บล.เอเซีย พลัส:
SCGP ปัจจัยแวดล้อมเริ่มดูดีขึ้น
งวด 4Q66 กำไรสุทธิ 1,219 ล้านบาท ลดลง 8%QoQ ต่ำกว่าคาด ผลประกอบการถูกกดดันจากธุรกิจในฟิลิปปินส์และไทยที่ซบเซาในเดือนธันวาคม อีกทั้งมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น ธุรกิจที่ดีขึ้นชัดเจนคือธุรกิจ Fibrous Chain แต่ก็มีส่วนช่วยภาพรวมกำไรของ SCGP ได้ไม่มากเนื่องจากมีสัดส่วนรายได้เพียง 20%
ปัจจัยแวดล้อมปีนี้ดูดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะด้าน Demand ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอาเซียน ในขณะที่แรงกดดันด้านต้นทุนในปัจจุบันยังมีไม่มาก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเด็นหลักที่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะจะสร้างความผันผวนต่อต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบ ให้น้ำหนักการลงทุน Neutral ประเมินราคาเหมาะสมที่ 45.00 บาท เทียบเท่า Implied PER 30 เท่า
งวด 4Q66 กำไรสุทธิ 1,219 ล้านบาท ลดลง 8%QoQ
งวด 4Q66 SCGP รายงานกำไรสุทธิ 1,219 ล้านบาท (-8%QoQ,+171%YoY) ต่ำกว่าคาด 10% ผลประกอบการถูกกดดันจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในประเทศฟิลิปปินส์ที่เป็น Low Season ของปี และมีวันหยุดยาวเกือบครึ่งเดือนในเดือนธันวาคม ขณะที่ธุรกิจในประเทศไทยมียอดขายซบเซากว่าคาดมากในเดือนธันวาคม โดยเฉพาะลูกค้าในอุตสาหกรรมส่งออกอาหารแห้งและลูกค้าที่มีฐานส่งออกหลักไปทวีปยุโรปและอเมริกา ส่วนธุรกิจในอินโดนีเซียแม้เริ่มมีสัญญาณบวกจากราคา Packaging Paper ที่ขยับขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือน ต.ค 66 แต่ราคาเฉลี่ยใน 4Q66 ก็ยังไม่แตกต่างจากงวด 3Q66 มากนัก ส่งผลให้ Fajar ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ SCGP ถือหุ้น 55.24% ยังคงมีผลขาดทุน นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยในตลาดที่สูงขึ้น ทำให้ SCGP มีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น ธุรกิจที่ทำได้ดีขึ้นเทียบกับไตรมาสก่อนคือ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในเวียดนามเพราะเป็นช่วงที่ลูกค้าจะเร่งผลิตสินค้าก่อนเข้าเทศกาลเต๊ดในเดือน ก.พ 67 รวมถึงธุรกิจ Fibrous Chain ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของยอดขายรวม มีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากปริมาณการขายเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้น หลังโรงงานฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ที่ขอนแก่นกลับมาเดินเครื่องตามปกติ จากที่มีการหยุดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ใน 3Q66 รวมไปถึงราคา Short Fiber Pulp และ Dissolving Pulp ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน
งวด 4Q66 SCGP มียอดขายรวม 31,881 ล้านบาท (+1%QoQ,-5%YoY) ยอดขายที่ลดลงจากปีก่อน มาจากผลกระทบด้านราคาเป็นหลัก โดยราคาขาย Packaging Paper เฉลี่ยงวด 4Q66 ของ SCGP ปรับตัวลดลง 6%QoQ และ 16%YoY มาอยู่ที่ 475 USD/ton เกิดจากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด กระทบต่อราคาส่งออก Packaging Paper ของอาเซียน ขณะที่ปริมาณการขาย Packaging paper โดยรวมของ SCGP ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.8 แสนตัน เทียบกับงวด 3Q66 ที่มีปริมาณการขายเพียง 9.3 แสนตัน เนื่องจากโรงงาน Fajar ในอินโดนีเซีย มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น หลังราคา Packaging Paper ในอินโดนีเซียมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือน ต.ค 66 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบด้านราคาที่ลดลงมีอิทธิพลมากกว่าปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น ทำให้
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร (Integrated Packaging Business) มียอดขายลดลง 5%YoY อยู่ที่ 24,042 ล้านบาท ส่วนธุรกิจเยื่อและกระดาษ มียอดขายลดลง 4%YoY อยู่ที่ 6,593 ล้านบาท มาจากราคาตลาดที่ลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในทุกผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะราคาเยื่อกระดาษที่มีราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565
อัตรากำไรโดยเฉลี่ยไตรมาสนี้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยมี EBITDA margin เฉลี่ยอยู่ที่ 13.76% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวด 3Q66 ที่ทำได้ 13.39% แม้ว่า EBITDA margin ของธุรกิจ Integrated Packaging Business จะลดลงจาก 15.4% ใน 3Q66 มาอยู่ที่ 14.5% จากผลกระทบของราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลง แต่ธุรกิจ Fibrous Business มีอัตรา EBITDA margin เพิ่มขึ้นเป็น 15.5% เทียบกับงวด 3Q66 ที่ทำได้ 13.0% เกิดจากราคาเยื่อเคมีละลายน้ำได้ (Dissolving Pulp) และเยื่อใยสั้น (Short Fiber Pulp) ที่ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งในไตรมาส 3Q66 ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการหยุดซ่อมบำรุงประจำปีโรงงานที่ขอนแก่นเข้ามาราว 100 ล้านบาท โดยรวมปี 2566 SCGP มีกำไรสุทธิ 5,248 ล้านบาท ลดลง 9.5%YoY และได้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวด 2H66 อัตราหุ้นละ 0.30 บาท ( รวมทั้งปี 2566 จ่ายปันผล 0.55 บาท คิดเป็น Dividend Payout Ratio 45%) กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 2 เมย.67
