บล.เอเซีย พลัส:

บมจ. แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท (ADVICE)

ผู้ค้าปลีก ค้าส่งสินค้าไอทีชั้นนำ

ADVICE เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้ากลุ่มไอที (คอมพิวเตอร์ D.I.Y, โน้ตบุ๊ค, เครื่องพิมพ์, คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป) และกลุ่มสินค้าอุปกรณ์เสริม (สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า) ที่ผ่านมาผลประกอบการได้รับผลเชิงบวกจากโควิด ที่หนุนการซื้อสินค้าไอที สำหรับใช้เล่นเกมส์ ทำงาน/เรียน ที่บ้าน ทำให้กำไรในปี 2563 – 64 เพิ่มเฉลี่ยถึง 79% เป็น
430 ล้านบาท แต่กำไรลดเหลือ 206 ล้านบาท ในปี 2565 หลังโควิดคลี่คลาย

สำหรับปี 2566 คาดว่าบริษัทจะมีกำไรลดลง 7% YoY เหลือ 191 ล้านบาท ตามการชะลอตัวของสินค้าไอทีทั่วโลก และเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นช้า แต่คาดกำไรจะกลับไปโตได้อีกครั้งในปี 2567 เป็น 266 ล้านบาท (+40% YoY) จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว บวกกับนโยบายของบริษัทที่จะรุกการขายสินค้าไอทีแก่ลูกค้าองค์กร และสินค้าสมาร์ทโฟน (Apple) ที่มีมาร์จิ้นสูง ทั้งนี้เรากำหนดราคาเป้าหมายปี 2567 ของ ADVICE ที่ 7.05 บาท (อิง PER ที่ 16.4 เท่า ซึ่งมีส่วนลดเกือบ 40% จากค่า PER ของหุ้นกลุ่มพาณิชย์ ที่ปัจจุบันซื้อขายด้วย PER อยู่ที่ราว 26.6 เท่า)

ประเด็นการลงทุน

  • ADVICE เป็นผู้ค้าปลีก ค้าส่ง สินค้าไอที ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจยาวนานกว่า 25 ปี มีสินค้าหลัก คือ สินค้ากลุ่มไอที (คอมพิวเตอร์ D.I.Y, โน้ตบุ๊ค, เครื่องพิมพ์, คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป) และสินค้ากลุ่มอุปกรณ์เสริม ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมา สินค้ากลุ่มไอทีสามารถสร้างรายได้ให้ถึง 85% ของยอดขาย ทั้งนี้ยอดขายส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นการขายผ่านหน้าร้าน (Offline) โดย ณ สิ้น 3Q66 มีสาขาและแฟรนไชส์รวม 338 แห่ง (ไทย 313 แห่ง, ลาว 25 แห่ง)
  • ครั้งนี้มีหุ้นเพิ่มทุน 170 ล้านหุ้น (ทุนจดทะเบียนหลัง IPO 310 ล้านบาท จำนวนหุ้น 620 ล้านหุ้น พาร์ 0.50 บาท) เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้สำหรับ 1) ขยาย/ปรับปรุงสาขา, 2) ชำระคืนเงินกู้, 3) เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ และ 4) ลงทุนในระบบสารสนเทศ
  • ผลการดำเนินงาน 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 – ปี 2565) มีกำไรมาตลอด โดยบริษัทได้รับผลเชิงบวกจากสถานการณ์โควิด 19 โดยเฉพาะปี 2563 – 2564 ที่มีกำไรสุทธิเพิ่มจาก 134 ล้านบาท ในปี 2562 (ช่วงก่อนโควิด) เป็น 234 ล้านบาท และ 430 ล้านบาท ตามลำดับ แต่ในปี 2565 หลังโควิด 19 คลี่คลายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาปกติ ส่งผลให้ยอดขายลดลง บวกกับมีค่าใช้จ่ายพิเศษจากการเป็นสปอนเซอร์กีฬา เพื่อสร้างการจดจำสินค้า จึงฉุดให้กำไรลดเหลือ 206 ล้านบาท สำหรับปี 2566 คาดกำไรยังลดลงต่อเนื่อง ด้วยอัตรา 7%YoY เหลือ 191 ล้านบาท ตามการชะลอตัวของการสั่งซื้อสินค้าไอทีทั่วโลก เพราะยังไม่ถึงรอบการซื้อใหม่ หลังจากได้สั่งซื้อไปมากกว่าระดับปกติในปี 2563 – 2564 โดยคาดกำไรจะกลับไปโตได้อีกครั้งในปี 2567 เป็น 266 ล้านบาท (+40% YoY) จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว บวกกับมาตรการ จากภาครัฐเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย รวมทั้งแผนเพิ่มยอดขายและมาร์จิ้น ด้วยการขยายสาขาและการเจรจาเป็นผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการสำหรับสินค้าแบรนด์ “Apple”
  • เราประเมินราคาเป้าหมายปี 2567 สำหรับ ADVICE ไว้ที่ 7.05 บาท (อิง PER ที่ 16.4 เท่า ซึ่งมีส่วนลดเกือบ 40% จากค่าเฉลี่ย PER ของบริษัทในกลุ่มพาณิชย์ปัจจุบันซึ่งซื้อขายที่ PER 26.6 เท่า และเมื่อเทียบกับบริษัทที่จดทะเบียนใน ตลท. และทำธุรกิจใกล้เคียงกับบริษัท คือ บมจ. คอมเซเว่น (COM7) พบว่ามีข้อมูลคาดการณ์ PER ปี 2567 อยู่ที่ราว 16.8 เท่า ขณะที่มี คาดการณ์อัตราเติบโตของกำไรปี 2567 ที่ 12% ซึ่งต่ำกว่าการเติบโตของ ADVICE ซึ่งอยู่ที่ 40%

ผู้ค้าปลีก ค้าส่ง สินค้าไอที ครบเครื่อง

ADVICE ก่อตั้งในปี 2539 โดยเริ่มดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีด้วยช่องทางออนไลน์เป็นรายแรกของไทย ผ่านเว็บไซด์ www.advice.co.th ต่อมาได้เปิดสาขาหน้าร้านแห่งแรก ที่เซียร์ รังสิต จ. ปทุมธานี ในปี 2550 และได้ขยายธุรกิจเรื่อยมา จนปัจจุบันเป็นผู้ค้าส่ง ค้าปลีกสินค้าไอที ที่มีสาขาทั้งในไทย และลาวรวมกัน 338 แห่ง มีสินค้ามากกว่า 16,000 SKUs แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

มีสินค้าไอทีเป็นตัวชูโรง แต่เริ่มรุกกลุ่มอุปกรณ์เสริมเพิ่ม

หากแบ่งสินค้าตามยอดขาย พบว่าสินค้าหลักของบริษัท คือ กลุ่มสินค้าไอที ที่ประกอบไปด้วย คอมพิวเตอร์ D.I.Y, Notebook, เครื่องพิมพ์ และคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป ซึ่งมีสัดส่วนการขายรวมกันราว 85% ของยอดขายโดยรวมในปี 2565 ขณะที่สินค้ากลุ่มอุปกรณ์เสริม (กลุ่มสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์เสริม รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน) มีสัดส่วนรวมกันราว 15%

ทั้งนี้สินค้าในกลุ่มไอทีที่ขายดีที่สุดและสร้างยอดขายสูงติดต่อกันมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คือ 1) คอมพิวเตอร์ D.I.Y (ลูกค้าสามารถจัดสเปคอุปกรณ์ เช่น ซีพียู, แรม, เมนบอร์ด, การ์ดจอ และจอมอนิเตอร์ ได้เอง) และ 2) โน้ตบุ๊ค ซึ่งสินค้าทั้ง 2 ประเภทนี้มีสัดส่วนการขายสูงถึง 38% และ 29% ของยอดขายในปี 2565
ตามลำดับ

สำหรับช่วง 9M66 การขายสินค้าไอที ยังเป็นสินค้าหลัก แต่มีสัดส่วนลดลงเหลือ 81% ขณะที่สินค้ากลุ่มอุปกรณ์เสริมเริ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 19% จากการที่รุกยอดขายกลุ่มสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น หลังบริษัทได้เพิ่มพื้นที่จำหน่ายสินค้าแบรนด์ “Apple” ตั้งแต่ต้นปี 2566 เพื่อสร้างความหลากหลายของสินค้า และเพื่อให้ตอบสนองลูกค้ากลุ่มระดับกลาง-สูง ได้มากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่วางจำหน่ายสินค้าแบรนด์อื่นๆ เช่น “Samsung” และ “Huawai”

ขายปลีกเป็นหลัก

ที่ผ่านมารายได้จากการขายและบริการส่วนใหญ่ราว 60% ของบริษัท เป็นการขายปลีกให้แก่ลูกค้ารายย่อย (ขายผ่านหน้าร้าน ขายออนไลน์) รองลงไปเป็นการขายส่งให้แก่ตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) และแฟรนไชส์ ซึ่งมีสัดส่วนราว 24% และ 12% ตามลำดับ ส่วนการขายปลีกแก่ลูกค้าองค์กรยังมีสัดส่วนเพียง 4%

โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การขายส่งได้ลดลงตลอด ขณะที่ยอดการขายปลีกได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขายปลีก-ออนไลน์ และการขายปลีก-ลูกค้าองค์กร ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงเฉลี่ยราว 30% และ 31% ตามลำดับ และทำให้สัดส่วนการขายปลีก-ออนไลน์ ได้เติบโตขึ้นจาก 12% ในปี 2562 เป็น 21% ในปี 2565 ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ได้เปลี่ยนไปซื้อของออนไลน์มากขึ้น หลังเกิดสถานการณ์โควิด เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทาง ในช่วงที่เกิดการระบาดหนัก และได้ส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนช่องทางขายปลีก-ลูกค้าองค์กรได้เพิ่มจาก 2.3% ในปี 2562 เป็น 4.1% ในปี 2565 เนื่องจากบริษัทนโยบายขยาย ฐานลูกค้าขายปลีก ไปยังช่องทางที่ให้อัตรากำไรสูงให้มีสัดส่วนมากขึ้น

มีสาขาหน้าร้านครอบคลุมทั่วประเทศส่งเสริมการขายปลีก ณ สิ้นงวด 3Q66 บริษัทมีสาขาหน้าร้าน 338 แห่ง แบ่งเป็นสาขาในไทย 313 แห่ง และเป็นสาขาในประเทศลาว 25 แห่ง ซึ่งสาขาหน้าร้านที่มีทั้งหมด โดยสาขาของบริษัทส่วนใหญ่กว่า 53% จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ขณะที่สาขาใน กทม. ยังมีสัดส่วนเพียง 6% ของสาขาทั้งหมด จึงมีโอกาสในการขยายสาขาในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง

เว็บไซด์ของบริษัท (ช่องทางออนไลน์) มียอดผู้เข้าชมมากสุด สำหรับในช่องทางการขายปลีกออนไลน์ โดยเฉพาะเว็บไซด์ของบริษัทเอง คือ www.advice.co.th จากข้อมูลล่าสุด พบว่ามีจำนวนผู้เข้าชมมากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าไอทีเช่นเดียวกันกับบริษัท

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีกำไรตลอด

ผลการดำเนินงานของ ADVICE ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา สามารถแบ่งเป็น 2 ระยะ คือในช่วงปี 2563 – ปี 2564 บริษัทได้รับผลเชิงบวกจากสถานการณ์โควิด 19 เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการระบาดหนัก ผู้คนต้องหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน โดยต้องทำงานหรือเรียนที่บ้านผ่านออนไลน์แทน หนุนการซื้อกลุ่มสินค้าไอทีเพื่อใช้ทำงาน เรียน และเล่นเกมส์ ซึ่งส่งผลให้ในปี 2563 -2564 บริษัทมีรายได้ขายและบริการเพิ่ม 10% – 14% และหนุนให้มีกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงถึง 79% เป็น 430
ล้านบาท ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีกำไรเพียง 134 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 รายได้ขายและบริการค่อนข้างทรงตัวที่ 1.4 หมื่นล้านบาท แต่กำไรกลับลดลดเหลือ 206 ล้านบาท เพราะ 1) อัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) ลดจาก 9.7% ในปีก่อนหน้า เหลือ 8.5% เนื่องจากราคาตลาดของสินค้าบางประเภท โดยเฉพาะการ์ดจอปรับตัวลง

ขณะที่บริษัทยังมีสต็อกราคาสูงอยู่ รวมทั้งการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วง 2Q65 เป็นต้นมา, 2) ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร/ยอดขาย เพิ่มขึ้นจาก 6.0% เป็น 6.7% ตามค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ เพิ่มขึ้นจำนวน 82 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเข้าเป็นสปอนเซอร์หลักของการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษ (12 ก.ค. 65) ระหว่าง “สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” และ “สโมสรลิเวอร์พูล” และ 3) ดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้น 33% YoY จากการ
กู้ยืมเพิ่มเพื่อจัดซื้อสินค้า รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

9M66 กำไรชะลอตัวตามภาพรวมของกลุ่มไอที

สำหรับช่วง 9M66 ADVICE มีกำไรสุทธิ 137 ล้านบาท (-3% YoY) โดยกำไรที่ชะลอลง เป็นเพราะ

