บล.เอเซีย พลัส:

BBL 4Q66 RESULT NOTE: ปิดไม่สวย

กำไรสุทธิ 4Q66 ที่ 8.9 พันล้านบาท (-22% QOQ, +17% YOY) ต่ำกว่าฝ่ายวิจัยคาด 16% และ BLOOMBERG CONSENSUS ราว 19% มาจากค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (OPEX) มากกว่าประเมิน 10% มาที่ 2.4 หมื่นล้านบาท (+23% QOQ, +24% YOY) หลักๆ เป็นเพราะค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร ส่วนคุณภาพสินทรัพย์งวดนี้ทำได้ดีจาก NPL / LOAN ลดลงเหลือ 3.2% เทียบกับที่คาดไว้ 3.5% (3Q66 ที่ 3.5% และ 4Q65 ที่ 3.6%) และ COVERAGE RATIO ขยับมาที่ 315% จาก 283% ณ สิ้นงวดก่อน และ 261% ณ สิ้นปี 2565

ภายหลังปรับลดกำไรปี 2567 – 68 ราว 3% ซึ่งยังขยายตัวราว 3% ต่อปี และสมมติฐาน GGM ให้ PBV ที่ 0.6 เท่า (เดิม 0.65 เท่า) ให้ FV ใหม่ที่ 175 บาท (เดิม 199 บาท) โดยแม้ราคาหุ้นมีโอกาสตอบสนองเชิงลบจาก OPEX สูงกว่าคาด แต่ราคาหุ้น YTD ปรับฐาน 7% VS SET ลบ 3% ทำให้ PBV ซื้อขาย 0.5 เท่า พร้อมคาดปันผลต่อหุ้นปี 2566 ที่ 6 บาท (1H66 จ่าย 2 บาท เหลือ 2H66F ที่ 4 บาท)ประเมิน LIMIT DOWNSIDE ต่อราคาหุ้น คงคำแนะนำ OUTPERFORM

กำไร 4Q66 ต่ำกว่าฝ่ายวิจัยและตลาดคาด จาก OPEX

กำไรสุทธิ 4Q66 ที่ 8.9 พันล้านบาท (-22% QoQ, +17% YoY) ต่ำกว่าฝ่ายวิจัยคาด 16% และ Bloomberg consensus ราว 19% มาจากค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (OPEX) มากกว่าประเมิน 10% มาที่ 2.4 หมื่นล้านบาท (+23% QoQ, +24% YoY) หลักๆ เป็นเพราะค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร อาทิ ระบบ AI และค่าใช้จ่ายการตลาด ตามฤดูกาล รวมถึงค่าใช้จ่ายกลุ่มบัตรเครดิต หลังเริ่มเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเดอะมอลล์ ภาพดังกล่าวส่งผลให้ Cost to income ratio ขยับมาที่ 56% (คาด 49%) จาก 45.1% งวดก่อนและ 51.7% งวด 4Q65 บนฐานรายได้รวมที่ 4.2 หมื่นล้านบาท (-0.9% QoQ, +14.4% YoY) แบ่งเป็น

(-) รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non – NII) น้อยกว่าประเมิน 21% เหลือ 7 พันล้านบาท (-17% QoQ, +9.3% YoY) เพราะ FVTPL พลิกเป็นลบ 41 ล้านบาท เทียบกับที่คาดว่าเป็นบวก (3Q66 บวก 768 ล้านบาท และ 4Q65 ลบ 2 พันล้านบาท) ตามภาวะตลาดสินทรัพย์เสี่ยงที่ BBL ลงทุน ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียม สอดคล้องกับคาดการณ์ที่ 6.8 พันล้านบาท (-0.1% QoQ, -2.7% YoY) ทั้ง QoQ และ YoY ถูกกดดันจากธุรกิจ บล.

(0) รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ (NII) ตามคาดที่ 3.5 หมื่นล้านบาท (+3% QoQ, +15% YoY) ตามวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งให้ Yield on loan เร่งตัวมาที่ 6.1% จาก 5.9% งวดก่อนและ 5.0% งวดเดียวกันปีก่อน มีน้ำหนักมากกว่า Cost of fund สูงขึ้นเป็น 1.9% เทียบกับ 1.7% งวด 3Q66 และ 1.2% งวด 4Q65 โดยรวม
NIM อยู่ที่ 3.14% จาก 3.09% งวดก่อน (4Q65 ที่ 2.79%) ชดเชยฐานสินเชื่อลดลง 2% QoQ (-0.4% YoY) จากลูกค้าธุรกิจ และสินเชื่อลูกค้าต่างประเทศ (บางส่วนมีผลจากค่าเงินบาท ณ สิ้นงวด 4Q66 แข็งค่าราว 6% จากสิ้นงวดก่อน)

