เอสซีจี จับมือ 10 จังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกำจัดผักตบชวา พลิกฟื้นแม่น้ำเจ้าพระยาให้น่ามอง
เอสซีจี โดย บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ร่วมกับกระทรวง มหาดไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามความร่วมมือ (MOU) ทดลองใช้เทคโนโลยีชีวภัณฑ์ช่วยควบคุมปริมาณผักตบชวาใน 10 จังหวัดที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ เพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่แพร่ขยายพันธุ์รวดเร็ว โดยชีวผลิตภัณฑ์จะช่วยควบคุมการแพร่กระจายและลดปริมาณผักตบชวาในแม่น้ำ ทำให้ใบไหม้ และแห้งตาย ง่ายต่อการจัดเก็บ สามารถลดปริมาณผักตบชวาได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และพืชอื่น ๆ ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ นี้ เป็นต้นไป
ความร่วมมือกำจัดผักตบชวา เป็น 1 ใน 6 แผนแม่บทข้อเสนอการแก้ไขปัญหาในเชิงภาพรวมของโครงการแม่น้ำเจ้าพระยาน่ามอง ปราศจากขยะ สร้างชีวิตประชาชนดีขึ้น ซึ่ง เอสซีจี โดย CPAC ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพลิกฟื้นชีวิตให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนที่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำลำคลองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดย 6 แม่บท ประกอบด้วย
- การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวตลอดแม่น้ำเจ้าพระยา
- การจัดการผักตบชวา และวัชพืชต้นไม้เล็กริมน้ำ
- การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง หรือถนนทำหน้าที่เป็นเขื่อน
- การบริหารคุณภาพน้ำให้ผ่านตามมาตรฐาน
- การขุดลอกดินทรายตะกอนที่สันดอนแม่น้ำ
- การศึกษาโครงการแก้มลิงขนาดใหญ่
ในภาพ นายชูโชค ศิวะคุณากร Head of Environment Social Governance & Business Stakeholder Engagement, CPAC ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ผศ.ดร.อาร์ม อันอาตม์งาม รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน