บล.ฟินันเซีย ไซรัส: 

CH.KARNCHANG (CK TB)

คาดกำไร 4Q23 โต y-y ภาพปี 2024 ดูดีขึ้น

  • ประเมินกำไร 4Q23 ที่ 150 ล้านบาท +33% y-y หลักๆจากความคืบหน้าโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง รวมถึงส่วนแบ่งกำไร BEM, CKP เพิ่ม แต่ -77% q-q จากบริษัทลูก
  • ภาครัฐผลักดันงานประมูลมากขึ้นในปีนี้ อาทิ ทางด่วน, รถไฟฟ้าสีแดง, รถไฟทางคู่
  • คงประมาณการกำไรปี 2024 +25% y-y คงราคาเหมาะสม 26 บาท ยังแนะนำซื้อ

คาดกำไร 4Q23 เร่งขึ้น y-y แต่ลดลง q-q จากบริษัทลูก

เราประเมินกำไรสุทธิ 4Q23 ที่ 150 ล้านบาท (-77% q-q, +33% y-y) โดยการลดลง q-q มีสาเหตุจากไม่มีเงินปันผลรับจาก TTW รวมถึงการปรับลงของกำไร BEM และ CKP อย่างไรก็ดี ผลประกอบการที่เติบโต y-y หนุนจากรายได้ก่อสร้างคาด +3% q-q, +135% y-y ที่ 9.2 พันล้านบาท หลัก ๆ จากความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง, รถไฟทางคู่เด่นชัยและรถไฟฟ้าม่วงใต้ รวมถึงส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วมคาดที่ 407 ล้านบาท +69% y-y แต่ -32% q-q ตามปัจจัยฤดูกาลของ BEM และ CKP อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นคาดปรับลงเป็น 6.5% เทียบกับ 7.4%-7.7% ใน 3Q23-4Q22 ตามการรับรู้งานโรงไฟฟ้าหลวงพระบางมากขึ้น และ SG&A สูงขึ้นจากโบนัสพนักงาน ทำให้คาดกำไรสุทธิปี 2023 จบที่ 1.5 พันล้านบาท (+35% y-y) ตามประมาณการของเรา

รับปัจจัยหนุนจากงานในมือระดับสูง และการเติบโตบริษัทลูก

Backlog ณ สิ้นปี 2023 คาดที่ 1.3 แสนล้านบาท เทียบเท่ารายได้ 3 ปี โดยสัดส่วนหลักมาจากโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง, รถไฟฟ้าม่วงใต้ และรถไฟทางคู่เด่นชัย เราคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2024 ที่ 1.86 พันล้านบาท (+25% y-y) ตามรายได้คาดเร่งขึ้นเป็น 4 หมื่นล้านบาท (+13% y-y) บวกกับส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วม +16% y-y จาก BEM ที่ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงการแนวรถไฟฟ้า และ CKP หลัง El Nino ผ่อนคลายลง ส่วนประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คาดกระทบจำกัด เนื่องจาก CK มีสัดส่วน Sub-contract 60-70% ของต้นทุน และจ่ายค่าแรงสูงกว่าขั้นต่ำ

ภาครัฐเดินหน้าผลักดันการลงทุนใหม่ เปิดโอกาสรับงานเพิ่ม

แนวโน้มภาครัฐจะผลักดันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นในปี 2024 โดยโครงการที่มีโอกาสเปิดประมูลคือ 1) ทางด่วนจตุโชติ-ลำลูกกา งานโยธา 1.9 หมื่นล้านบาท คาดขายซอง TOR เดือนเม.ย. 2) รถไฟฟ้าสายสีแดงต่อขยาย 3 เส้นทาง วงเงินรวม 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งรอเสนอเข้าครม.พิจารณา 3) รถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูลใน 2Q24 นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ CK มีศักยภาพรับงานอย่างโครงการ Double Deck ซึ่ง BEM มีโอกาสรับสัมปทาน คาดชัดเจนปลายปีนี้ รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีส้มอยู่ระหว่างรอคำตัดสินศาลปกครองสูงสุดใน 2Q24

คงราคาเหมาะสม 26 บาท ยังแนะนำซื้อ ชอบสุดในกลุ่มรับเหมาฯ

เราคงราคาเหมาะสม 26 บาท (อิง SOTP) คงคำแนะนำซื้อ จากภาพรวมดูดีขึ้นทั้งธุรกิจรับเหมาฯ หนุนด้วยการเติบโตเงินลงทุนบริษัทลูก โดยความคืบหน้าของงานประมูลใหม่จะเป็น Catalyst ต่อราคาหุ้น โดยระยะสั้นติดตามทางด่วนจตุโชติ-ลำลูกกาในเดือนเม.ย.

Investment thesis

ช่วงปี 2019-2022 ผลประกอบการของ CK อ่อนแอ โดยกำไรปกติอยู่ระดับต่ำกว่า 1 พันล้านบาท สาเหตุจากผลขาดทุนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจากงานในมืออยู่ระดับต่ำ นอกจากนี้ ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลงจาก BEM เผชิญสถานการณ์ Covid

อย่างไรก็ตาม เรามีมุมมองบวกต่อผลประกอบการที่เป็นขาขึ้นตั้งแต่ปี 2023 ขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของธุรกิจรับเหมา เนื่องจากรับงานใหญ่เข้ามาเติม อาทิ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รถไฟทางคู่ และโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง อีกทั้ง ยังหนุนด้วยการเติบโตของการลงทุนในบริษัทร่วม โดยเฉพาะ BEM ที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวทั้งปริมาณรถบนทางด่วนและผู้โดยสารในรถไฟฟ้า

Company profile

CK ก่อตั้งในปี 1972 ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั่วไป โดยรับงานจากหน่วยงานราชการรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน มีลักษณะกิจการเป็นผู้รับเหมาโดยตรง Main Contractor) ผู้รับเหมาช่วง (Sub Contractor) หรือ Joint Venture หรือ Consortium นอกจากนี้ เป็นผู้ลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้น พื้นฐานในประเทศอย่างครบวงจร ปัจจุบัน CK ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ประกอบด้วย ระบบขนส่งมวลชน ผ่านบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), ระบบน้ำ ผ่านบมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) และพลังงานผ่าน บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP)

www.ch-karnchang.co.th

Catalysts

ปัจจัยหนุนการเติบโต คือ การรับงานใหม่เข้ามาเติม โดยความคืบหน้าของการผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะเป็นประเด็นบวกสำคัญ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่ง BEM อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญา รวมถึงการเติบโตของเงินลงทุนในบริษัทร่วม

Risks to our call

ความเสี่ยงต่อประมาณการ 1) ความล่าช้าของการเซ็นสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม 2) ความล่าช้าของการเปิดประมูลงานใหม่ และงานใหม่น้อยกว่าคาด 3) ความไม่แน่นอนทางการเมือง 4) ความคืบหน้าการก่อสร้างน้อยกว่าคาด และปัญหา Cost overrun 5) ต้นทุนวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น, การขาดแคลนแรงงานและการปรับขึ้นค่าแรง 6) ผลประกอบการบริษัทร่วม (BEM, CKP) ต่ำกว่าคาด

- Advertisement -