ด้าน ECL น้อยกว่าคาด 19% เท่ากับ 7.3 พันล้านบาท (-18% QoQ, -7% YoY) คิดเป็น Credit cost ที่ 1.1% (3Q66 ที่ 1.3% และ 4Q65 ที่ 1.2%) สอดรับกับ NPL / Loan ลดลง ดังที่จะกล่าวในส่วนถัดไป

ภาพรวมกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท (+42% YoY) ใกล้เคียงฝ่ายวิจัยและตลาดคาด ขยายตัวเพราะ NII ตามวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นทั้งในไทยและสินเชื่อต่างประเทศ (สัดส่วนราว 25% ของพอร์ตสินเชื่อ) รับอานิสงค์จากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นสูงกว่าไทย

คุณภาพสินทรัพย์งวดนี้ทำได้ดี

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ณ สิ้นงวด 4Q66 ในเชิงมูลหนี้ NPL (Stage 3) อยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท (-9.4% QoQ, -11.6% YoY) โดย BBL เปิดเผยว่างวดนี้มีการ Write-off ราวพันล้านบาท ประกอบกับความสามารถการชำระหนี้ของลูกหนี้ดีขึ้น และการปรับโครงสร้างหนี้ขึ้นไปเป็น Stage 2 ภาพรวมช่วยให้ NPL / Loan ลดลงเหลือ 3.2% และดีกว่าที่คาดไว้ 3.5% (3Q66 ที่ 3.5% และ 4Q65 ที่ 3.6%) ขณะที่ระดับการตั้ง ECL ตามข้างต้น มากกว่า Write-off หนุน LLR ขยับมาที่ 2.7 แสนล้านบาท (+0.7% QoQ, +6.7% YoY) คิดเป็น LLR / Loan ที่ 10.1% (3Q66 ที่ 9.9% และ 4Q65 ที่ 9.4%) และหากเทียบกับ NPL ได้ Coverage Ratio ที่ 315% (คาด 287%) จาก 283% ณ สิ้นงวดก่อน และ 261% ณ สิ้นปี 2565

ด้วยระดับ LLR / Loan ข้างต้น ประเมินพร้อมรองรับความเสี่ยงจากภาพเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง แม้อาจทำให้มูลหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ ไหลตกชั้นได้ในอนาคต แต่คาดทำให้การตั้ง ECL อยู่ในการบริหารจัดการตามความเห็นของฝ่ายวิจัย

แนวโน้มกำไรปี 2567 การเติบโตกลับสู่ระดับปกติ

สำหรับแนวโน้มปี 2567 เบื้องต้น BBL ให้มุมมองต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยคงไว้ที่ 2.5% แต่อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ อย่าง FED จะปรับลดก่อนไทย ส่วนเป้าหมายทางการเงินปี 2567 ทาง BBL จะจัด Analyst meeting เพื่อเปิดเผยเป้าหมายทางการเงินปี 2567 ช่วงกลาง ก.พ. 67

โดยในมุมมองฝ่ายวิจัยอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศที่ลดเร็วกว่าไทย ย่อมสร้างผลกระทบต่อพอร์ตสินเชื่อในต่างประเทศ ขณะที่ในไทยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย คาดเกิดหลัง FED ดังนั้นหากไทยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย น่าจะเกิดขึ้นช่วง 2H67 ทำให้ผลกระทบต่อพอร์ตสินเชื่อในไทยที่อิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัวจำกัด ด้าน OPEX ภายใต้กระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ ประเมิน OPEX ไม่ได้ลดลง เพียงแต่อัตราการปรับขึ้น ไม่แรงเท่าปี 2566 (+18% YoY, ปี 2564 – 65 เพิ่มเฉลี่ย 2% YoY) สอดรับกับรายได้ที่รวมขยายตัวในอัตรา
ลดลง หลังวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นถึงปลายทาง และต้นทุนเงินฝากประจำ (สัดส่วน 38% ของเงินฝาก) ทยอย Repricing

เพื่อให้สอดรับกับมุมมองข้างต้นและตัวเลขปี 2566 เบื้องต้นฝ่ายวิจัยมีการปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2567 – 68 เฉลี่ย 3.4% ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 2567 – 68 ลงมาอยู่ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท และ 4.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 3% YoY ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยการเติบโตของกำไรปี 2562 – 66 (CAGR) ที่ 4% ต่อปี