1) ยอดขายลดลง 8% YoY เนื่องจากผู้ที่สั่งซื้อสินค้าในช่วง 1-2 ปีก่อน ยังไม่ถึงรอบที่จะต้องซื้อสินค้าไอทีใหม่

2) อัตรากำไรขั้นต้นโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 8.2% ใน 9M65 เป็น 8.5% เชื่อว่าได้แรงหนุนจากสัดส่วนการขายแก่ลูกค้าองค์กรที่เพิ่มจาก และการที่เพิ่มพื้นที่สำหรับวางจำหน่ายสินค้าที่สร้างอัตรากำไรสูง อย่างสมาร์ทโฟนภายใต้แบรนด์ “ไอโฟน” ตั้งแต่ต้นปี 2566

3) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขาย เพิ่มเป็น 6.8% เมื่อเทียบกับงวด 9M65 ซึ่งอยู่ที่ 6.5% จากยอดขายที่ชะลอตัวลง และการทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย

4) ดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 25% YoY เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น

แนวโน้มกำไร 4Q66 ได้แรงหนุนจากผลบวกฤดูกาล

แม้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่ากำไรในช่วง 4Q66 น่าจะดีกว่าไตรมาสอื่นๆ เพราะคาดจะได้แรงหนุนจากผลบวกของฤดูกาล ที่โดยปกติแล้วในไตรมาส 4 ของทุกปี เป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปี ที่ผู้บริโภคมักมีการจับจ่ายสูงกว่าช่วงอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคอาจชะลอการตัดสินใจซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ ราคาสูงออกไป เป็นช่วง 1Q67 แทน เนื่องจากคาดหวังมาตรการของภาครัฐ ที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายอย่าง Easy E-receipt ที่จะมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 – 15 ก.พ. 67 ดังนั้นจึงคาดหวังการเติบโต QoQ ที่ยังไม่สูงนักสำหรับ 4Q66

มีโอกาสในการเติบโตดีขึ้นในปี 2567 เป็นต้นไป

ADVICE ยังมีศักยภาพการเติบโตในอนาคตได้จากปัจจัยสนับสนุน ดังต่อไปนี้

  • สินค้าไอที ซึ่งเป็นสินค้าหลัก มีคาดการณ์การเติบโตสำหรับค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ไอทีทั่วโลกในปี 2566 – 2567 ด้วยอัตรา -10% และ +4.8% ตามลำดับ จึงคาดว่าการเติบโตของสินค้าไอทีในไทย รวมทั้งสินค้าของ ADVICE จะกลับมาโตอีกครั้งในปี 2567 สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมตลาดโลก
  • คาดได้ผลบวกจากนโยบายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2567 เช่น การปรับขึ้นค่าแรง และนโยบาย Easy E-receipt ในช่วง 1Q67 รวมทั้งกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในช่วงกลางปี
  • สาขาที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในไทยที่เป็นตลาดหลัก จะช่วยส่งเสริมให้ลูกค้าเป้าหมายเข้าถึงสินค้าของบริษัทได้มากขึ้น ซึ่งบริษัทมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 20 แห่ง ในช่วงปี 2566 – 2569 เพื่อรองรับการเติบโต
  • การรุกขายสินค้าแบรนด์ “Apple” มากขึ้นตั้งแต่ปี 2566 และเตรียมเจรจาเป็นผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยหากได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้วบริษัทจะเปิดร้าน iStudio by Advice เพื่อจำหน่ายสินค้าได้อย่างเต็มรูปแบบ
  • ช่องทางออนไลน์ซึ่งมีต้นทุนต่ำ ยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก เพราะคนไทยมีการใช้งานอินเตอร์เน็ตสูง และมีพฤติกรรมที่จะจับจ่ายซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับยอดผู้เข้าชมสินค้าของบริษัทผ่านเว็บไซต์ และแพลตฟอร์มออนไลน์ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการซื้อสินค้าของบริษัทเพิ่มขึ้นได้
  • นโยบายของบริษัทที่จะขยายฐานกลุ่มลูกค้าองค์กร ซึ่งให้มาร์จิ้นสูงกว่าการขายหน้าร้าน และการขายส่ง

ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในปี 2567

คาดกำไรสุทธิปี 2566 – 2567 โตเฉลี่ย 14%

คาดกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 191 ล้านบาท (-7% YoY) แต่คาดจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งราว 40% YoY เป็น 266 ล้านบาท ในปี 2567 โดยมีสมมติฐานที่สำคัญดังนี้

