล้านบาท (-6%QoQ,+17%YoY) ภาพรวมกำไรที่เติบโตได้ดีเทียบกับปีก่อน หนุนจากรายได้กลุ่มคนไข้ต่างชาติและชาวไทยที่ยังเติบโตได้จากการเข้ามารักษาโรคที่มีความซับซ้อนหรือโรคยากในศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มคนไข้ตะวันออกกลาง Fly-in เป็นหลัก สอดคล้องกับข้อมูลการเดินทางของชาวตะวันออกกลางมายังประเทศไทยในเดือน ม.ค. – พ.ย. 2566 ที่เติบโตขึ้นกว่า 906%YoY อยู่ที่ 552,638 ราย (อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) อัตราการครองเตียงในงวด 4Q66 คาดว่าอยู่ที่ 73% (อัตราการครองเตียงเฉพาะกลุ่มคนไข้ตะวันออกกลางอยู่ที่ 80%) ลดลงเมื่อเทียบกับงวด 3Q66 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นที่สุดของธุรกิจโรงพยาบาลที่ 76% แต่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับงวด 4Q65 ที่ 69% ในขณะที่รายได้จากกลุ่มคนไข้ CLMV ยังเติบโตเล็กน้อย ถึงแม้จะมีปัจจัยกดดันเฉพาะตัวในกลุ่มคนไข้เมียนมาร์ที่มีปัญหาการเมืองภายในประเทศ และฐานที่สูงในไตรมาสก่อนหน้า ในส่วนของรายได้จากคนไข้ไทยยังเติบโตได้ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากโรคตามฤดูกาลที่ระบาดต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 3 ซึ่งมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออกสูงกว่าค่ากลางในช่วงปี 2560-2565 ถึง 3 เท่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ณ สิ้นปี 2566 มีจำนวนผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกอยู่ที่ 119,166 ราย และจำนวนผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ 480,180 สำหรับประสิทธิภาพการทำกำไร ประเมิน EBITDA Margin อยู่ที่ 24.3% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับงวด 3Q66 ที่ 24.6% เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงาน แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวด 4Q65 ที่ 23.7% ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้

เชื่อปี 2567 ผลการดำเนินงานยังเติบโตได้ในระดับ 9-10%

ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรสุทธิในปี 2567 และ 2568 จะเติบโตได้ 10% และ 9% ตามลำดับ ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในระยะสั้นจะมาจากรายได้กลุ่มคนไข้ต่างชาติที่เดินทางมารักษาโรคซับซ้อนในศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศทั้ง 14 แห่ง คาดว่าจะเริ่มเปิดศูนย์ใหม่ๆที่มีความเฉพาะทางมากขึ้นในสาขาเดิมบนทำเลที่มีความต้องการมากขึ้น โดยสัดส่วนรายได้จากคนไข้ต่างชาติจะกลับไปที่ 30% ของรายได้กิจการโรงพยาบาลภายในปี 2567 รวมถึงยังมีการขยายฐานคนไข้ไปยังกลุ่มคนไข้ประกันสังคมที่มุ่งเน้นคนไข้ที่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่น เช่น ลูกค้าองค์กรที่มีสวัสดิการควบคู่กับประกัน ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าจำนวนผู้ประกันตนเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นมาระดับ 9 แสนราย และ 1 ล้านราย ภายในปี 2567 และ 2568 จากปัจจุบันที่มีจำนวนผู้ประกันตนเฉลี่ย 7 แสนราย

ในส่วนของภาพการเติบโตระยะกลาง-ยาวจะมาจากการขยายจำนวนเตียงและเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ รวมถึงการรุกตลาด Wellness มากขึ้น ในปี 2567 คาดว่าจะมีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้น 200 เตียง จากโรงพยาบาลพญาไทศรีราชาจำนวนทั้งหมด 100 เตียง เพื่อรองรับกลุ่มคนไข้ประกันสังคม และโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นการสร้างอาคารอยู่ในพื้นที่เดียวกับโรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์อีก 100 เตียง

