GPSC เดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง พร้อมวางเป้าหมายปี 67 เพิ่มพอร์ตนวัตกรรมพลังงานแห่งอนาคต รองรับความต้องการลูกค้า
GPSC แจ้งผลกำไรสุทธิปี 2566 รวมทั้งสิ้น 3,694 ล้านบาท จากการสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการการผลิต ควบคู่กับการดำเนินงานด้าน Synergy และควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน พร้อมมุ่งแสวงหาโอกาสลงทุนขยายพอร์ตนวัตกรรมพลังงานทั้งในและต่างประเทศ เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน สอดรับกับทิศทางพลังงานของโลก
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 3,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,803 ล้านบาท หรือ 314% จากปีก่อนหน้า จากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการผลิต เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตที่มุ่งเน้นการเกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) อยู่ในระดับที่ดี และผลการดำเนินงานของกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยค่าไฟฟ้าที่สามารถสะท้อนต้นทุนราคาพลังงานได้ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า ทำให้ margin จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ ประกอบกับในปีนี้ บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นการควบคุมดูแลค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำลง (OPEX Saving Program) และจากความมุ่งมั่นในการขยายการลงทุนส่งผลให้บริษัทฯ สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจ Solar platform จาก บริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (AEPL) ในประเทศอินเดีย มากกว่า 300 ล้านบาทจากโครงการที่เปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ในปี 2566 AEPL สามารถชนะประมูลกำลังการผลิตใหม่ได้มากกว่า 5 กิกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญต่อแผนการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าภายในประเทศซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตหรือ Optimization และการบริหารจัดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าและจัดลำดับการผลิตที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเป็นอันดับแรกหรือ merit order เพื่อบริหารต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และยังมุ่งเน้นการดำเนินการด้าน Synergy อย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) มีรายได้รวม 18,319 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 478 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 209% โดยมีปัจจัยหลักมาจากค่าไฟฟ้าที่สะท้อนต้นทุนพลังงานได้ดีขึ้น ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้ากับลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการรับรู้รายได้บางส่วนจากเงินชดเชยค่าประกันภัยของโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน และโรงไฟฟ้าศรีราชา ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 (QoQ) กำไรสุทธิปรับตัวลดลง 73% สาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานในส่วนของ SPP ลดลง ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำรวมลดลงจากลูกค้าอุตสาหกรรมบางส่วนหยุดซ่อมบำรุงในช่วงไตรมาส 4/2566 ขณะที่เงินปันผลและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลงตามปัจจัยทางด้านฤดูกาล อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจพลังงานลมนอกชายฝั่ง Changfang และ Xidao (CFXD) ไต้หวัน เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่สูงขึ้นเต็มไตรมาสของกังหันลมทั้งหมด 12 ต้น
นายวรวัฒน์กล่าวว่า GPSC ยังคงแสวงหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับทิศทางของการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานโลก สะท้อนความสำเร็จจากการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ ที่ได้มีการลงทุนตามแผนการขยายกำลังการผลิตร่วมกับกลุ่มอวาด้า (Avaada Group) ในประเทศอินเดีย ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถขยายสัดส่วนกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้เร็วกว่าเป้าหมาย ทั้งนี้ในปี 2566 ที่ผ่านมา AEPL ชนะการประมูลเสนอขายไฟฟ้ารวมจำนวน 5,161 เมกะวัตต์ ทำให้ปัจจุบัน AEPL มีกำลังการผลิตตามแผนงานทั้งสิ้นสูงถึง 9,525 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 3,990 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตส่วนที่เหลือมีแผนการดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2567-2569
สำหรับความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน GPSC ได้ร่วมเปิดโรงงานและผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ของ บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) ถือหุ้นร่วมกับ Gotion Singapore Pte. Ltd. (Gotion) ณ สวนอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค 2 อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบและจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงสู่ตลาด และพร้อมขยายกำลังการผลิตเป็น 8 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปีในอนาคต ซี่งสอดรับกับกลยุทธ์ในการสนับสนุนธุรกิจแบตเตอรี่ของบริษัทฯ และกลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ของกลุ่ม ปตท.
ทั้งนี้ ในปี 2567 ยังคงต้องจับตามองปัจจัยความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อาจส่งผลต่อทิศทางราคาพลังงานโลก อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจนวัตกรรมอื่นๆ ทั้งในประเทศและประเทศเป้าหมาย โดยมุ่งแสวงหาโอกาสและการต่อยอดในธุรกิจแบตเตอรี่ (Battery pack and cell) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) รวมทั้ง ระบบปริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) เพื่อสอดรับกับกลยุทธ์ของบริษัทในการเติบโตอย่างยั่งยืน