“ชโย แคปปิตอล” หรือ “CCAP” ยื่นไฟลิ่งขาย IPO ไม่เกิน 125 ล้านหุ้น แต่งตั้ง KGI เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
“ชโย แคปปิตอล” หรือ “CCAP” ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจการให้สินเชื่อมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน สินเชื่อสวัสดิการพนักงาน รวมถึงให้บริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้า ซึ่งมี “ชโย กรุ๊ป”หรือ “CHAYO” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เดินหน้านำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ยื่นไฟลิ่งเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 125 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ หลัง IPO โดยผู้ถือหุ้นของ CHAYO เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรร (หรือ “Pre-Emptive Rights”) ไม่เกิน 12.5 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 10% พร้อมแต่งตั้ง บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ธุรกิจเจรจาติดตามเร่งรัดหนี้สิน ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ และกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า เปิดเผยถึงแผนการเสนอขายหุ้นสามัญของ บริษัท ชโย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ CCAP ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ตามแผน Spin-Off เพื่อวางโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มบริษัทให้มีความชัดเจน โดย CCAP จะเป็นบริษัทหลัก (Flagship Company) ของกลุ่มบริษัทในการดำเนินธุรกิจการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ CHAYO และบริษัทย่อยที่ไม่ใช่ CCAP จะประกอบธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ธุรกิจให้บริการเจรจาติดตามทวงถาม และเร่งรัดหนี้ ธุรกิจร่วมลงทุนและหรือธุรกิจอื่นที่ไม่เป็นการแข่งขันกับ CCAP เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนในกลุ่มบริษัท
โดยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 CCAP ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 125,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (par) 1 บาท/หุ้น หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของ CCAP ภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยจะมีการจัดสรรหุ้น IPO ให้ผู้ถือหุ้นของ CHAYO เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรร (Pre-Emptive Rights) ไม่เกิน 12.5 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 10% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเสนอขายในครั้งนี้ พร้อมแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน นำ CCAP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจ (sector) ธุรกิจการเงิน (FINCIAL)
ในด้านโครงสร้างผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 9 มกราคม 2567 CHAYO เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นใน CCAP ก่อนและหลัง IPO ที่ 71.3% และ 53.4% ของทุนชำระแล้ว ตามลำดับ ทั้งนี้ CCAP จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ CHAYO เช่นเดิม
นายณฐพล ทิพชัชวาลวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ CCAP เปิดเผยว่า ปัจจุบัน CCAP ให้บริการสินเชื่อทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อมีหลักประกัน ประเภทจดจำนองและขายฝากสินทรัพย์ (Secured Loan) สินเชื่อสวัสดิการพนักงาน ให้บริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (P-Loan) สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance)
CCAP มีความเชี่ยวชาญและความเข้าใจในธุรกิจการให้สินเชื่อ รายได้หลักของ CCAP มาจากธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกัน ซึ่งมุ่งเน้นกลุ่มผู้กู้ที่ต้องการนำเงินกู้ไปขยายธุรกิจ/เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยเน้นลูกค้ากลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินได้ หรือสามารถเข้าถึงได้เพียงบางส่วน ซึ่ง CCAP เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ โดย CCAP บริหารความเสี่ยงโดยพิจารณาความสามารถชำระหนี้ของลูกค้าตามหลักเกณฑ์พิจารณาสินเชื่อและปล่อยสินเชื่อที่ LTV ไม่เกิน 50%-60% โดยมุ่งเน้นการพิจารณารับหลักประกันประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพในจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เขตเศรษฐกิจพิเศษ และจังหวัดหลักของประเทศ
แผนการเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในครั้งนี้ CCAP มีวัตถุประสงค์การระดมทุนในการนำไปใช้ขยายพอร์ตการให้สินเชื่อ สำหรับการปล่อยสินเชื่อมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เป็นหลัก รวมทั้งใช้สำหรับจ่ายคืนหนี้สินเงินกู้ยืมจากธนาคารและ CHAYO บางส่วน
ทั้งนี้ CCAP มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินทุนสำรองตามกฎหมาย
นางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KGI) กล่าวว่า CCAP เป็นบริษัทย่อยในกลุ่ม CHAYO ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง กลุ่มผู้บริหารมีประสบการณ์ มีความเข้าใจในธุรกิจการให้สินเชื่อเป็นอย่างดี ตลอดจนมีการบริหารจัดการที่ดี สะท้อนจากผลการดำเนินงานของ CCAP ที่มีการเติบโตในระดับที่น่าสนใจ จึงมั่นใจว่า การระดมทุนครั้งนี้จะสนับสนุนให้ CCAP สามารถสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต
โดยผลการดำเนินงานในปี 2564 – 2565 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 CCAP มีรายได้ดอกเบี้ย 13.6 ล้านบาท 77.0 ล้านบาท และ 75.8 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมาจากการเติบโตของลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสินเชื่อที่มีหลักประกันซึ่งมีทั้งลูกค้ารายเดิมที่ขอกู้เพิ่ม และลูกค้ารายใหม่ ๆ รวมถึงการเติบโตของลูกหนี้เงินให้กู้ยืมจากผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 5.6 ล้านบาท 39.0 ล้านบาท และ 27.9 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 41.0% 50.3% และ 36.9% ตามลำดับ โดยอัตรากำไรสุทธิช่วงปี 2564 – 2565 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเติบโตของต้นทุนค่าบริการและค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ อัตรากำไรสุทธิในงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 ลดลง สืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัว IPO และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายพนักงานที่โอนย้ายมาจาก CHAYO รวมถึงการเพิ่มขึ้นของการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากลูกหนี้สินเชื่อไม่มีหลักประกัน