ปี 2566

คาดกำไรสุทธิยังชะลอตัวลงจากปีก่อน เพราะคาดยอดขายจะชะลอลงเล็กน้อยเหลือ 1.4 หมื่นล้านบาท (-2% YoY) จากยอดขายที่ลดลงของทั้งการขายปลีก และการขายส่ง ตามภาพรวมของการใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ไอทีทั่วโลก บวกกับเศรษฐกิจไทยที่ยังโตช้า นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายขายและบริหาร/ยอดขาย ที่สูงขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขาย รวมทั้งมีดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น ดังนั้นแม้อัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจาก 8.5% ในปี 2565 เป็น 8.6% ตามสัดส่วนการขายแก่ลูกค้าองค์กร และยอดขายสินค้าอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่มากขึ้น แต่มาร์จิ้นที่เพิ่มนี้ยังไม่มากพอจะชดเชยการตกต่ำของยอดขายรวม และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นได้

ปี 2567

คาดกำไรสุทธิจะโตแรง จากทุกปัจจัยบวกที่จะเข้ามาสนับสนุน คือ

  • คาดยอดขายจะเติบโตขึ้นได้เป็น 1.6 หมื่นล้านบาท (+16% YoY) เพราะคาดได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่คาดจะดีขึ้น บวกกับภาครัฐมีแผนกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงต้นปี 2567 จากมาตรการ Easy E-receipt ในส่วนของบริษัทเองก็มีแผนการเปิดสาขาเพิ่มในปี 2566 – 2567 ราว 10 แห่ง
  • อัตรากำไรขั้นต้นจะเพิ่มจาก 8.6% ในปี 2566 เป็น 8.7% ในปี 2567 เพราะคาดสัดส่วนการขายลูกค้าองค์กร และการขายสินค้าไอโฟน ที่มีมาร์จิ้นสูงยังเพิ่มขึ้นได้ต่ออีก
  • คาดดอกเบี้ยจ่ายจะลดลง 51% YoY หลังนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนบางส่วนไปใช้ชำระหนี้สถาบันการเงิน

ฐานะการเงินจะเข้มแข็งขึ้นหลัง IPO

ด้านฐานะการเงินของบริษัท ณ สิ้นงวด 3Q66 มีสินทรัพย์รวม 2.7 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ 51% ของสินทรัพย์รวม เป็นสินทรัพย์หมุนเวียน คือ สินค้าคงเหลือ รองลงไปเป็นที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ และลูกหนี้การค้า ที่มีสัดส่วนราว 17% และ 10% ของสินทรัพย์รวมตามลำดับ ขณะที่มีหนี้สิน 2.4 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ 75% เป็นเจ้าหนี้การค้า และอีก 14% เป็นหนี้เงินกู้ยืม แต่มีส่วนของทุนเพียง 312 ล้านบาท ทำให้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ยังสูงราว 7.53 เท่า ซึ่งยังเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (Covenant) ว่าจะต้องมี D/E ratio ที่ไม่เกิน 5 เท่า

อย่างไรก็ตามคาดว่าฐานะการเงินของบริษัทจะเข้มแข็งขึ้น หลังจากการขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ และนำเงินบางส่วนไปชำระหนี้เงินกู้ รวมทั้งฐานกำไรที่สูงขึ้น จึงคาดว่าจะช่วยให้ส่วนของทุนปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 พันล้านบาท และจะทำให้ D/E ratio ลดเหลือ 1.49 เท่า ซึ่งอยู่ในกรอบที่ไม่เกิน 5 เท่าได้ ในปี 2567

สำหรับการจ่ายเงินปันผล บริษัทนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ 40% ของกำไรสุทธิในแต่ละปี ดังนั้นหากประเมินอย่างอนุรักษ์นิยม เราจึงกำหนดให้มีการจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2567 ที่ 40% ของกำไรสุทธิ เท่ากับนโยบายปันผลของบริษัท จึงคาดหวังเงินปันผลจากการดำเนินงานปี 2567 ที่ 0.17 บาท ทั้งนี้คาดบริษัทจะจ่ายปันผลสำหรับผลประกอบการงวด 4Q66 ราว 0.02 บาท/หุ้น (จ่ายไปแล้วสำหรับงวด 9M66 ที่ 0.28 บาท)