ปัจจัยแวดล้อมปีนี้เริ่มดูดีขึ้น แต่ยังประมาทไม่ได้
ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อธุรกิจของ SCGP เริ่มมีสัญญาณในทางบวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้าน Demand ที่จะฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีธุรกิจท่องเที่ยวเป็นตัวเอื้อหนุน โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กาครัฐพยายามออกมาตราการกระตุ้น เศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ อาทิ มาตรการ Easy E-Receipt นอกจากนี้อินโดนีเซียซึ่งเป็นหนึ่งในฐานการผลิตหลักของ SCGP จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในทุกระดับในเดือน ก.พ. ปีนี้ คาดหวังจะเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักมากขึ้น สำหรับการส่งออก Packaging Paper ของกลุ่มประเทศอาเซียนไปประเทศจีนปีนี้ ก็น่าจะยังอยู่ในระดับสูงตลอดต่อเนื่องทั้งปี หลังรัฐบาลจีนต่ออายุมาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าต่อไปอีก 1 ปี ถึง 31 ธ.ค 67 ด้านราคาผลิตภัณฑ์ทั้ง Packaging Paper และเยื่อกระดาษ มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นจากจุดต่ำสุดที่เกิดขึ้นในช่วง 3Q66 ตอบรับ Demand ที่เริ่มฟื้นตัว และปัญหาความกังวลด้าน Supply Chain จากสงครามที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคกระทบต่อเส้นทางการเดินเรือ
ด้านต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานในงวด 1Q67 ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อ SCGP มากนัก แม้ว่าราคาเศษกระดาษนำเข้าของไทยจะขยับเพิ่มขึ้น ค่อนข้างมากตั้งแต่เดือน พ.ย 66 โดยเฉพาะเศษกระดาษนำเข้าจากอเมริกา (AOCC) อย่างไรก็ตาม SCGP ใช้เศษกระดาษ AOCC คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10-15% ของเศษกระดาษที่ใช้ทั้งหมดเท่านั้น โดย SCGP ใช้เศษกระดาษในประเทศเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 55% ส่วนการนำเข้าเศษกระดาษส่วนใหญ่จะมาจากยุโรปและเอเชียซึ่งมีราคาต่ำกว่า AOCC ราว 15-20% ทำให้ SCGP ได้รับผลกระทบจากราคา AOCC ที่เพิ่มขึ้นไม่มาก ส่วนถ่านหิน SCGP ได้เข้าไปทำสัญญาซื้อถ่านหินล่วงหน้าสำหรับปี 2567 ไว้แล้วประมาณ 40% ซึ่งฝ่ายวิจัยเชื่อว่าราคาถ่านหินปี 2567 น่าจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยเทียบกับปี 2566 สะท้อน
ภาวะ Demand-Supply ที่แท้จริง สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเป็นเรื่องความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจส่งผลให้เกิดความผันผวนของต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบ
ผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว ให้น้ำหนักลงทุน Neutral
ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าผลประกอบการของ SCGP ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2566 หลายปัจจัยลบที่เคยเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูง ผลขาดทุนอย่างหนักของบริษัท Fajar และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าของหลายประเทศหลังโควิด น่าจะมี Impact น้อยลงในปีนี้ ขณะที่ดีลการเข้าซื้อกิจการ และการขยายกิจการแบบ Organic Expansion ในปี 2566 จะสร้างผลตอบแทนเข้ามาในปี 2567 โดยฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2567 จะกลับมาเติบโต 22%YoY อยู่ที่ 6,381 ล้านบาท ประเมินราคาเหมาะสมภายใต้วิธี Discount Cash Flow (DCF) ได้ที่ 45.00 บาท คิดเป็น Implied PER 30.27 เท่า มี Upside 45% จากราคาปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของผลประกอบการที่ชัดเจนคาดว่ายังต้องใช้เวลาอีก 1-2 ไตรมาส ทำให้ราคาหุ้นไม่น่าจะ Outperform ตลาดได้ในช่วงสั้น ในเชิงกลยุทธ์ จึงให้น้ำหนักการลงทุน Neutral
การดำเนินการด้าน ESG ของ SCGP
มิติด้านสิ่งแวดล้อม : มีการกำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เช่นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (NET ZERO) ภายในปี 2593 การลดใช้พลังงานร้อยละ 13 ภายในปี 2568 เทียบกับกรณีปกติ ณ ปีฐาน 2550 การจัดการผลกระทบจากมลภาวะด้านอากาศและกลิ่น การบริหารจัดการน้ำโดยลดใช้น้ำจากภายนอกร้อยละ 35 ภายในปี 2568 เทียบกับฐานกรณีปกติ ณ ปีฐาน 2557
มิติด้านสังคม : มีการกำหนดเป้าหมายด้านสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและมีส่วนร่วมกับชุมชนที่ชัดเจน โดยมีแนวทางในการดำเนินงานและวัดผลที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
มิติด้านธรรมาภิบาล : กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการ รวมถึงจรรยาบรรณเอสซีจี แพคเกจจิ้ง โดยมุ่งให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ SCGP ในด้านการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน และรวบรวมไว้ในคู่มือบรรษัทภิบาลเอสซีจี แพคเกจจิ้ง เพื่อให้กรรมการผู้บริิหาร และพนักงานเกิดความชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ เป็็นไปในแนวทางเดียวกันในทุกหน่วยงานของ SCGP และบริิษัทย่อยทั้้งในและต่างประเทศ