ในขณะเดียวกันตลาด Wellness ของประเทศไทย เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2563-2565 เติบโตเฉลี่ยปีละ 35.7% อ้างอิงข้อมูลจาก Global Wellness Institute ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง การรุกตลาด Wellness จะเป็นสิ่งที่ช่วยต่อยอดให้กับธุรกิจโรงพยาบาล ตั้งแต่การป้องกันโรคไปจนถึงการฟื้นฟูภายหลังการรักษา สอดรับกับแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ส่งผลทำให้อัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น ถือเป็นโอกาสที่สำคัญในการขับเคลื่อนผลประกอบการระยะยาว

ประเมิน FV ที่ 31.50 บาท แนะนำ “OUTPERFORM”

แนวโน้มกำไรสุทธิทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 ที่ 14,071 ล้านบาท เติบโต 12%YoY ฝ่ายวิจัยคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ไว้เท่าเดิมที่ 15,414 ล้านบาท เติบโต 10%YoY โดยคาดการกำไรจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 9% ในปี 2567-2570

โอกาสที่จะเติบโตไปพร้อมกับเทรนด์โลกในอุตสาหกรรม Wellness ประกอบกับเป็นผู้นำในธุรจกิจที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมกับการเติบโตในอนาคตที่โดดเด่น ประเมินราคาเหมาะที่ 31.50 บาท อิงวิธี DCF ให้น้ำหนักการลงทุน OUTPERFORM

การดำเนินงานด้าน ESG

Environment (E): BDMS มีนโยบายต่างๆที่สนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อม และมีความมุ่งมั่นในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (2050 Net Zero) โดยให้ความสำคัญในการทำโครงการ Green Healthcare ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลและโรงงาน มีโรงพยาบาล Green Hospital ต้นแบบ 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ เชียงใหม่ และโรงพยาบาลกรุงเทพ หัวหิน และในปี 2566 มีแผนงานที่จะเพิ่มโรงพยาบาล Green Hospital เป็น 18 แห่ง นอกจากนั้น BDMS ยังมีการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
24 แห่ง โดยโรงพยาบาล 58 แห่ง ร่วมปรับพฤติกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดกิจกรรมต่างๆขององค์กร และจัดการขยะรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์

Social (S): BDMS จัดโครงการอบรมช่วงชีวิตขั้นพื้นฐาน “Hero” ซึ่งหมายถึงทุกคนสามารถเป็นฮีโร่ได้ในชีวิตจริง โดยในปี 2565 มีบุคคลทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 44,429 คน จาก 817 Workshops และในปี 2566 คาดว่าจะมีผู้ผ่านการอบรมไม่น้อยกว่า 50,000 คน โดยจะเพิ่มกลุ่มฮีโร่ในหลากหลายอาชีพ และจัดฝึกอบรมให้แก่บุคคลที่จะเป็นผู้นำความรู้เกี่ยวกับการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานไปสอน

Government (G): ในปี 2566 BDMS มีการประกาศนโยบายการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด การบริการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ทั้งในส่วนของการอบรมการประเมิน และการจัดการบริหารความเสี่ยง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา Healthcare Ecosystem สำหรับบริการทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพครบวงจร

ประเด็นความเสี่ยง

1. ความเสี่ยงจากการลดลงของผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ จะส่งผลกระทบต่อรายได้ธุรกิจโรงพยาบาล
อย่างมีนัยสำคัญ

2. ความเสี่ยงจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลที่มุ่งเน้นการรักษาโรคซับซ้อน ซึ่งต้องการ
แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์อย่างมาก หากไม่สามารถรักษาบุคคลากรดังกล่าวได้ จะส่งผลกระทบทาง
ลบต่อคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการ

3. ความเสี่ยงจากการขยายโรงพยาบาลใหม่ อาจมีค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่ไม่เป็นไปตามแผนงาน ส่งผลให้การสร้างกำไรจากโรงพยาบาลแห่งใหม่เกิดความล่าช้า

- Advertisement -