บล.เอเซีย พลัส:
DCC ประคองตัวรอตลาดฟื้น
งวด 4Q66 กำไรสุทธิ 269 ล้านบาท ลดลง 22%YoY ตามสภาพตลาดที่ยังไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะกับลูกค้าตลาดกลาง-ล่าง ที่มีกำลังซื้อลดลง ทำให้การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดได้ผลค่อนข้างน้อย แม้ว่าไตรมาสนี้จะมีแรงกดดันด้านต้นทุนลดลงบ้าง แต่ผลประกอบการโดยรวมก็ยังหดตัวลงตามยอดขายที่ลดลง
แนวโน้มธุรกิจปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา คาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเป็นตัวขับเคลื่อน ขณะที่แผนการลดต้นทุนยังดำเนินการต่อเนื่องทั้งการติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อลดค่าไฟฟ้า และการบริหาร Fleet รถขนส่ง รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ให้น้ำหนักการลงทุน Neutral ประเมินราคาเหมาะสมวิธี DDM ได้ที่ 2.14 บาท มี Upside 10.88%
งวด 4Q66 กำไรสุทธิ 269 ล้านบาท ลดลง 22%YoY
งวด 4Q66 กำไรสุทธิ 269 ล้านบาท (-9%QoQ, -22%YoY) ผลประกอบการที่ปรับตัวลงจากปีก่อนมาจากยอดขายที่ลดลงทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางผ่านร้าน outlet ของ DCC และร้านค้า Agent ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นเกษตรกรในต่างจังหวัดที่มีกำลังซื้อลดลง รวมไปถึงช่องทางการส่งออกที่ได้รับปัจจัยลบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาร์ ส่งผลให้งวด 4Q66 DCC มียอดขายลดลง 10%YoY อยู่ที่ 1,737 ล้านบาท โดยมีปริมาณการขายกระเบื้องปูพื้น-บุผนัง 10.3 ล้าน ตรม. (-6%QoQ, -9%YoY) และมีราคาขายเฉลี่ยทรงตัวเทียบกับ 4Q65 และ 3Q66 อยู่ที่ 155 บาท/ตรม. ภายใต้ภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย การจัดโปรโมชั่นลดราคาไม่ได้ส่งผลบวกต่อปริมาณการขายมากนัก ทำให้ DCC คงราคาสินค้าไว้ใกล้เคียงเดิม สำหรับอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยทำได้ 38.84% ลดลงจากงวด 3Q66 ที่ 38.95% และงวด 4Q65 ที่ทำได้ 39.84% แม้ว่าค่าไฟฟ้าซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของต้นทุนการผลิตจะปรับตัวลงเกือบ 15%YoY แต่ก็ถูกหักล้างจากการใช้กำลังการผลิตในระดับต่ำเพียง 60-65% ทำให้ไม่เกิดความประหยัดต่อขนาดจากการผลิต และส่งผลต่อเนื่องไปถึงอัตราส่วน SG&A/Sale ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 19.50% ในงวด 4Q65 และ 19.29% ในงวด 3Q66 มาอยู่ที่ 19.92% แม้จะมีค่าขนส่งที่ลดลง หลังรัฐบาลปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลงจากลิตรละ 31.94 บาท เหลือลิตรละ 29.94 บาท ก็ตาม
โดยรวมปี 2566 DCC มีกำไรสุทธิ 1,182.2 ล้านบาท ลดลง 27.5%YoY สำหรับผลประกอบการงวด 4Q66 ที่มีกำไร 0.0294 บาท/หุ้น DCC ประกาศจ่ายเงินปันผลอัตรา 0.012 บาท/หุ้น คิดเป็น Dividend Payout Ratio 40.8% กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 1 เม.ย 67
ประคองตัว รอตลาดฟื้น
แผนธุรกิจในปี 2567 ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญจากเดิม ผู้บริหารยังคงเน้นกลยุทธ์การบริหารงานแบบระมัดระวังภายใต้ภาวะตลาดที่ยังขาดแรงกระตุ้นด้าน Demand ที่ชัดเจน แม้ว่าจะมีความหวังเชิงบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่น่าจะมีออกมามากกว่าปีก่อน รวมไปถึงกาคการท่องเที่ยวในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ฐานรายได้หลักของ DCC ยังคงมาจากลูกค้ากลุ่มกลาง-ล่าง ที่มีรายได้อิงกับภาคการเกษตรเป็นหลัก
แผนงานที่ดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้ คือการปรับเปลี่ยนลวดลายกระเบื้องใหม่ๆ ทดแทนลวดลายเดิมที่ไม่ได้ความนิยม ส่วนการออกสินค้าใหม่จะมีกระเบื้องพอร์ซเลนขนาด 30×60 ซม. ที่นำใช้ได้ทั้งการปูพื้นและบุผนัง ต่อยอดจากกระเบื้องพอร์ซเลนขนาด 60×60 ซม. และ 60×120 ซม. ที่ DCC ได้ผลิตออกสู่ตลาดในปี 2565-2566 โดยการเพิ่มยอดขายกระเบื้องพอร์ซเลน จะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มอัตรากำไรให้กับ DCC เนื่องจากกระเบื้องพอร์ซเลนมีราคาขายสูงกว่ากระเบื้องเซรามิคทั่วไปถึง 2 เท่า และมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่ากระเบื้องเซรามิค 10-15%
ด้านช่องทางการขาย DCC ยังเดินหน้าปรับปรุงสาขาให้มีความทันสมัย และปรับโฉมเป็นศูนย์รวมวัสดุก่อสร้าง รับสินค้าวัสดุก่อสร้างอื่นๆจากพันธมิตรมาวางขายมากขึ้น รวมถึงความพยายามในการเจาะกลุ่มลูกค้าโครงการที่ยังต้องใช้เวลาในการผลักดันสินค้าเข้าโครงการ ด้านต้นทุนการผลิต มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและบุคลากร รวมถึงการบริหารต้นทุนการผลิตในส่วนที่พอทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนค่าขนส่งจากการเข้ามาบริหาร Fleet รถขนส่งเองบางส่วน ซึ่งน่าจะเห็นผลบวกมากขึ้นหากยอดขายฟื้นตัว เพราะจะสามารถวิ่งทำรอบได้มากขึ้น รวมถึงการลดค่าไฟฟ้าด้วยการติดตั้ง Solar Roof บนหลังคาโรงงานและร้านสาขา Outlet
Upside และ Dividend Yield พอประมาณ แนะนำ Neutral
จุดเด่นที่ฝ่ายวิจัยชื่นชอบ DCC คือความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และมีความพยายามในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านราคา การเพิ่มสินค้าให้ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม การปรับปรุงร้านค้า Outlet ให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวมไปถึงแผนงานต่างๆในการลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม การลงทุนซื้อที่ดินก่อสร้างสาขาใหม่ และปรับปรุงหน้าตาร้านค้า OUTLET ให้มีความเหมาะสมกับสินค้ากระเบื้องที่พยายามปรับลุคให้ดูพรีเมียมมากขึ้น ทำให้ DCC ต้องใช้งบลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท/ปี เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ DCC ยังไม่สามารถกลับไปจ่ายเงินปันผลได้ที่ Dividend Payout Ratio สูงเหมือนในอดีต ฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรปี 2567 จะเติบโต 13%YOY อยู่ที่ 1,339 ล้านบาท และประเมินราคาเหมาะสมภายใต้วิธี DDM ได้ที่ 2.14 บาท เทียบเท่า PER 14.58 เท่า มี Upside 10.88% และคาดการณ์ Dividend Yield 3.42% ถือเป็นระดับปันผลกลางๆที่ไม่ได้โดดเด่นมากเหมือนในอดีตที่ DCC เคยให้ Dividend Yield สูงกว่า 5% มาโดยตลอด ให้น้ำหนักการลงทุน NEUTRAL
การดำเนินการด้าน ESG ของ DCC
DCC เป็นผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ กระเบื้องเซรามิก ปูพื้น บุผนัง ที่มีสาขาเป็นช่องทางการจำหน่ายกว่า 201 สาขาทั่วประเทศ ได้มีการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย ในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจในทางตรงและทางอ้อม ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การประชุม และช่องทางอื่นๆ เพื่อให้ทราบถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียและมีแผนการปฏิบัติในแต่ละด้านเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
มิติด้านสิ่งแวดล้อม : DCC มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดการปล่อยมลภาวะสู่ภายนอก อาทิ
1. ติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา (SOLAR ROOFTOP) คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ภายในปี 2565 ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 1,700 ตันคาร์บานไดอ๊อกไซด์เทียบเท่า (TON CO2EQ) ต่อปี
2. ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานไฟฟ้าทุกกระบวนการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานไฟฟ้า แล้วนำมาวิเคราะห์ในรูปแบบดัชนีการใช้ก๊าซต่อหน่วยผลผลิต และดัชนีการใช้พลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยผลผลิต
3. ออกแบบระบบการผลิตเป็นแบบระบบการใช้น้ำแบบหมุนเวียนภายใน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีการปล่อยน้ำเสียทิ้งออกนอกโรงงาน
มิติด้านสังคม : ให้ความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพสังคมและชุมชน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ไม่จำกัดความแตกต่างทางเพศ หรือความแตกต่างในศาสนา การผลิตอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า จัดสวัสดิการอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงานตามหลักกฎหมาย เน้นการทำงานที่ปลอดภัย และมีสุขอนามัยในสถานที่ทำงาน ทั้งโรงงาน และสาขา อย่างเหมาะสมสนับสนุนการจ้างงานผู้พิการในองค์กร และได้นำส่งเงินสมทบตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ DCC ให้การสนับสนุนกระเบื้องปูพื้นบุผนังให้กับชมรมค่ายอาสาของนิสิต นักศึกษา ตามสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 ภายใต้โครงการชื่อ “ไดนาสตี้ ร่วมจิตอาสา พัฒนาชนบท”
มิติด้านธรรมาภิบาล : มีนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับคณะกรรมการ 8 ข้อหลัก ตามแนวทาง CG CODE 2017 อาทิ การแต่งตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์หลากหลายเพียงพอที่จะช่วยให้การทำหน้าที่โดยรวมของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ การมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย ครอบคลุมการดูแลผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นโดยเท่าเทียวกัน การส่งเสริมการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้น การ
ป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย การชดเชยกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิ การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน มาตรการดำเนินการกับผู้ที่กระทำไม่เป็นไปตามนโยบายและแนวปฎิบัติ