ประเมินมูลค่าหุ้นปี 2567 ที่ 7.05 บาท

สำหรับการประเมินมูลค่าหุ้น ADVICE ฝ่ายวิจัยได้ประเมินราคาเป้าหมายปี 2567 ของ ADVICE ไว้ที่ 7.05 บาท (อิง PER ที่ 16.4 เท่า ซึ่งมีส่วนลดเกือบ 40% จากค่าเฉลี่ย PER ของหุ้นกลุ่มพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันซื้อขายอยู่ที่ราว 27 เท่า)

ทั้งนี้หากเทียบกับบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ทำธุรกิจคล้ายกันกับ ADVICE พบว่า มีอยู่เพียง 2 บริษัท คือ บมจ.คอมเซเว่น (COM7) และ บมจ. ไอที ซิตี้ (IT) ทั้งนี้ IT ไม่มีข้อมูลคาดการณ์ทางการเงินสำหรับปี 2566 – 2567 ส่วน COM7 ซึ่งเป็นหุ้นที่ฝ่ายวิจัยศึกษาอยู่ โดยหากอ้างอิงข้อมูลจากประมาณการของฝ่ายวิจัยพบว่ามีคาดการณ์ PER ในปี 2567 ของ COM7 อยู่ที่ราว 16.8 เท่า แต่มีคาดการณ์การเติบโตของกำไรที่ 12% ซึ่งต่ำกว่ากำไรของ ADVICE ที่คาดว่าในช่วงเดียวกันจะโตถึง 40%

ปัจจัยเสี่ยง

เนื่องจาก ADVICE เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าไอทีเป็นหลัก เราจึงมองว่าบริษัทมีความเสี่ยงที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจดังนี้

ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงผู้จัดจำหน่ายสินค้ารายใหญ่ : ในช่วงปี 2563-9M66 บริษัทซื้อสินค้าจากผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ 3 ราย ซึ่งมีสัดส่วนรวมกัน 44%-51% ของยอดซื้อทั้งหมด ดังนั้นหากสูญเสียคู่ค้าดังกล่าว หรือหากมีการปรับเงื่อนไขทางการค้าที่สำคัญ อาจส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความสัมพันธ์กับคู่ค้าที่ดีมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมียอดซื้อสินค้าที่สูงเป็นอันดับต้นๆ และถือเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่สำคัญของกลุ่มคู่ค้าเหล่านั้น จึงเชื่อว่าจะรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจและจัดซื้อสินค้าได้ต่อเนื่อง

ความเสี่ยงจากความล้าสมัยของสินค้า: เนื่องจากสินค้าไอที มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอยู่เสมอ และลดความนิยมในสินค้ารุ่นเก่า ส่งผลให้สินค้าคงเหลือของบริษัทอาจล้าสมัย และไม่สามารถจำหน่ายสินค้าดังกล่าวได้ หรือขาดทุนจากการจำหน่ายสินค้าออกไปในภายหลัง อย่างไรก็ตามบริษัทมีมาตรการลดความเสี่ยงนี้ลง ด้วยการบริหารสินค้าคงคลังอย่างรัดกุม โดยการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการช่วยวางแผน และบริหารจัดการสินค้าคงเหลือ รวมถึงจัดทำรายงานเพื่อตรวจสอบสินค้าคงคลังอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

ความเสี่ยงจากการแข่งขันทางธุรกิจ : ธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอทีถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง รวมถึงอาจมีการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ๆได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัท อย่างไรก็ตามธุรกิจนี้มีข้อจำกัดด้านทำเล ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าสู่กลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีไม่มาก อีกทั้งบริษัทยังมีข้อได้เปรียบด้านสาขาและร้านค้าแฟรนไชส์ที่ครอบคลุม 75 จังหวัดทั่วประเทศ มีเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซสายไอทีอันดับ 1 ของประเทศ รวมถึงมีการให้บริการหลังการขายแบบครบวงจร ทำให้สามารถยังเติบโตในธุรกิจนี้ได้

ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน : ADVICE จำเป็นต้องดำรงอัตราส่วน และเงื่อนไขบางประการตามที่สถาบันการเงินกำหนด (ต้องมี D/E ไม่เกิน 5 เท่า) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทยังไม่สามารถดำรงไว้ได้ ส่งผลให้อาจถูกระงับใช้วงเงินสินเชื่อ หรือถูกเรียกคืนเงินต้นทั้งหมด อย่างไรก็ตามบริษัทได้รับการผ่อนผันเงื่อนไขบางประการจากสถาบันการเงินแล้ว และภายหลังจากการขายหุ้น IPO จะช่วยให้อัตราส่วนดังกล่าวปรับปรุงดีขึ้น และอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

- Advertisement -