โดยมีสมมติฐานหลักดังนี้ NIM ปี 2567 ที่ 2.90% (ปี 2566 ที่ 2.95%) สะท้อนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในต่างประเทศและไทย ตามข้างต้น และปี 2568 ที่ 2.8% รับผลจากดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงเต็มปี ด้าน Cost to income ratio คาดไว้ 49.5% ในปี 2567 (ปี 2566 ที่ 48.8%) และปี 2568 ที่ 49.8% VS เป้าหมายทางการเงิน BBL ปี 2566 ที่ให้ไว้บริเวณ 50% ส่วน Credit cost ปี 2567 – 68 ที่ 1.2% และปี 2568 ที่ 1.1% ต่ำลงจากปี 2566 ที่ 1.3% เพราะมองระดับ Coverage ratio ที่เกิน 300% เทียบกับค่าเฉลี่ยกลุ่มฯ ราว 180% ไม่ควรที่ระดับการตั้ง ECL จะสูงกว่านี้

ทั้งนี้ กรณีที่เป้าหมายทางการเงินปี 2567 ดีกว่าสมมติฐานฝ่ายวิจัย ยังคงไว้เพื่อความอนุรักษ์นิยม แต่หากต่ำกว่ามีโอกาสทบทวนประมาณการได้อีกครั้ง

Valuation น่าสนใจ พร้อม Div yield 4% ต่อปี

ภายใต้ประมาณการใหม่ ปรับสมมติฐาน GGM กำหนด ROE ระยะยาวที่ 7.7%, COE ที่ 11.5% (เดิม 10.7%) ได้ PBV ที่ 0.6 เท่า (เดิม 0.66 เท่า) ให้ FV ใหม่ปี 2567 ที่ 175 บาท (เดิม 199 บาท) เทียบเท่า PER ที่ 7.8 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตั้งแต่ ปี 2560 ที่ 10 เท่า เกิน 1 S.D. สะท้อนวัฎจักรดอกเบี้ยขาลง โดยราคาหุ้นมีโอกาสตอบสนองเชิงลบจาก OPEX สูงกว่าคาดการณ์ อย่างไรก็ดีราคาหุ้น YTD ปรับฐานราว 7% VS SET ลบ 3% ทำให้ PBV ซื้อขาย 0.5 เท่า และ PER ที่ 6.4 เท่า พร้อมคาดเงินปันผลต่อหุ้น (DPS) ปี 2566 ที่ 6 บาท (1H66 จ่ายแล้ว 2 บาท คงเหลือ 2H66F ที่ 4 บาท) บนสมมติฐาน Dividend payout ratio (DPR) ที่ 27.5% และปี 2567 – 68 คาดไว้ 6.5 บาทต่อหุ้น เทียบเท่า DPR เฉลี่ยที่ 28% VS Pre-COVID ปี 2560 – 62 ที่ 36.7% (DPS ที่ 6.5, 6.5 และ 7 บาท) องค์ประกอบรวมประเมินช่วย Limit downside ของราคาหุ้น คงแนะนำ Outperform

ประเด็นความเสี่ยงที่มีน้ำหนักต่อประมาณปี 2567 ของ BBL

กรณีที่ NIM ลดลงต่ำกว่าคาด โดยทุก 10 bps ของ NIM ที่ปรับตัวลดลงจากคาดการณ์ปี 2567 ที่ 2.9% จะทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิลดลง 3.5% และกำไรสุทธิปี 2567 ลดลง 8.7% โดยเบื้องต้นคาด FV ต่ำลงในอัตราเดียวกัน กรณีที่สินเชื่อโตต่ำกว่าเป้าหมาย โดยทุก 1% ของคาดการณ์สินเชื่อสุทธิปี 2567 ที่ลดลงจากปัจจุบันที่ประเมินขยายตัว 3% yoy จะทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิลดลง 0.6% จาก และกำไรสุทธิปี 2567 ลดลง 1.4% ส่วน FV ไม่เปลี่ยนแปลง กรณีที่คุณภาพสินทรัพย์ มีแนวโน้มแย่กว่าคาด โดยทุก 10 bps ของคาดการณ์ Credit Cost ปี 2567 ที่เพิ่มขึ้นจากสมมติฐานที่ 1.2% จะส่งผลให้กำไรสุทธิปี 2567 ลดลงราว 5% โดยเบื้องต้นคาด FV ต่ำลงในอัตราเดียวกัน

 

- Advertisement -